ข่าว

เพื่อไทยแถลงการณ์ ตั้งกรรมการสอบ ส.ส.พรรค กรณี งูเห่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพื่อไทยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีส.ส. ของพรรคเป็นงูเห่า หากพบว่ามีการกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับพรรคในสถานหนัก 

       

        เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562  พรรคเพื่อไทย ได้ออก"คำแถลงพรรคเพื่อไทย เรื่อง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการเกิดเรื่อง “งูเห่าในพรรคการเมือง”  ความว่า
         จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 เพื่อพิจารณาญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่ง ของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44  เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึง "ความกลัว” ในการถูกตรวจสอบของผู้นำรัฐบาล ถึงขั้น “กล้ากระทำสิ่งที่น่าละอาย” ขัดต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชน และขัดต่อความถูกต้องชอบธรรม อย่างไม่สะทกสะท้าน หวั่นเกรงใด ๆ

                เพื่อไทยแถลงการณ์ ตั้งกรรมการสอบ ส.ส.พรรค กรณี งูเห่า

               เพื่อไทยแถลงการณ์ ตั้งกรรมการสอบ ส.ส.พรรค กรณี งูเห่า

       ไม่ว่าจะเป็น การนำจำเลยซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้มีความผิด ถูกออกหมายจับ เข้ามานั่งในสภาฯ ได้ โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายใดกล้าเข้ามาจับกุม หรือกรณีที่มีข่าวหนาหูว่ามีการใช้ผลประโยชน์ อิทธิพลและมีการกล่าวอ้างถึงการใช้เงินจำนวนมากถึง 7-8 หลักเพื่อโน้มน้าว ชักจูงให้มีการลงมติสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และดิ้นรนที่จะไม่ยินยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรา 44 จนเกิดการถอยหลังทางการเมืองอย่างน่าอดสู  
ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นในพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการที่ไม่มีกติกา ขาดวินัย ไร้จิตสำนึก มุ่งแต่แสวงประโยชน์ฝ่ายตนให้เกิดขึ้นภายใต้กลไกอำนาจนอกระบบ เป็นการลุแก่อำนาจ คุกคามด้วยอามิสสินจ้าง ทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะ เพราะขลาดกลัวการถูกตรวจสอบ 
        จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่การรัฐประหารล่วงเลยมาถึงวันนี้ สังคมไทยมีบาดแผลและมีมลทินมากมาย ผลที่เห็นประจักษ์ชัด คือ การเมืองไทยที่เคยก้าวหน้า เป็น “การเมืองเชิงนโยบาย” ยึดถือการรักษาพันธะ สัญญาที่จะตอบสนองความต้องการเชิงนโยบายให้แก่พี่น้องประชาชน กลับต้องถอยหลังย้อนอดีตไปเกือบ 40 ปี เป็น “Money Politic” ที่ใช้อำนาจอธรรมและเงิน เป็นเครื่องมือ ทำให้ระบบรัฐสภาถอยหลัง ประชาชนหมดความไว้วางใจ บั่นทอนระบอบรัฐสภาให้เป็นสภาพแวดล้อมที่ขาดไร้จริยธรรม สร้างเงื่อนไขให้ผู้คนเห็นความเสื่อม จนอาจเกิดความชาด้านและปฏิเสธระบบรัฐสภา ในที่สุด 
       พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ความเสื่อมทรุดทั้งปวง เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความหวาดกลัวการถูกตรวจสอบ การใช้อำนาจเงินหว่านล้อมให้ ส.ส.งูเห่า ยอมจำนน ในด้านหนึ่งแม้จะสะท้อนภาพของการขาดจริยธรรมของ ส.ส. แต่เบื้องหลังคือ อำนาจและกลไกการควบคุมที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันให้พรรคพวกของตนสามารถสืบทอดอำนาจของพวกตนเองได้ตลอดไป ภายใต้ผลพวงของการออกแบบรัฐธรรมนูญที่พิกลพิการไม่ปกติ สะท้อนถึงความสามารถในการพลิกพลิ้ว “ทำผิด ให้เป็นถูก” 
      การใช้กลโกงในการควบรวมอำนาจเช่นนี้ กลับยิ่งสื่อให้เห็นถึงรัฐบาลที่ไร้หลักการ ไม่สามารถใช้เหตุผลมาดึงความร่วมมือร่วมใจของคนทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นได้จริง จึงต้องเล่นแร่แปรธาตุทุกวิถีทางดังที่เป็นอยู่ 
         พรรคเพื่อไทยเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนว่าจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และจะยิ่งเกิดขึ้นอีกต่อเนื่อง ด้วยเสียงที่ปริ่มน้ำของรัฐบาล พวกเขาจะกระทำทุกวิถีทางในการปกป้องประโยชน์พวกพ้องตน มากกว่าประโยชน์ของประชาชน อันเป็นการทำลายระบบการเมืองที่มีหลักการของประเทศต่อไปอย่างไม่มีจุดจบ 
       หนทางสำคัญ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลและกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องยินยอมและเร่งรัดให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้ตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของประเทศ และความต้องการของประชาชน และต้องมุ่งสร้างความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 
     นับจากวันนี้ วาระต่อไปคือ การนำวาระการพิจารณาเรื่องการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่สภาเพื่อหาทางออกจากวิกฤตของประเทศ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการ ดังนี้ 

               เพื่อไทยแถลงการณ์ ตั้งกรรมการสอบ ส.ส.พรรค กรณี งูเห่า

            เพื่อไทยแถลงการณ์ ตั้งกรรมการสอบ ส.ส.พรรค กรณี งูเห่า
     1.  ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ส.ส. ของพรรคไม่ปฏิบัติตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน หากพบว่ามีการกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับพรรคในสถานหนัก 
    2.  จะเสนอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณาตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรา 44 โดยทำหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว โดยให้ประชาชนในสังคมร่วมเสนอความคิดเห็น และแถลงให้พี่น้องประชาชนทราบโดยเร็วที่สุด 
           พรรคจึงขอเชิญชวนประชาชนให้จับตามองว่า รัฐบาลจะจริงจังและจริงใจในการเปิดหนทางให้มีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ลุล่วงหรือไม่ และพวกเขาจะใช้อำนาจอธรรมรูปแบบใด มาขัดขวางเจตนารมณ์แท้จริงของประชาธิปไตยอีก 
          ประชาชนต้องไม่อยู่นิ่งเฉย ต้องร่วมกันจับตามองการใช้อำนาจอธรรมที่บ่อนทำลายระบบรัฐสภาและจริยธรรมทางการเมือง เพื่อศักดิ์ศรีของประเทศอย่างจริงจัง 
      พรรคเพื่อไทย 
    6 ธันวาคม 2562 
      สำหรับรายละเอียดการตั้งคณะกรรมการฯ มีดังนี้

    คำสั่งพรรคเพื่อไทย
    ที่ ๐๑๕๗/๒๕๖๒
    เรื่อง    แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีส.ส.ของพรรค ไม่ปฏิบัติตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน
        ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีมติเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา ๔๔ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นไปตามอุดมการณ์และนโยบายของพรรคที่จะต้องคัดค้านต่อต้านการรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อจะมีการตรวจสอบการกระทำต่างๆของคณะรัฐประหารที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่ ส.ส.ของพรรคและสมาชิกพรรคต้องให้การสนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ส.ส.พรรครัฐบาลเสนอให้ลงคะแนนใหม่ โดยมีเจตนาจะล้มญัตติดังกล่าว ได้มี ส.ส. ของพรรค จำนวน ๓ คน ร่วมประชุมเพื่อให้ครบองค์ประชุมในการลงมติครั้งนี้ด้วย เมื่อนั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรคและภาพลักษณ์ของการเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่มติพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นชอบไม่ให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุม
    เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง กรณี ส.ส. ของพรรคทั้งสามคนได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว อาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.๒๕๖๑ ข้อ ๖๓ (๗) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคณะหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
     องค์ประกอบ
  ๑.    พลตำรวจโทวิโรจน์            เปาอินทร์        ประธานกรรมการ
๒.    ศาสตราจารย์พิเศษชัยเกษม    นิติสิริ            กรรมการ
๓.    นายภูมิธรรม            เวชยชัย                    กรรมการ
๔.    รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์        ศิรินิล            กรรมการ
๕.    นายวัฒนา                เตียงกูล        เลขานุการ

อำนาจหน้าที่
๑.    ตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ ส.ส.ของพรรคได้เข้าร่วมประชุมในวาระพิจารณาญัตติข้างต้น
๒.    เชิญ ส.ส.ของพรรคที่เกี่ยวข้องและที่มีข้อมูลมาให้ข้อเท็จจริงหรือส่งมอบเอกสารหลักฐาน
๓.    สรุปข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะเสนอหัวหน้าพรรคเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป 

   ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
   สั่ง ณ วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒

   (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์)
        หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ