ข่าว

อดีต กรธ.ยอมรับ ผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว. คสช. ชง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ.ยอมรับ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.เป็นข้อเสนอของ คสช. ที่ต้องการให้ ผบ.เหล่าทัพเข้ามาป้องกันความขัดแย้งระหว่างทหารและฝ่ายการเมือง ป้องกันรัฐประหาร

         นายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฐานะอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  กล่าวต่อประเด็นข้อเสนอของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตัดส่วน ผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่งว่า จุดเริ่มของการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ เป็นข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ ผบ.เหล่าทัพเข้ามาป้องกันความขัดแย้งระหว่างทหารและฝ่ายการเมือง ที่อาจเกิดขึ้นได้และต้องการให้ผบ.เหล่าทัพแสดงความเห็น รวมถึงชี้แจงรายละเอียดเชิงลึก เพื่อให้การเกิดรัฐประหารยากขึ้น

          อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยกับนายชวน ที่มองว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในการแก้ไขประเด็นดังกล่าวตามที่มีผู้เสนอ เชื่อว่ากมธ.ฯ อาจพิจารณา ซึ่งตนฐานะผู้มีส่วนร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560ต้องอธิบายที่มาและเหตุผลเพื่อให้กมธ.ฯ รับทราบ โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพเป็นส.ว. โดยตำแหน่งนั้น เป็นบทที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลและมีระยะเวลาบังคับใช้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากการเมืองช่วงรัฐประหาร ไปสู่การเมืองจากการเลือกตั้ง ระยะ 5 ปี นับจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้บังคับเท่านั้น ส่วนสาระจะนำไปสู่การแก้ไขหรือไม่เป็นประเด็นที่กมธ.ฯต้องพิจารณาร่วมกัน

       นายอุดม กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น ต้องการแก้ไขระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่หลายฝ่ายมองว่าเกิดจากสมมติฐานว่านักการเมืองโกงการเลือกตั้งนั้น ตนมองว่า การเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว หรือสองใบ ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่าการเมืองโกงหรือไม่ ซึ่งบุคคลที่ระบุถึงระบบเลือกตั้ง ที่รับฟังคือเพราะมีการเกิดขึ้นของพรรคเล็กจำนวนมาก ซึ่งการเกิดขึ้นของพรรคเล็ก ส่วนหนึ่งคือ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนเพิ่มมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดเฉพาะพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เท่านั้น 

        "การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เชื่อว่าในกมธ.ฯ จะอภิปรายในหลากหลายประเด็น ซึ่งประธานกมธ.ฯ เคยระบุในการประชุมนัดแรก ว่า ต้องออกไปรับฟังเสียงประชาชน ผ่านการเปิดเวที เพราะการพิจารณาแนวทางแก้ไขคงไม่ใช่การฟังเฉพาะกมธ.ฯ หรือฟังความเห็นในลักษณะความชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ทั้งนี้ในการประชุมนัดแรก และครั้งถัดไปยังเป็นลักษณะของการสนทนาธรรม ยังไม่ลงรายละเอียด แต่ส่วนหนึ่งพอทราบว่ากมธ.ฯ แต่ละกลุ่มมีธงนำมาอย่างไร เช่น การแก้ไขทั้งฉบับ, แก้ไขบางมาตรา, การจัดเวทีรับฟังประชาชน ซึ่งทั้งหมดต้องใช้การพูดคุยในแนวทางที่เห็นร่วมกันอีก 2-3 ครั้งก่อนจะลงสู่เนื้อหา" นายอุดม กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ