ข่าว

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ธนาธร พ้น ส.ส.คดีถือหุ้นวี-ลัค มีเดีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลรธน.ชี้ธนาธร พ้นส.ส.คดีถือหุ้นวี-ลัค มีเดียนับตั้งแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่คือ 23 พ.ค.62และให้ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลงนับตั้งแต่ที่ศาล รธน.วินิจฉัยคือวันนี้(20 พ.ย)

      เวลา  14.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัย คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.)ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่  ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย  ว่าการกระทำของนายธนาธร เข้าข่ายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 42 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ถือได้ว่า เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ 

      ศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายความหมายของคำว่า หนังสือพิมพ์  สิ่งพิมพ์ ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ ว่า หนังสือพิมพ์หมายรวมถึงนิตยสารด้วย  การเลิกกิจการต้องจดแจ้งภายใน 30 วัน 
      ในส่วน บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ จดทะเบียน 10 ม.ค.2551  แจ้งวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการสิ่งพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ และโฆษณาทุกรูปแบบ  บริษัทฯ ได้จดแจ้งการพิมพ์ ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เมื่อปี 2551 ด้วย 
       ศาลชี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ จดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ ก่อนวันที่ 6 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.  ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ยังมีสภาพประกอบกิจการสื่อมวลชน ณ วันที่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. 

     ศาลชี้ ข้อต่อสู้ของผู้ถูกร้อง (ธนาธร) ที่อ้างว่าโอนหุ้นให้มารดาคือ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62 นั้น แต่ ปรากฏว่า ไม่มีการส่งแบบ บอจ.5 (แบบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น)  ที่บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว  ข้ออ้างธนาธรจึงฟังไม่ขึ้น ที่ว่าไม่ได้ส่งแบบ บอจ.5 เพราะไม่มีนักบัญชีดำเนินการให้  

        ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่าการโอนหุ้น หรือเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทวี-ลัค มีเดียฯ ครั้งอื่นๆ ใช้วิธีส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ได้มีความยุ่งยากแต่อย่างใด

         ส่วนปมเรื่องเช็คค่าหุ้นซึ่งธนาธรใช้เวลาถึง 128 วัน กว่าจะนำเช็คไปเข้าบัญชี แต่กฎหมายเช็ค พ.ร.บ.เช็ค มีหน้าที่ให้ผู้ครองเช็ค ให้ขึ้นเช็ค(เรียกเก็บเงิน) ภายใน 1 เดือน

       ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบรายละเอียดย้อนนหลัง 3 ปี พบว่า ผู้ถูกร้อง มีการเรียกเก็บเงินตามเช็ค ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป มีการเรียกเก็บเงิน ภายใน 42-45 วันทุกครั้ง และจากข้อมูลนำเช็คไปขึ้นเงินนานที่สุด 98 วัน แต่เช็คฉบับนั้นยอดเงินแค่ 2 หมื่นบาท

      นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่า  คำให้การของนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่องนำเช็คไปขึ้นเงินช้า ขัดแย้งกับหนังสือของผู้ถูกร้องเอง ที่ชี้แจงต่อ กกต.  คำอ้างของนางรวิพรรณ ฟังไม่ขึ้น สามารถมอบอำนาจให้คนอื่นไปขึ้นเงินแทนก็ได้

      การโอนหุ้นของนางสมพร ไปให้หลาน ไม่มีค่าตอบแทน ย้อนแย้งกับการโอนหุ้นให้ลูกกลับมีค่าตอบแทน  การอ้างโอนหุ้นแบบไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีหลักฐานตรวจสอบได้ว่าโอนจริงหรือไม่

      ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้ว่า การโอนหุ้นให้หลานเพื่อดูแลกิจการ จริงๆแล้วการถือหุ้นไม่ได้มีอำนาจจัดการในกิจการ  เอกสารโอนหุ้นอาจทำย้อนหลัง

      ศาลรัฐธรรมนูญชี้ แม้ผู้ถูกร้องคือนายธนาธร เดินทางกลับจากบุรีรัมย์ วันที่ 8 ม.ค. มาที่กรุงเทพฯ ก็ยืนยันได้แค่ว่าอยู่ กทม.จริง  แต่ไม่ได้แปลว่ามีการโอนหุ้นกันจริง

        ศาลยังได้ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1129 การโอนหุ้นกันเฉยๆ โดยยังไม่จดแจ้งในทะเบียนผู้ถือหุ้น นำมาอ้างกับบุคคลภายนอกไม่ได้

             จึงฟังได้ว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัคมีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 62 ซึ่งเป็นวันที่ศาลได้สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย หรือวันนี้ (20 พ.ย.) เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเลื่อนรายชื่อ ส.ส.ในลำดับถัดไปแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 7 วัน

           

       

          ย้อนรอยคดีนี้ เริ่มต้นจากกศูนย์ข่าวอิศราเข้าไปขุดคุ้ยรายละเอียดการโอนหุ้นไปมาในครอบครัว “จึงรุ่งเรืองกิจ”  ต่อมาได้จุดประกายให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องต่อกกต. เมื่อวันที่ 25 มี.ค.62  หลังผ่านการเลือกตั้งมาได้เพียง 1 วัน

          โดยคำร้องระบุว่านายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะเชื่อว่าวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งเป็นวันรับสมัคร ส.ส. วันสุดท้าย นายธนาธร ยังถือหุ้นของบริษัทสื่อชื่อ วี-ลัค มีเดีย จึงขอให้ กกต.วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร  แม้ว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 นายธนาธร ได้ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ปรากฏชื่อในตราสารโอนหุ้นวี-ลัค มีเดีย จำกัด ระหว่างนายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยา) กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มาราดา) ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 และรายงานการส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า การโอนหุ้นจริงเกิดขึ้นเมื่อใด และบริษัททำการจดแจ้งลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้วเมื่อใด  การกระทำของนายธนาธร อาจเข้าข่ายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 42 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ถือได้ว่า เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ 

        ภายหลังการตรวจสอบพยานเอกสารต่าง ๆ ในวันที่ 23 เม.ย.2562 กกต.มีมติแจ้งข้อหากับนายธนาธร  โดยมองว่า นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จริง และถือหุ้นเป็นจำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001 ถึง 2025000" พร้อมแจ้งให้นายธนาธรนำหลักฐานเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

          จากนั้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 กกต.มีมติเอกฉันท์ ว่า บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นบริษัท ที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัท พบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณาซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน และยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นหรือ บอจ. 5 ที่กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มี.ค. 2562 เป็นเหตุให้กกต.นำสำนวนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณารับวินิจฉัยคดีดังกล่าว

       และเมื่อ 23 พ.ค.2562  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 9:0 ให้รับพิจารณาคำร้องของ กกต. ที่ร้องเรียนว่า นายธนาธร ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.  และมีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 8:1 ให้นายธนาธรต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย พร้อมแจ้งให้นายธนาธรส่งพยานหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยนายธนาธรใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานเต็มตามกรอบเวลา 45 วัน จึงส่งทนายความนำเอกสารจำนวน 1 แฟ้ม 3 ลัง ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ 

        จากนั้นในวันที่ 11 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาวินิจฉัย กรณีหุ้นสื่อของนายธนาธร  พร้อมกำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลจำนวน 10 ปาก ในวันที่ 18 ต.ค.2562 ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้อง นายณัฐนนท์ อภินันทน์ทนายความผู้รับรองตราสารการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้นางสมพร นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถของธนาธร นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของธนาธร ผู้รับโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของธนาธร  น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม บัญชีของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด พยานการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดน.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานด้านการเงินของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด พยานการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด นายปีติ จรุงสถิตย์พงศ์ หลานของสมพร ผู้รับโอนหุ้นบริษัทวีลัคต่อจากสมพรอีกทอดหนึ่ง นายทวี จรุงสถิตย์พงศ์ หลานของสมพร ผู้รับโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคต่อจากนางสมพรอีกทอดหนึ่ง และนายพิพัฒพงศ์ รุจิตานนท์ ทนายความผู้รับรองตราสารการโอนหุ้นระหว่างนางสมพรและหลานทั้งสอง

           ในชั้นการไต่สวนนายธนาธร เบิกความยืนยันต่อศาลในทำนองว่า ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการบริการกิจการบริษัทวี-ลัคมีเดีย โดยจุดเกาะเกี่ยวเกิดขึ้นจากมารดามาชักชวนภรรยาเข้ามาบริหารบริษัทวี-ลัคมีเดีย  จึงเป็นที่มาของการซื้อหุ้น  ส่วนหุ้นอาจซื้อมาจากแม่ แต่จำราคาไม่ได้อาจเป็นการซื้อในราคาพาร์  วันนัดโอนหุ้น 8 ม.ค. 2562 ไม่ใช่วันพิเศษอะไรแค่วันที่ทุกคนว่างตรงกัน  และยอมรับว่าในวันดังกล่าวไปหาเสียงที่จ.บุรีรัมย์จริงแต่จำไม่ได้ว่าเดินทางไปจ.บุรีรัมย์อย่างไร ก่อนหน้าที่จะเดินทางไปบุรีรัมย์พักค้างที่จังหวัดใดก็จำไม่ได้  แต่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ฮุนได มีนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ เป็นคนขับรถ

            ระหว่างการเดินทางก็หลับมาตลอดทาง ไม่ได้โทรศัพท์พูดคุยหรือติดต่อกับใครเลย ระหว่างการเดินทางรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8839 ถูกจับความเร็วที่นางรอง และอ.คลองหลวง หลังจากการเซ็นโอนหุ้นก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอีกเลยจนสมัครรับเลือกตั้ง รายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียนเลิกกิจการก็จำไม่ได้เช่นกัน ส่วนเช็คเงินสดที่ได้รับจากการโอนขายหุ้นก็จำไม่ได้ เพราะครอบครัวไม่เคยเดือดร้อนเรื่องเงิน แม้จะเป็นเช็คที่มีมูลค่ากว่า 6 ล้านบาทก็ตาม  เพราะมอบหมายให้ภรรยาเป็นผู้จัดการเรื่องการเงิน  

        นายธนาธร ยังได้พยายามชี้ให้ศาลเห็นถึงกระบวนการไต่สวนของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอสงวนสิทธิในการดำเนินคดีกกต. เพราะตั้งใจอย่างจริงจังที่จะทำงานการเมืองโดยไม่อยากให้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างที่นายทักษิณ ชินวัตร โดนมาก่อน ต้องการให้บ้านเป็นประชาธิปไตย หากศาลตัดสินเป็นคุณกับผม ผมจะออกไปทำเรื่องบายทรัสต์ทันที เพราะต้องการใช้มาตรฐานนักการเมืองตะวันตกในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ต้องเข้ามาเพื่อมีผลประโยชน์หรือบริวารห้อมล้อมเหมือนนายทักษิณ  เพราะผมอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ซึ่งถ้ายังอยู่แบบนี้ก็จะเดินต่อไปไม่ได้

       ขณะที่ นางสมพร (แม่) และนางรวิพรรณ (ภรรยา) ให้การตรงกันว่า ในวันที่ 8 มค.2562 มีการเซ็นโอนหุ้นและเซ็นจ่ายเช็คค่าหุ้นกันจริง  ส่วนบริษัท วี-ลัคมีเดียเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้านนิตยสาร จัดพิมพ์ป้อนให้กับสายการบินนกแอร์ ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ได้นำเช็คค่าหุ้นไปขึ้นเงินนั้น  เพราะเป็นแม่ลูกอ่อนต้องดูแลลูกอายุราว 3 เดือน ไม่สะดวกจะนำเช็คไปขึ้น และไม่ไว้ใจให้คนอื่นขึ้นเงินแทน ประกอบกับเป็นเช็คจากนางสมพร จึงไม่กังวลว่าเช็คจะเด้ง
       ส่วนนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ และนายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานของนางสมพร  ให้การตรงกันว่าได้รับโอนหุ้นจากนางสมพรในวันที่ 14 ม.ค.2562 หลังการคุยแผนธุรกิจที่ประสงค์ให้นางสมพรลงทุนเพิ่มเพื่อปรับปรุงโครงสร้างกิจการจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นอีบุ๊ค แต่นางสมพรไม่ตกลงตัดสินใจปิดกิจการ จึงโอนหุ้นคืนในวันที่ 21 มี.ค.2562 โดยไม่มีการชำระเงินค่าหุ้นกันแต่อย่างใด 
       ขณะที่พนักงานบริษัทไทยซัมมิทที่ลงนามเป็นพยานในการโอนหุ้น เบิกความตอบการซักถามของศาลถึงการโอนหุ้นวันที่ 8 ม.ค. กับวันที่  14 ม.ค.  ไม่มีการแจ้งบอจ. 5 แต่การโอนในวันที่ 21 มี.ค. จึงมีการแจ้งบอจ. 5  ว่า การโอนหุ้น 3 ครั้งเป็นการโอนภายในบริษัทจึงไม่มีการแจ้งบอจ. 5 ขณะเดียวกันบริษัทวี-ลัค มีการเลิกกิจการทำให้ไม่มีใครมารับงานจากตนไปดำเนินการต่อ    ส่วนการโอนวันที่ 21 มี.ค.มีการแจ้งบอจ.5  เนื่องจากก่อนหน้านั้นวันที่ 19 มี.ค. มีการประชุมและมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งจะต้องมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้มีการแจ้งบอจ.5 ไปในคราวเดียวกัน

       สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร สิ้นสุดลง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ