ข่าว

เมียธนาธร มั่นใจเช็คไม่เด้ง เหตุขึ้นเงินช้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมียธนาธร   อ้างเหตุแม่ลูกอ่อน-มั่นใจเช็คแม่สมพร  เหตุขึ้นเงินเช็คค่าหุ้นวี-ลัค ช้า  แจงบริษัททำธุรกิจรับพิมพ์งานให้นกแอร์ ไม่ได้ผลิตเนื้อหาเอง  

      ศาลรัฐธรรมนูญ –18 ต.ค.62 ในช่วงบ่ายหลังการเบิกความของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ศาลรัฐธรรมนูญเบิกตัว นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม และน.ส.กานติ์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานบริษัทไทยซัมมิท โอโต้พาร์ค อินดัสตรี จำกัด ซึ่งเป็นพยานในคดีที่กกต.ร้องขอให้ศาลรัฐธวรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายธนาธร  เนื่องจากถือหุ้นสื่อบริษัทวี –ลัค มีเดีย จำกัด     

           โดยนางรวิพรรณ เบิกความว่าการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคในวันที่ 8 ม.ค.  62 มีการนัดหมายกันที่บ้านคือก่อนเวลา 18.00 น.ซึ่งทนายโนโตรีมาจัดเตรียมเอกสารในห้องทำงาน  จากนั้นนายธนาธร กลับมาจากจ.บุรีรัมย์ ทักทายกันเสร็จ ก็ไปอาบน้ำ  ซึ่งต่อมานางลาวัลย์และนางกานต์ฐิตาก็เดินทางมาสมทบ เมื่อนายธนาธรอาบน้ำเสร็จก็มานั่งคุยกัน และเซ็นเอกสาร  ซึ่งเอกสารสัญญาทางทนายความเป็นคนจัดเตรียมมา  โดยในส่วนของตนก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และเมื่อเซ็นเสร็จก็มีการติดอากรแสตมป์ในวันนั้น โดยเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทไทยซัมมิท เตรียมมา หลังเซ็นเอกสารเสร็จนางสมพรก็เซ็นเช็คจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค ให้นายธนาธรและตนคนละฉบับ  ซึ่งเช็คทั้ง 2 ใบตนเองเป็นคนเก็บ และนำไปขึ้นเดือนพ.ค. 62 ด้วยตนเอง

        "สาเหตุที่เว้นหลายเดือน ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาก็จะรวบรวมเช็คหลายฉบับแล้วนำไปขึ้นพร้อมกันทีเดียว ยกตัวอย่างในปี 60 เคยนำเช็คไปขึ้นทีเดียว 10 ฉบับ   โดยการขึ้นเช็คก็จะไม่มอบให้ใครไปดำเนินการแทน  ขณะเดียวกันในช่วงนั้นเพิ่งคลอดลูกคนเล็กในเดือนก.ย.  จึงต้องเลี้ยงลูก และเห็นว่าเป็นเช็คบริษัทในเครือ ไม่มีการปัญหาเรื่องเช็คเด้งแน่ จึงไม่ได้รีบนำไปขึ้นเงิน แต่ต่อมาเมื่อเกิดกระแสข่าวเรื่องการโอนหุ้น เมื่อได้รับเช็คที่ทนายความนำมาแสดงต่อกกต. คืน จึงรีบนำไปขึ้นเงิน"

          ส่วนการเดินทางไปหาเสียงที่จ.บุรีรัมย์ของนายธนาธรในวันที่ 8 ม.ค. 62 จำได้ว่าวันที่ 7ม.ค. 62 ช่วงเช้านายธนาธรนั่งเครื่อง บินจากกรุงเทพไปจ.อุบลราชธานี แล้วเดินทางต่อไปที่จ.บุรีรัมย์  โดยนายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถขับไปรับนายธนาธรที่จ.อุบล  และวันที่  8 ม.ค. นายธนาธรกลับมาพร้อมกับนายชัยสิทธิ์  สำหรับการเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทวี-ลัค ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในช่วงปลายปี 54 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ การโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. แม้จะมีการโอนหลายบริษัท แต่นางสมพรมีการจ่ายเช็คค่าโอนเฉพาะของบริษัทวี-ลัคให้กับนายธนาธรและตน ส่วนบริษัทอื่นๆ มีกำหนดในสัญญาว่าจะชำระภายใน 6  เดือนหลังจากนั้น

        ส่วนประเด็นที่บริษัทจะเลิกกิจการแต่ยังทำสัญญากับบริษัทนกแอร์นั้น  นางรวิพรรณ ชี้แจงว่า ตอนเข้ามาบริหารปี 54 นอกจากผลิตนิตยสาร WHO  แล้วก็รับจ้างนกแอร์ผลิตนิตยสาร จิ๊บ จิ้บ โดยไม่ได้ทำเนื้อหา  จนปี59 ธุรกิจสิ่งพิมพ์ซบเซา แต่ในการผลิตนิตยสารให้กับนกแอร์ยังมีรายได้ ไม่ขาดทุนและยังมีสัญญาค้างอยู่ จึงมีการปิดกองบรรณาธิการเฉพาะ WHO เท่านั้น   ส่วนอื่นยังทำหน้าที่ต่อไป ไม่ได้ยุบ

                 ต่อมาน.ส.ลาวัลย์  จันทร์เกษม  ผู้จัดการทั่วไปดูแลสายงานบัญชี บริษัทไทยซัมมิท โอโต้พาร์คอินดัสตรี จำกัด   ชี้แจงว่า ทำงานบริษัทนี้มา 15 ปี ซึ่งหลักการๆ โอนหุ้น เมื่อมีการโอนหุ้นแล้ว ก็ได้มีการลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และนำเอกสารไปแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่บริษัทเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตนจึงไม่ได้เป็นผู้นำ ส่งสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องหุ้นที่ผ่านมามีไม่มาก มีปีที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะ ยอมรับว่าตนลงนามเป็นพยานในการโอนหุ้นวันที่ 8 ม.ค. โดยเดินทางไปถึงบ้านคุณธนาธรพร้อมกับน.ส.กานต์ฐิตา และได้ร่วมตรวจสอบตราสารการโอนหุ้นว่าการโอนจากผู้โอน ผู้รับโอน ชื่อ มูลค่าหุ้น ถูกต้องหรือไม่ และร่วมลงนามในเอกสารระหว่างผู้โอน ผู้รับโอน โดยไปบ้านคุณธนาธรกับน.ส.กานต์ฐิตาประมาณ 17.00 น. พร้อมๆกับที่นางสมพรเดินทางมาถึง ซึ่งขณะนั้นทนายความรออยู่ภายในบ้านก่อนแล้ว 

          นอกจากนี้ยังเป็นพยานในการโอนหุ้นวันที่ 14 ม.ค.ระหว่างนางสมพร กับหลานชายทั้งสองคน ที่บ้านนางสมพร  ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงกับข้ามกับบ้านนายธนาธร ในหมู่บ้านเลคไซด์วิลล่า 2  โดยวันดังกล่าวนางสมพรอยู่ภายในบ้านอยู่แล้ว มีนายพิพัฒน์พงศ์ ทนายความ ตนเอง น.ส.กานติ์ฐิตา และนายทวี นายปิติ จรุงสถิตย์พร หลานชายทั้งสองคนเดินทางมาสมทบตามลำดับ  และยังเป็นพยานในการโอนหุ้นคืนระหว่างหลานชายทั้งสองคนกับนายสมพร วันที่ 21 มี.ค. ซึ่งทั้ง 3 ครั้งเมื่อโอนเสร็จจะมีการลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัท

         จากนั้นศาลได้ซักว่า ทำไมการโอนหุ้นวันที่ 8 ม.ค.62 กับวันที่  14 ม.ค. 62 ไม่มีการแจ้งบอจ. 5 แต่การโอนในวันที่ 21 มี.ค. 62 จึงมีการแจ้งบอจ. 5  ซึ่งน.ส.ลาวัลย์ ชี้แจงว่า มีเหตุหลายประการ ส่วนหนึ่งเห็นว่า การโอนหุ้น 3 ครั้งเป็นการโอนภายในบริษัทจึงไม่มีการแจ้งบอจ. 5 ขณะเดียวกันบริษัทวี-ลัคมีการเลิกกิจการทำให้ไม่มีใครมารับงานจากตนไปดำเนินการต่อ  แต่หากมีการสั่งให้ตนไปดำเนินการก็สามารถดำเนินการได้  ส่วนการโอนวันที่ 21 มี.ค.62 มีการแจ้งบอจ.5  เนื่องจากก่อนหน้านั้นวันที่ 19 มี.ค. 62 มีการประชุมและมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งจะต้องมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้มีการแจ้งบอจ.5 ไปในคราวเดียวกัน

          ด้าน น.ส.กานติ์ฐิตา  อ่วมขำ  กล่าวว่า รับผิดชอบงานด้านการเงินบริษัทไทยซัมมิทโอโต้พาร์ค อินดัสตรี มา 22 ปี การโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. ตนอยู่ในเหตุการณ์ โดยเดินทางไปพร้อมน.ส.ลาวัลย์ ถึงบ้านนายธนาธรเวลา 17.00น.  โดยช่วงปลายปี 61 ทราบข้อมูลว่าจะมีการโอนเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นใน 10 บริษัทรวมถึงบริษัทวี-ลัค ในฐานะฝ่ายการเงิน ของบริษัทจึงต้องเข้าไปรับทราบ   โดยยอมรับว่าได้ลงนามเป็นพยานในตราสารการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค วันที่ 8 ม.ค. 62 และเป็นพยานการโอนหุ้นระหว่างนางสมพร กับหลานชายในวันที่ 14 ม.ค. 62 และการโอนคืนระหว่างหลานชายมายังนางสมพรวันที่ 21 มี.ค. 62

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ