ข่าว

ยกฟ้อง ประชา ประสพดี ไม่ผิด ตั้ง บอร์ด อ.ต.ก.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ประชา" อดีต รมช.มหาดไทยรัฐบาลปู พ้นผิด ม.157 ป.ป.ช.ฟ้องใช้อำนาจก้าวก่ายตั้ง บอร์ด อ.ต.ก. ศาลชี้ไม่มีพิรุธทำผิดขั้นตอน ลุ้น ป.ป.ช.อุทธรณ์ได้อีกยก

 



                26 ธ.ค.2562 - เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.222/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายประชา ประสพดี" อดีต รมช.มหาดไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

 

 

 

                     กรณีถูกกล่าวหาว่า ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงมหาดไทย ที่กำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ. อ.ต.ก.
 

 

                     โดย "ศาลฎีกา" วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า การที่จำเลยโทรศัพท์ไปหา นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล อ.ต.ก.ในวันที่ 12 พ.ย.55 ก็เพียงเพื่อขอให้คณะกรรมการ อ.ต.ก.เลื่อนการประชุมออกไปเพื่อรอจำเลยมอบนโยบายการดำเนินการให้แก่ อ.ต.ก.ก่อนเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกข้อความกระทรวงมหาดไทย สำนักนโยบายและแผน ลงวันที่ 8 พ.ย.55 ที่เวียนให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ชะลอโครงการและเรื่องสำคัญออกไปจนกว่าจะทราบข้อมูลหรือนโยบายจาก รมว.มหาดไทยหรือ รมช.มหาดไทยซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มาดำรงตำแหน่งใหม่เสียก่อน 
 

 

                     อีกทั้งก็เคยมีหนังสือ อ.ต.ก.เลื่อนการประชุมอ้างเหตุผลเช่นเดียวกัน พฤติการณ์ที่จำเลยโทรศัพท์ขอเลื่อนการประชุมดังกล่าว จึงฟังได้ว่าเป็นไปโดยมีเจตนาเพื่อให้รอฟังการมอบนโยบายเท่านั้น การกระทำของจำเลย จึงเป็นไปตามแนวปฏิบัติในกรณีที่มีรัฐมนตรีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งใหม่ ไม่ใช่เป็นสั่งการเพื่อให้คณะกรรมการ อ.ต.ก.จัดประชุม และลงมติตามที่จำเลยต้องการดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
 

 

                     การที่จำเลยเสนอให้กรรมการ อ.ต.ก.ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระและแต่งตั้งกรรมการ อ.ต.ก.ชุดใหม่ โดยไม่เสนอให้บุคคล 4 คนมีชื่อในชุดเดิมเป็นกรรมการ อ.ต.ก.ชุดใหม่ ทำให้ทั้งสี่คนต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ อ.ต.ก.ซึ่งการพ้นจากตำแหน่งนั้นมีกฎหมายบัญญัติไว้ ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ,) จัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ.2496 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีอำนาจที่จะปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ  อ.ต.ก.ชุดเดิมก่อนครบวาระ โดยที่กรรมการฯ ชุดเดิมไม่จำต้องมีข้อบกพร่อง หรือ ครม.ต้องมีเหตุผลในการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ อ.ต.ก.ชุดเดิมแต่อย่างใด
 

 

                     อีกทั้งยังปรากฏว่า กรรมการชุดเดิม ยังคงได้รับการแต่งตั้งให้กลับเข้ามาเป็นคณะกรรมการ อ.ต.ก.ชุดใหม่ 8 คน ซึ่งกรรมการ 8 คนนี้มี 3 คน ได้แก่ นายสมิทธิ , นายอนันต์ สิริแสงทักษิณ และนายปฐม แหยมเกตุ ที่เคยลงมติเลิกจ้างนายธีธัชในวันที่ 15 พ.ย.55 และนายอนันต์กับนายปฐมก็เคยเป็นประธานกรรมการและกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายธีธัช ส่วน น.ส.กรประณม วงษ์มงคล เคยเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนนายธีธัชมาก่อน 
 

 

                     ดังนั้น หากจำเลยมีเจตนาที่จะช่วยเหลือนายธีธัช ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยก็ไม่น่าจะเสนอ ครม.ให้แต่งตั้งบุคคลทั้ง 4 คนกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ อ.ต.ก.ชุดใหม่อีก 


                     การกระทำของนายประชา จำเลย ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาใช้ตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีแทรกแซงการดำเนินงานของคณะกรรมการ อ.ต.ก. ในการพิจารณากรณีการทุจริตของนายธีธัช ผอ.อ.ต.ก.การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง 
 

 

                     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีหาก ป.ป.ช. โจทก์ ยังประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์คดี ก็สามารถทำได้ตามกฎหมายใหม่โดยยื่นอุทธรณ์ผลการพิพากษา 2 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ต่อไปภายในเวลา 30 วัน นับจากที่ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาในวันนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ