ข่าว

เซ็งเสียบบัตรแทน บิ๊กตู่ ถกคลังปมงบสะดุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวน - วิษณุ ยันผิดชัดเจน พปชร. อ้างเครื่องไม่พอใช้

 

              กลายเป็นปัญหาลุกลามสำหรับปมร้อน ส.ส.พรรครัฐบาลเสียบบัตรแทนกันในการโหวตผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลตกที่นั่งลำบาก ทั้งทางการเมืองที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องจะจบลงอย่างไร ขณะที่อีกมุมหนึ่งปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันยังส่งผลกระทบไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต้องมีอันล่าช้าจากผลพวงดังกล่าวด้วย

 

 

 

บิ๊กตู่ถก “วิษณุ-คลัง” หาทางแก้

              ล่าสุดเมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 23 มกราคม ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลต่อ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ภายหลังเกิดกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ว่า ต้องหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หลายเรื่อง ซึ่งได้หารือกันมาโดยตลอด แต่ต้องดูว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

              “สิ่งที่น่าจะมาถามผมวันนี้ คือจะแก้ไขอย่างไร ผมต้องไปดูและหารือกับกระทรวงการคลัง และคุยกับสำนักงบประมาณว่าจะทำอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องหารือกันอีกครั้งว่าเราจะแก้ไขในส่วนของการบริหารราชการอย่างไร ในส่วนของงบบุคลากร คงไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งมีจำนวนหลายแสนล้านบาท ถ้าทำไม่ได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเราไม่ดีขึ้นมากนัก ต้องหามาตรการอื่นเข้ามาเสริมเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีเงินลงไป มันก็เดือดร้อนกันทั้งหมด แต่ผมก็เคารพในกติกาในกฎหมายทุกฉบับ เรื่องนี้ก็ขอให้ติดตามกันต่อไป” นายกฯ กล่าว

 

 

 

ลั่นไม่ออก พ.ร.ก.เงินกู้แต่กำลังหาทาง

              ผู้สื่อข่าวถามว่าคาดว่างบประมาณจะล่าช้าไปสักเมื่อไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณานานหรือไม่นาน ซึ่งปกติเรื่องแบบนี้ก็นานพอสมควร นานเป็นเดือน ก็ทำให้ล่าช้า งบประมาณก็มีปัญหา สมมุติว่าการใช้จ่ายงบประมาณล่าช้าไปอีก 3 เดือน แล้วจะใช้ทันหรือเปล่าสำหรับเวลาที่เหลือ ก็จะเข้าไปไตรมาสสองอยู่แล้ว ส่วนที่ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้เงินนั้น ไม่สมควร ได้ปรึกษากันแล้วสำหรับเวลานี้

              ส่วนเรื่องนี้ต้องให้ทีมเศรษฐกิจเร่งออกแผนสำรองมารับมือก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พูดไปแล้วว่าต้องทำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประชุมในเรื่องของงบประมาณ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องเลื่อนออกไป เราจะทำตรงไหนได้บ้าง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ ในส่วนที่สามารถใช้ได้ไปพลางๆ ก่อน จะทำอย่างไร ปัญหาวันนี้ที่ติดอยู่เรื่องเดียวคือ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของงบการลงทุน

 

 

 

ถอนหายใจรู้ว่าผิดไม่สมควรทำ

              ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีการมองไปถึงความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่รัฐบาลด้วยกันเองออกมาเปิดเผยข้อมูล ทำให้กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องมาถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่รู้ จะพรรคไหน พรรคไหน ผมไม่รู้” ก่อนที่จะถอนหายใจเสียงดัง

              ส่วนที่ถามว่าปัญหาวันนี้เป็นเรื่องของ ส.ส.ขุดคุ้ยกันเอง นายกฯ ถึงกับถอนหายใจอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า “ก็ต้องไปถามคนฟ้องดู อย่ามาถาม ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย สรุปก็คือว่า ไม่ควรไปกระทำ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ไม่ควรจะกระทำ ถ้ารู้ว่ามันผิดกติกาของสภา เอาอย่างนี้ ตอบแบบนี้ก็แล้วกัน”

 

 

 

ฉุนคอลัมนิสต์ด่า 5 ปีไม่เคยละเมิดสื่อ

              ต่อมาเมื่อเวลา 11.10 น. ที่สำนักงาน สมช. ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยกล่าวชี้แจงว่า ที่มีการกล่าวหาว่าตนไปละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปทำร้ายสื่อ ยืนยันว่าไม่เคยไปทำร้ายใครที่ไหน เหมือนอย่างคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ใหญ่บางฉบับ ด่าตนมา 5 ปี มันจริงหรือไม่

 

“วิษณุ”ชี้ผิดร้ายแรงเสียบบัตรแทนกัน

              ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาระบุถึงปัญหา ส.ส.พรรครัฐบาลเสียบบัตรแทนกันทำให้กระบวนการในการโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่เป็นไร และไม่ว่าอะไร ส่วนที่มีคนวิจารณ์กันในโซเชียลที่บอกว่าได้ระบุถึงการเสียบบัตรเป็นเรื่องเล็กน้อยนั้น ไม่เป็นอะไรนั้น ยืนยันว่า ไม่เคยพูด แต่ตรงกันข้ามได้ระบุว่าเรื่องดังกล่าวให้แยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ 1.มีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ และ 2.ผลของ พ.ร.บ.งบประมาณนั้น จะเกิดอะไรขึ้น

 

 

 

              “กรณีการเสียบบัตร ไม่ว่าเสียบแทนกันหรือไม่ ถือเป็นการเสียหายร้ายแรง และมีความผิด มีโทษด้วย แต่ที่ผมบอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบน่ากลัวรุนแรง ที่ผมใช้คำว่า ไม่ถึงขั้นวิบัตินั้น เป็นเรื่องของผลของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งเมื่อกระบวนการไม่ถูก การจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมีสองอย่าง คือ 1.เนื้อหา และ 2.กระบวนการ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องกระบวนการ เพราะฉะนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงดีที่สุดว่ากระบวนการอย่างนี้ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนที่มีสื่อบางฉบับไปบอกว่าผมพูดเป็นคนละเรื่องนั้นไม่ใช่ เพราะผมไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นการเสียบแทนหรือไม่ แต่ผมยืนยันว่าประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกันมีความผิด มีโทษร้ายแรง เกิดความเสียหายทั้งต่อภาพลักษณ์และสภาด้วย แต่ผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนั้น ไม่น่าจะร้ายแรงแต่อย่างใด ซึ่งผลอาจจะออกมาได้ 2 ถึง 3 ทางด้วยกัน แต่ผมจะยังไม่พูดชี้นำว่ามีทางไหน” นายวิษณุ กล่าว

 

 

 

ไม่ชัวร์ใช้ม.143กับพ.ร.บ.งบได้หรือไม่

              นายวิษณุ กล่าวว่า ในกรณีที่ระบุกันว่ากระบวนการมิชอบจะทำให้กฎหมายมิชอบไปด้วยนั้น ซึ่งเมื่อปี 2556 เป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนปี 2557 เป็นเรื่องของให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เมื่อเป็นกระบวนการมิชอบก็เท่ากับไม่มีมติ เท่ากับอันนั้นก็จบไป ส่วน พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นกฎหมายที่แปลกว่ากฎหมายอื่น จึงได้เกิดมาตรา 143 ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษต่างหาก จึงยังไม่รู้ชัดว่าจะนำมาตรา 143 มาใช้ได้อย่างไร ซึ่งก็ได้เห็นคำร้องของ ส.ส.ที่ยื่นผ่านประธานสภา ถึงศาลรัฐธรรมนูญ โยงถึงมาตรา 143 ด้วยก็ดี เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยในส่วนนี้ไปด้วย

              ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าเป็นไปได้ที่กฎหมายจะไม่ตกไปทั้งฉบับ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปได้หมดทั้ง 1.ตกทั้งฉบับ 2.เสียไปเฉพาะมตินั้น และ 3.เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่จับได้ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน ตรงนี้ก็สุดแท้แต่ หรืออาจจะมีข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ซึ่งก็ไม่ทราบ แต่ก็ไม่ควรพูดชี้นำ

 

 

 

“คลัง” เตรียมรับมืองบช้าไว้แล้ว

              ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐประชุมทุกวันอังคารอยู่แล้ว ฉะนั้นก็จะพูดคุยกันในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งติดตามข่าวอยู่ ส่วนเรื่องนี้จะต้องมีการกำหนดบทลงโทษหรือไม่นั้น ไม่ถึงอย่างนั้น ยังไม่ได้ทำอะไร ขอให้มีความชัดเจนก่อนว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร โดยในทางปฏิบัติ ส.ส.ของพรรคต้องมาหารือกันอยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนมาตรการป้องกันนั้น ทางพรรคก็มีการหารือกันอยู่แล้ว ซึ่งตนยังไม่ได้พูดคุยกับ ส.ส.ที่ปรากฏอยู่ในคลิป

              เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีได้หารือหรือไม่ว่าหากงบประมาณออกมาล่าช้าจะทำอย่างไร นายอุตตม กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมการไว้แล้ว ส่วนจะออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่นั้น ต้องขอดูก่อน เพราะต้องดูฝ่ายกฎหมายด้วย กระทรวงการคลังเป็นเรื่องของเงินที่จะต้องใช้จ่าย และวินัยการคลัง โดยจะต้องนำมาประกอบกัน แต่ฝ่ายกฎหมายก็จะต้องดูในเรื่องของรายละเอียด และสำนักงบประมาณต้องดูกฎหมายวิธีการงบประมาณด้วย เมื่อถามว่านายวิษณุ เตรียมทางออกไว้ให้แล้วใช่หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า “ก็เดี๋ยวดู ผมยังไม่ได้คุยกัน”

 

 

 

บิ๊กป้อมยันไม่กระทบเพราะไม่ได้ทำผิด

              ที่ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม (สส.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคลิป ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสียบบัตรแทนกัน พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่มีพรรคพลังประชารัฐอยู่กัน 4 คน ห้องมันมีที่เสียบไม่พอ มีคนอยู่ 120 มีช่องเสียบแค่ 80 ช่อง เขามายืนอยู่ตรงนั้น ก็ส่งบัตรให้คนนั้นช่วยเสียบให้เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร

              เมื่อถามต่อว่า การเสียบบัตรแทนดังกล่าวจะกระทบต่อ พ.ร.บ.งบประมาณ หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่กระทบ เพราะไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ถ้าทำผิดถึงจะกระทบ เป็นเรื่องของทางสภา ตนไม่เกี่ยว ฟังเขามา

 

 

 

‘ชวน’ย้ำผิดแน่ๆ หลังส.ส.รุมถาม

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาวาระการพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยในช่วงการลงมติรายมาตรา วาระ 2 ในมาตรา 3 ของร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าว ส.ส.หลายคนได้พากันซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสียบบัตรลงคะแนน ที่กำลังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ โดย ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ซักถามว่า สมมุติว่า ถ้า ส.ส.นั่งกันอยู่ 3 คน ในพื้นที่ แต่อีกคนเอื้อมไปเสียบบัตรลงคะแนนไม่ถึง แล้วให้ตนไปกดลงคะแนนแทนให้ ถือว่าผิดหรือไม่ นายชวน ตอบด้วยน้ำเสียงขึงขังทันทีว่า “ผิดแน่ๆ ครับ” ทำให้ ส.ส.หลายคนต่างอึ้งเมื่อได้ยินคำตอบ แล้วหันหน้าไปมองกันเลิ่กลั่ก

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในการลงมติเป็นรายข้อของร่างข้อบังคับประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.หลายคนที่เข้ามาลงคะแนนไม่ทัน ใช้วิธีขานชื่อในการแสดงมติ เพราะไม่กล้าให้เพื่อนเสียบบัตรให้ กระทั่งพิจารณาลงมติวาระ 2 เสร็จสิ้นครบทุกข้อแล้ว ที่ประชุมจึงลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าว

 

 

 

ส.ส.หญิงพปชร.โต้ไม่ได้เสียบบัตร

              ที่รัฐสภา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมด้วย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่ปรากฏภาพข่าวในสื่อมวลชนว่าได้กดบัตรลงคะแนนแทน ส.ส.คนอื่น ในระหว่างที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในวิปรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีแนวทางให้ ส.ส.กดบัตรลงคะแนนแทนกัน ถ้าใครไม่มาก็จะไม่มีการลงคะแนนแทนกัน อย่างไรก็ตาม มีปัญหาในเรื่องของสถานที่ประชุม เนื่องจากช่องลงคะแนนของพรรคมี 68 ช่อง แต่พรรคมี ส.ส. 117 คน ในหนึ่งช่องย่อมมีการเสียบสองสามใบเป็นปกติอยู่แล้ว ส.ส.จะลงมาเสียบกันเอง แต่ภาพที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุบัติเหตุ

              ด้าน น.ส.ภริม กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นไปในลักษณะที่เมื่อได้ลงคะแนนไปแล้ว ปรากฏว่า นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ที่อยู่ในห้องประชุมได้นำบัตรของตัวเองมาให้กดลงคะแนน เพราะไม่สามารถเข้าไปที่นั่งเพื่อกดบัตรคะแนนด้วยตัวเองได้ ซึ่งยืนยันได้ว่าการลงคะแนนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายทวิรัฐ โดยไม่ได้ลงคะแนนไปตามเจตนารมณ์ของตนเองแต่อย่างใด

 

 

 

              ทั้งนี้ ภายหลังที่วิปรัฐบาลได้แถลงข่าวชี้แจง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวในประเด็นเดียวกันว่า ขอเรียกร้องให้ประธานสภาเปลี่ยนระบบการลงคะแนนด้วยการใช้บัตร มาเป็นการแสดงอัตลักษณ์ควบคู่ไปด้วย เช่น การสแกนม่านตาและลายนิ้วมือ ซึ่งคิดว่ายังน่าจะเปลี่ยนแปลงระบบได้ เนื่องจากอาคารรัฐสภาแห่งใหม่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

 

“สมชาย”แนะออกเป็นพ.ร.ก.แก้งบช้า

              นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการเข้าชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังเกิดกรณีส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ว่า ส.ว.จะไม่เข้าชื่อ 1 ใน 10 ของจำนวนส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เนื่องจากส.ส.ได้เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรา พ.ร.ก.ได้ โดยอาจทำได้ 2 แนวทางระหว่าง 1.พ.ร.ก.เพื่อใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 หรือ 2.พ.ร.ก.เพื่อนำเฉพาะเงินลงทุนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีหลังนี้รัฐบาลในอดีตเคยดำเนินการมาแล้ว เช่น พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 และเมื่อรัฐบาลตรา พ.ร.ก.ออกมา จากนั้นเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีมติอนุมัติให้พ.ร.ก.นั้นมีผลใช้บังคับเป็นพ.ร.บ.ต่อไป ซึ่งคิดว่าหากตรา พ.ร.ก.จริงไม่น่าจะขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เพราะเป็นกรณีที่ตรา พ.ร.ก.เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

 

เลขาฯสภาโอดอดซื้อเครื่องสแกนนิ้วมือ

              ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า รู้สึกเสียดายที่ก่อนหน้านี้ รัฐสภาแห่งใหม่ถูกออกแบบสำหรับแก้ไขปัญหาการกดบัตรแทนกัน โดยตั้งใจจะใช้เครื่องลงคะแนนแบบสแกนลายนิ้วมือ แทนการเสียบบัตรแบบเดิม ซึ่งไม่สามารถสแกนลายนิ้วมือแทนกันได้ แต่ปรากฏว่าในปี 2560-2561 เมื่อถึงเวลาต้องตั้งงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลกลับตัดลดงบประมาณจากที่เสนอขอไป 8 พันล้านบาท เหลือเพียง 3 พันล้านบาท จึงจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องดังกล่าว ประกอบกับมีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไปร้องเรียนถึงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ทำให้สภาต้องตัดงบประมาณส่วนนี้ออกไป

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาการเสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขณะนี้พบว่าเกิดขึ้นใน 3 กรณี คือ 1.มี ส.ส.บางคนเสียบบัตรค้างไว้และมีคนมากดลงมติแทน 2.มี ส.ส.บางคนเบิกบัตรสำรองไปให้คนอื่นมาเสียบบัตรลงมติแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมการประชุม และ 3.มีการเสียบบัตรแทน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนไม่เพียงพอ ซึ่งกรณีนี้เกิดจากปัจจุบัน ส.ส.ใช้ห้องประชุมของ ส.ว.ทำให้เครื่องลงคะแนนของสมาชิกมีเพียง 318 เครื่อง ไม่ถึง 498 คน ตามจำนวน ส.ส.ปัจจุบัน หรือขาดไป 180 เครื่อง ทำให้ ส.ส.ต้องใช้เครื่องในการลงคะแนนซ้ำกัน

 

 

 

ภูมิธรรมย้ำพ.ร.บ.งบไม่ชอบ รธน.

              ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าหยุดสร้างสองมาตรฐาน ทำประเทศให้ไร้มาตรฐาน จากข่าวกรณีรัฐมนตรีและนักกฎหมายบางท่าน ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมให้เหตุผลในการ “แก้ต่างออกตัวรับหน้า” แทนรัฐบาลและแทนผู้ถูกกล่าวหาว่า “การกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติไม่มีปัญหาใดๆ จะใช้บรรทัดฐานที่เคยพิจารณาดังเช่นในอดีตมิได้” เรื่องที่เกิดขึ้นนี้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมเราในปัจจุบัน ในเบื้องต้นอาจส่งผลกระทบเสียหาย และอาจจะมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับ ”กระบวนการตรากฎหมายที่มิชอบ”

              นอกจากนั้น ยังอาจมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้ ผ่านสภาด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งเพราะมีการกดบัตรแทนกัน ซึ่งจะส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องตกไป นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สิ่งที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลกระทำในวันนี้ ได้ตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงความเป็นสองมาตรฐาน สร้างบรรทัดฐานที่ผิดเพี้ยน ทำผิดให้เป็นถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า กล่าวคือ ในกรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.พรรครัฐบาลครั้งนี้ ผู้ที่เป็นเนติบริกรของรัฐบาลออกมาบอกว่า ไม่อาจใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

 

 

ติงเว็บ กกต.ไม่แสดงงบการเงินย้อนหลัง

              วันเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า แปลกดี ในเว็บของ กกต. แสดงงบการเงินของพรรคการเมืองย้อนหลังเพียงแค่ปี 2557 แต่งบก่อนหน้านั้น กลับเอาออกจากเว็บทั้งๆ ที่กฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ก็มีบทกำหนดให้ กกต.ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 โดยนายสมชัยตั้งข้อสังเกตว่า ต้องการปกปิดอะไรหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้ กกต. นำงบการเงิน ย้อนหลังทุกปี นับตั้งแต่ตั้ง กกต.นำมาลงในเว็บให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย

 

มท.1 ลั่นฟันนักการเมืองรุกที่

              ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีกรมที่ดินออกโฉนดให้นักการเมืองในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่จำนวนมากว่า อันดับแรกถ้ามีปัญหาต้องตรวจสอบว่า ผิดหรือถูก ต้องบอกประชาชนว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าตอนที่ออกโฉนดนั้นเส้นแนวป่าอยู่ตรงไหน ก็ต้องตรวจสอบ ถ้ามาถูกต้องก็ถูกต้อง ถ้ามาไม่ถูกต้องก็ต้องยกเลิก

 

 

 

              เมื่อถามว่า กระทรวงมหาดไทยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอทางกรมอุทยานฯ ส่งเรื่องมาแล้วจะได้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งโดยกระบวนการเมื่อ ทส.ส่งเรื่องมาถึงเราก็ต้องตรวจสอบย้อนไปว่า โฉนดที่ออกมาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง หากไม่ถูกต้องจะมีการตั้งคณะกรรมการเพิกถอนโฉนดโดยมีรองอธิบดีกรมที่ดินเป็นประธาน และหากมีการเพิกถอนโฉนดที่ดินแล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หากเป็นกระทำการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

เสนอตั้งปลัด สปน.สอบนักการเมือง

              ด้านนายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย แถลงถึงกรณีนักการเมืองบุกรุกออกโฉนดที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่า "ถ้าปล่อยให้กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) หรือกรมที่ดิน ดำเนินการไปเรื่องก็เงียบหายอยู่อย่างนี้ จับไปทีไรก็เงียบหายๆ ต้องให้ปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธานในการดำเนินการเรื่องนี้ และแจ้งผลการสอบสวนให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะถ้าขืนปล่อยไปขนาดอ่างเก็บน้ำยังถูกออกโฉนด แสดงว่าโฉนดนี้มีมาก่อนอ่างเก็บน้ำหรือไม่ เพราะเป็นอ่างตามโครงการพระราชดำริ คุณมีหลักฐานอยู่ทำไมคุณไม่โวยวาย และมาตรวจเจอภายหลัง ถ้าคุณมีโฉนดบริสุทธิ์ คุณจะต้องโวยวายแต่แรกแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องมีการสอบให้กระจ่าง"

 

 

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ส่วนกลางกำลังตรวจสอบสารบบที่ดินรอบเขาใหญ่ที่ถูกนำไปออกโฉนด โดยพบว่าในรายของนักการเมืองใหญ่ใน จ.ปราจีนบุรี นั้น มีการออกโฉนดที่ดินบริเวณชายขอบอุทยานฯ เขาใหญ่เป็นแนวยาวตั้งแต่ด่านเนินหอม อ.เมือง ไปถึงพื้นที่ อ.ประจันตคาม เบื้องต้นคาดว่ามีมากกว่า 100 แปลง ไม่นับรวมที่ให้นอมินีถือครอง หลายจุดมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ยังไม่มีร่องรอยการเปิดป่า โดยลักษณะการออกโฉนดส่วนใหญ่บริเวณที่ใกล้แนวป่าจะให้เป็นชื่อนอมินีถือครองคั่นกับโฉนดที่เป็นชื่อของนักการเมืองสลับกันไปตลอดแนว โดยมีอดีตเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ไปทำแนวเขตร่นเข้าจนทำให้กรมที่ดินสามารถออกเอกสารสิทธิได้ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ส่วนกลางจะลงพื้นที่เขาใหญ่เพื่อตรวจสอบอีกครั้งในเร็วๆ นี้

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ