ข่าว

ฝ่ายค้านประเมิน 2 แนวทางซัดงบ "เทคสอง" เน้นเนื้อๆ-กระชับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันจันทร์ที่ 10 ก.พ. 2563

 

“ฝ่ายค้าน” ประเมิน 2 แนวทางซัดงบ “เทคสอง” เน้นเนื้อๆ-กระชับ ยังไม่เคาะถก พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 63 รอบใหม่กี่วัน จ่อยื่นป.ป.ช.เอาผิดคนเสียบบัตรแทนกันฐานทุจริตต่อหน้าที่ ด้านประธานวิปรัฐ คาดใช้เวลา 2-3 วันก็น่าพอ “หมอระวี” วอนรวมพลังผลักดันโดยเร็ว ส่วน “วันชัย” ชี้เรื่องเร่งด่วน คาด ส.ว.ส่อถกเล็กน้อยแล้วลงมติ “ป.ป.ช.” เร่งสอบข้อมูล ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ประมวลผลข้อมูล ไม่ชัดหยิบเรื่องมาพิจารณาเองหรือไม่

 

 

 

                                     ความคืบหน้ากรณีพรรคพลังประชารัฐขอความร่วมมือฝ่ายค้านให้ช่วยเร่งผ่านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยเร็ว ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ไปลงมติวาระ 2-3 ใหม่ เนื่องจากมีปัญหาเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ขณะที่อดีต กมธ.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 เตรียมเสนอให้เริ่มต้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ตั้งแต่วาระ 1 เพราะเกรงว่าอาจจะถูกร้องว่ามีการกดบัตรในวาระ 1 ด้วย

 

 

                                     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านยังกำหนดไม่ได้ว่าจะใช้เวลาอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 นานแค่ไหน แม้จะเข้าใจดีถึงความเร่งด่วนในการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ต้องดูเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนี้ประกอบด้วย เพราะหลายคนเห็นว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ขาดเรื่องกรอบเวลาว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พิจารณาเสร็จภายใน 105 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ทั้งที่มีการยื่นประเด็นดังกล่าวไปให้ตีความ บอกเพียงให้ไปโหวตลงมติวาระ 2-3 ใหม่เท่านั้น ดังนั้นฝ่ายค้านจึงต้องมากำหนดท่าทีแนวทางการอภิปรายกันก่อนในการประชุมวิปฝ่ายค้านวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จึงจะสรุปได้ว่าจะตัดทอนเนื้อหาการอภิปรายลดลงจากเดิมหรือไม่ ขณะนี้จึงสรุปไม่ได้ว่าจะใช้เวลาอภิปรายงบประมาณปี 2563 รอบใหม่นี้กี่วัน

 

 

จ่อยื่นป.ป.ช.ฟันส.ส.เสียบบัตรแทน

 

                                     “ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าพฤติกรรมเสียบบัตรแทนกันนั้นมีความผิด ซึ่งกรณีนี้ฝ่ายค้านอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐานการกระทำความผิด โดยนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช้กล่าวอ้าง เพื่อนำไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดส.ส.ที่มีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนทุกคนที่ปรากฏเป็นข่าวในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ จะระบุรายชื่อบุคคลที่กระทำความผิดชัดเจน คาดว่าจะไปยื่นต่อป.ป.ช.ได้เร็วๆ นี้” นพ.ชลน่านกล่าวถึงการเอาผิดส.ส.ที่เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

 

                                     ส่วนเรื่องการแบ่งหน้าที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรีนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ได้มีการวางตัวผู้อภิปรายและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไว้บ้างแล้ว จะให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้ปิดการอภิปราย และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เป็นผู้กล่าวปิดการอภิปราย โดยใช้เวลาตามความเหมาะสม ส่วนหากพรรคอนาคตใหม่ถูกวินิจฉัยยุบพรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ คงไม่มีผลกระทบอะไรมากต่อการอภิปราย เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะเตรียมบุคคลมาอภิปรายแทน ส.ส. ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคและต้องพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งคงมาทดแทนกันได้ เพราะเนื้อหาสาระได้เตรียมไว้หมดแล้ว เพียงแต่เทคนิคลีลาการอภิปรายอาจจะขาดอรรถรสไปบ้าง แต่ไม่กระทบอะไรมาก เพราะเราเน้นเนื้อหาการอภิรายเป็นหลัก

 

 

ฝ่ายค้านประเมิน2แนวทางถกงบรอบ2

 

                                     รายงานข่าวข่าวแจ้งว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพียงแต่ให้กลับไปพิจารณารายมาตราในวาระที่ 2 และเห็นชอบในวาระที่ 3 ใหม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลและสภามีความกังวลพอสมควรถึงรูปแบบการอภิปรายว่าต้องดำเนินการอย่างไร ในเรื่องนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้มีดำริออกมาเบื้องต้นแล้วว่าจะต้องเป็นการอภิปรายเหมือนขั้นตอนตามปกติ คือให้ ส.ส.และกมธ.ที่สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายอย่างเต็มที่ เว้นแต่วิปรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีข้อตกลงลดจำนวนผู้อภิปรายเพื่อประหยัดเวลาของสภากันเอง

 

 

                                     แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคฝ่ายค้านระบุว่า แนวทางของประธานสภาเท่ากับว่าเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายรัฐบาลได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเสมือนหนึ่งเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเฉพาะเวลานี้รัฐบาลเผชิญกับกระแสกดดันรอบด้านจากการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดนั้นเป็นหนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านใช้เป็นข้อกล่าวหาเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

 

                                     “แต่อีกด้านหนึ่งของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 รอบสอง อาจจะย้อนเข้าตัวฝ่ายค้านได้เช่นกัน เนื่องจากหากฝ่ายค้านยืนหลักการซัดหนักเหมือนเดิมอีก ย่อมไม่ต่างอะไรกับการฉายหนังซ้ำและกระแสสังคมที่ตั้งหน้าตั้งตารอการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็อาจจะไม่เข้มข้นมากเท่าที่ควร อีกทั้งการดึงเกมยาวแบบบนี้อาจทำให้ถูกมองว่าฝ่ายค้านเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้การทำงบประมาณของประเทศล่าช้าออกไปอีกด้วย” แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว

 

 

 

                                     แหล่งข่าวบอกอีกว่า ทางออกของการอภิปรายงบประมาณ “เทคสอง” นั้น ต้องเน้นเฉพาะมาตราที่สำคัญเท่านั้น เช่น มาตรา 4 ว่าด้วยวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท มาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 518,770,918,000 บาท งบประมาณกระทรวงกลาโหม เป็นต้นเท่านั้น ส่วนมาตราอื่นๆ จะไม่มีการเสนอชื่อผู้อภิปรายเพื่อให้การลงมติเป็นไปอย่างรวดเร็ว และการอภิปรายเพื่อถามหาความรับผิดชอบจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สภาต้องออกแรงพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมจะหารือเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

 

โวฝ่ายค้าน30-40คนจ่อถล่มรัฐบาล

 

                                     ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รายชื่อขณะนี้ยังไม่นิ่ง เนื่องจากส.ส.แต่ละคนในจำนวนหลายพรรครวมกันทั้งหมด 30-40 คน เตรียมข้อมูลมาอย่างดี แต่ข้อมูลบางคนมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นสุดท้ายจึงต้องมาตัดอีกรอบ ซึ่งทางพรรคหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายรัฐบาลคงจะไม่ประท้วงจนทำให้ทุกฝ่ายต้องเสียเวลา เพราะประชาชนให้ความสนใจรอฟังการอภิปรายในครั้งนี้ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายให้ครบถ้วนและพยายามปิดบังข้อเท็จจริงก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความกังขา ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลเอง เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่ารัฐบาลชุดนี้ควรจะอยู่ต่อไปหรือไม่

 

 

                                     “หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นการชี้ชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวปัญหาของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ และมีการบริหารราชการผิดพลาดอย่างไร เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้สนใจแต่เรื่องการตลาดมากกว่าจะมองถึงการปฏิบัติจริงในนโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ ดังจะเห็นได้จากหลากหลายโครงการที่นำมาใช้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้จริง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตยได้มาบริหารประเทศ ก็จะใส่ใจประชาชนทั่วไปมากกว่าคนรวย ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เวลาที่ฝ่ายรัฐบาลให้ก็มีจำกัด แต่ฝ่ายค้านมีหน้าที่อภิปราย ดังนั้นจึงต้องมีการปรับรายชื่อผู้จะอภิปราย” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าว

 

 

 

                                     พร้อมกันนี้ ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ ยังบอกด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่ราคาจำหน่ายหน้ากากอนามัยของหน่วยงานภาครัฐไม่เท่ากัน โดยราคาของ องค์การเภสัชกรรม 1 บาท ทำเนียบรัฐบาล 2.50 บาท และร้านธงฟ้า กระทรวงพาณิชย์ 2.50–5 บาท ก่อให้เกิดกระแสความสงสัยขึ้นกับประชาชนว่าการบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเตรียมตั้งกระทู้สดในการประชุมรัฐสภา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง

 

 

 

 

 

วิปรัฐยันงบรอบสองแค่2-3วันก็พอ

 

                                     นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ว่า ถ้าเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล เพื่อไม่ให้เป็นการสุ่มเสี่ยงก็ควรอภิปรายใหม่ แต่ทั้งนี้ในรายละเอียดจะขอให้ในส่วนของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่อภิปรายแล้วขอให้ละเว้นหรือถ้าประเด็นไหนยังติดใจอยู่ก็คงต้องเปิดโอกาส เพราะถ้าให้มีการอภิปรายในวาระ 2-3 เป็นไปเหมือนเดิมก็คงจะต้องใช้เวลา 4 วัน แต่เชื่อว่าใช้เวลา 2-3 วันก็น่าจะเพียงพอแล้ว

                                     ถามต่อว่าได้มีการประสานขอความร่วมมือกับฝ่ายค้านแล้วหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า ก็มีการประสานกันตลอด แต่ในส่วนรายละเอียดยังไม่อยากให้เป็นข่าว

 

                                     วิปรัฐบาล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องมีการตั้งทีมองครักษ์มาเพิ่มหรือไม่ ว่า มีกลุ่มที่ตั้งและตนเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนวันนี้ขอทำงานเกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ถ้าไม่เสร็จก็จะต่อในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ แล้วส่งต่อให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)พิจารณาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ จากนั้น 4-5 วันก็จะส่งต่อไปยังรัฐบาล เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ทุกอย่างจะเรียบร้อย

 

ปชป.หนุนเร่งถกร่างพ.ร.บ.งบให้เสร็จ

 

                                     นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาตั้งแต่วาระแรก เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ไม่เป็นโมฆะ แต่ให้สภานำร่างกฎหมายมาพิจารณาลงมติใหม่ในวาระ 2 และวาระ 3 ดังนั้นสภาควรปฏิบัติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทุกคนทราบดีว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ล่าช้ามากแล้ว ไม่ควรไปทำอะไรให้ล่าช้าออกไปอีกโดยไม่จำเป็น เพราะทุกภาคส่วนของสังคมกำลังรองบประมาณแผ่นดินมาขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ยิ่งขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจมีภาวะแทรกซ้อนจากหลายปัจจัย ทั้งจากภายในประเทศและผลกระทบจากต่างประเทศ การทำให้เงินงบประมาณมาใช้จ่ายหมุนเวียนมากเท่าไร ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้นเท่านั้น

                                     “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนแล้ว เราควรปฏิบัติไปตามที่ศาลวินิจฉัย ไม่ควรไปคาดการณ์ว่าอาจเกิดเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ ทั้งที่ยังไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นตามที่วิตกกังวลหรือไม่ การที่สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ ด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องน่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนคนไทยอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว” นายองอาจกล่าว

 

วอนสภารวมพลังผลักดันงบ 63

 

                                     นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แบ่งฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ให้ผ่านความเห็นชอบของสภา ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ด้วยการลงมติ วาระ 2 และ 3 จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็จะสามารถส่งไปยังวุฒิสภาให้พิจารณาต่อได้ ตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ไล่ตั้งแต่มาตรา 1 แต่ไม่ต้องอภิปรายอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาวันที่ 8 จนถึงวันที่ 11 มกราคม ถือว่าทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลังแล้ว ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ คือ เร่งให้กฎหมายงบประมาณ ออกมามีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด การเบิกจ่ายของภาครัฐจะได้ไม่สะดุดจนกระทั่งไปฉุดเศรษฐกิจดิ่งเหว

 

                                     “ผมอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจของฝ่ายค้านและรัฐบาลพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนมีความหวังว่าสภาเป็นที่พึ่งพิงได้ ไม่ใช่แค่สถานที่เล่นเกมการเมือง ฟาดฟันกันเท่านั้น” นพ.ระวีกล่าว

 

                                     หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่ ส.ส.ทุกคนต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง ตัวแทนปวงชนชาวไทย ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง อย่าทำผิดซ้ำ จนสร้างปัญหา ต่อกระบวนการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร

 

ส.ว.คาดอภิปรายงบเทคสองเล็กน้อย

 

                                     นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า คาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 จะเข้าสู่การประชุมวุฒิสภาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ตามขั้นตอนของการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาคาดว่า อาจเป็นไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่งระหว่างเปิดโอกาสให้ ส.ว.ได้อภิปรายตามขั้นตอนปกติ หรือ ส.ว.อภิปรายเพียงเล็กน้อย จากนั้นลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ส.ว.จะมีการอภิปรายเพียงเล็กน้อยและดำเนินการลงมติ เนื่องจากที่ผ่านมาวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่แล้ว ประกอบกับเรื่องนี้เป็นเร่งด่วน ส.ว.จึงอาจเล็งเห็นตรงกันว่า ควรดำเนินการให้รวดเร็วที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณานานถึง 20 วันตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการอย่างไร จะมีอภิปรายกี่วันก็ขอให้เป็นเรื่องของสภาเอง

 

ป.ป.ช.เร่งสอบเสียบบัตรแทนกัน

 

                                     นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรม ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ไต่สวนพฤติกรรมการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของส.ส.ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง กำลังให้เจ้าหน้าทึ่พิจารณาอยู่ ส่วน ป.ป.ช.จะหยิบยกกรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.รายอื่นที่นอกเหนือจากที่นายศรีสุวรรณร้องมาขึ้นมาพิจารณาเองหรือไม่นั้น ปกติแล้วป.ป.ช.เก็บข้อมูลกรณีต่างๆ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไว้อยู่แล้ว ถ้าพบประเด็นใดที่เกี่ยวข้องก็มีอำนาจหยิบยกมาพิจารณาเองได้ หากเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัย กรณีการหยิบยกการเสียบบัตรแทนกันของส.ส.รายอื่นที่อยู่นอกเหนือจากที่นายศรีสุวรรณยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ขึ้นมาพิจารณาเองนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่สรุปประมวลผลข้อมูลหลักฐานต่างๆ ก่อน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะหยิบเรื่องมาพิจารณาเองหรือไม่

 

 

“จตุพร”แนะล็อกเป้าบิ๊กตู่คนเดียว

 

                                     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ “ลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์” ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแม้ว่าให้ลงมติใหม่ในวาระที่ 2 กับ 3 ซึ่งมีหลายคนบอกว่าดีใจที่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ แต่อยากถามว่ามันต่างกับโมฆะอย่างไร เพราะขาดวาระ 1 วาระเดียวก็ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะเหมือนกัน เพียงแต่พยายามอธิบายว่าดีใจที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 ไม่เป็นโมฆะ ซึ่งความจริงก็มีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะให้ไปโหวตใหม่ในวาระ 2 หรือ 3 ก็ใช้ไม่ได้ วุฒิสภาก็ต้องนำไปโหวตใหม่เช่นเดียวกันหลังจากสภาผู้แทนราษฎรโหวตในวาระ 2 และ 3

 

 

 

                                     แต่ในทางคดีอาญาเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะยังมีกรณีอดีต ส.ส.สกลนคร ไปกดบัตรแทน ป.ป.ช.ยื่นให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เส้นทางจาก ป.ป.ช. คนก็จับตาดูเช่นเดียวกันว่าเรื่องนี้จะมีความรวดเร็วหรือจะปล่อยให้ล่าช้า จนกระทั่ง ส.ส.ชุดนี้พ้นวาระไปตามปกติ ดังนั้น ไม่ว่าจะโหวตใหม่มาวาระ 2 หรือ 3 นั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเป็นโมฆะ แต่ที่แพ้คือประเทศไทย” นายจตุพรกล่าว

                                     นายจตุพร กล่าวด้วยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้หากตนเป็นฝ่ายค้าน จะยื่นอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว หากตนเป็นรัฐบาลก็จะรีบให้มีการอภิปรายทันที เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านจะต้องตั้งเป้าก่อนว่าจะล้มรัฐบาลหรือจะล้มรัฐมนตรี หากล้มรัฐมนตรีก็ไม่ได้แปลว่าล้มรัฐบาลได้ แต่หากวางเป้าหมายล้มรัฐบาลนั้นก็ต้องเอาที่หัวแถวคนเดียว เพราะหากนายกรัฐมนตรีมีอันเป็นไปนั้นก็ล้มทั้งรัฐบาล

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ