ข่าว

ชำแหละงบฯ 63 ไร้ทิศทาง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝ่ายค้าน ชำแหละ งบฯ 63 ไร้ทิศทาง-ปชช.ไม่มั่นใจการรีดภาษี ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รัฐบาลอวยเต็มที่ พร้อมขอทบทวนงบฯ จัดสรรลงใต้

 

17 ตุลาคม 2562  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระก่อนรับหลักการ ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.จากฝ่ายค้าน ต่างอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นตามจุดยืนของแต่ละฝั่ง

 

 

 

โดยในฝั่งของส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เน้นการอภิปรายท้วงติงและให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงรายละเอียด อาทิ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่  อภิปรายเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขด้านภาษีจากการจัดเก็บ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลล้มเหลวต่อการจัดเก็บภาษี เพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อการนำภาษีเพื่อใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุง

 

ธุรกิจสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นธุรกิจที่รัฐบาลผูกขาด แต่พบการหักหัวคิวสลากฯ เป็น 1.8 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 ส่วนที่เพิ่มโควต้าและเพิ่มค่าหัวคิว ยังพบความล้มเหลวของการบริหารจัดการ เช่น การจับกุมผู้ค้าสลากรายย่อยที่ขายเกินราคา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้าสลากเกินราคาได้

 

นอกจากนั้นพบว่ารัฐบาลใช้ภาษีที่ฟุ่มเฟือยและกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนฐานะผู้เสียภาษี อาทิ​โครงการ ชิม ชอป ใช้ ที่สามารถใช้กับธุรกิจหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แทนจำกัดการใช้เฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ส่วนภาษีมรดกที่เป็นมาตรการเพิ่มรายได้ พบว่าปี 2562 จัดเก็บได้เพียง 451 ล้านบาท เพราะออกมาตรการยกเว้นกับมรดกของกลุ่มเจ้าสัว ส่วนตัวมองว่างบประมาณที่ดีต้องสร้างสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้เสียภาษีคือ ประชาชนที่มีความเป็นธรรม 


ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายย้ำถึงการจัดสรรงบประมาณ ตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ว่าไม่เหมาะสม ใน 5 ประเด็นคือ 1.ไร้ทิศทาง โดยเฉพาะทิศทางต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากนั้นไม่มีทิศทางที่ทำให้งบประมาณเกิดความสมดุล

 

2.ไร้การเรียงลำดับความสำคัญ ต่อการจัดสรรงบประมาณที่แบ่งตามหน่วยงาน ควรเน้นการใช้งบประมาณเพื่อประชาชน, 3.ไร้ความรับผิดชอบต่อสภาฯ และประชาชน เนื่องจากพบการโอนงบประมาณเหลือจ่ายข้ามหน่วยงานในรัฐบาลที่ผ่านมา จนเกิดประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่งบประมาณเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 พบการใช้งบกลาง จำนวน 2,800 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถถัง แทนการใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาประชาชน พบปัญหาน้ำท่วมทำให้รัฐบาลต้องใช้การรับบริจาคแทน

 

4.ไร้วินัยการเงินการคลัง ซึ่งตั้งงบผูกพันเพื่อใช้ในการลงทุนถึงปี 2564 กว่าแสนล้านบาท แต่ขาดการตั้งงบประมาณเงินชดเชยการคลัง การตั้งงบเพื่อเงินชดเชยคงคลังต้องมีไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ปรากฎในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 หากผ่านวาระแรกได้ ในชั้นกมธ. ต้องพิจารณาบรรจุรายละเอียดด้วย และ 5.ไร้หลักการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ  ตนทราบข่าวว่ารัฐบาลได้ตั้งงบประมาณผูกพัน ด้านการลงทุนหลายจุด หากดำเนินการโดยที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ไม่ผ่านสภาและวุฒิสภา จะรับผิดชอบหรือไม่ เพราะอาจต้องยกเลิกสัญญากับเอกชนหรือผู้รับเหมา​ 

 

สำหรับการอภิปรายฝั่งส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เน้นการอภิปรายเพื่อสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณ ตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่รัฐบาลเสนอขอจัดสรร และยังได้อภิปรายเพื่อท้วงติงให้จัดสรรงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นตามเขตเลือกตั้ง อาทิ  นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายโดยยืนยันว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ

 

โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจฐานราก และสร้างหลักประกันทางสังคม ผ่านการจัดสรรงบประมาณด้านยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 7.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 23.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการลงทุนรัฐบาล อาทิ โครงการอีอีซี ที่ใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นตนขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563   

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ