
เลขาฯครป. ระบุผู้พิพากษายะลายิงตัวสะท้อนปัญหายุติธรรม
เลขาฯครป. ระบุผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง สะท้อนปัญหาโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม เรียกร้อง รัฐบาล ปธ.ศาลฎีกา ปฏิรูปทั้งระบบ การตัดสินคดีต้องอิสระ เป็นธรรม
เลขาธิการ ครป. ระบุผู้พิพากษายะลา ยิงตัวเอง ประท้วงระบบยุติธรรม สะท้อนปัญหาโครงสร้าง ผู้มีอำนาจสามารถสั่งคดี ทำผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อ เรียกร้อง รัฐบาล ประธานศาลฎีกา ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แยกอำนาจสอบสวนออกจาก สตช. ผู้พิพากษา ต้องมีอิสระ การตัดสินคดีต้องเป็นธรรม
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดยะลายิงตัวตาย เพื่อประท้วงระบบยุติธรรมในชั้นตุลาการ สะท้อนปัญหาทางโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้
นายเมธา กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังบอกเราอย่างชัดเจนว่า ประเทศนี้ผู้มีอำนาจสามารถสั่งคดีหรือออกแบบคดี สามารถสั่งให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อในกระบวนการยุติธรรมได้ ระบบศาลมีการพิจารณาคดีโดยไม่เป็นอิสระ ไม่ต่างจากระบบตำรวจที่พนักงานสอบสวนถูกสั่งให้ซ้ายขวาหันขวาได้ เพราะถูกกำกับด้วยระบบชั้นยศและโครงสร้างอำนาจ ที่ผู้บังคับบัญชาสามารถแทรกแซงสำนวนคดีได้ เหมือนกับกรณีที่อธิบดีศาลอาจใช้อำนาจมิชอบแทรกแซงก้าวก่ายคดีของผู้พิพากษาได้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
"ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบโดยเร่งด่วน ทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการและในชั้นศาล โดยเฉพาะการแยกอำนาจสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อความอิสระในการสอบสวนคดีและให้อัยการมีส่วนร่วม รวมถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ฝ่ายตุลาการต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน จะต้องปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกและกลไกภายในที่ฉ้อฉล เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ปัจจุบันนี้เราอาจมีผู้บริสุทธิ์มากมายถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุก โดยไร้กระบวนการช่วยเหลือให้ได้รับความยุติธรรม การเยียวยาหรือตรวจสอบคดีอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงยุติธรรมจะต้องออกมาดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน" เลขาธิการ ครป. กล่าว
นายเมธา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนขอเรียกร้องไปยังนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนใหม่ที่ออกมาเปิดการรับฟังและข้อเสนอแนะจากประชาชนเป็นครั้งแรก ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นมิติใหม่ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาฝ่ายตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนในระบบ 3 อำนาจอธิปไตย ขอให้นำเรื่องนี้ไปแก้ไขและปฏิรูปตุลาการและระบบศาล ยุติการแทรกแซงอำนาจอิสระ การออกแบบคำพิพากษาโดยมีธงทางการเมืองจากฝ่ายความมั่นคงหรือจากผู้มีอำนาจใดๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง
"เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่กระบวนการยุติธรรมไทยไร้มาตรฐานและตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจได้ เราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงยังไม่เคยสงบสุข เพราะมีคนจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อของนโยบายความมั่นคงของผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. กองทัพ หรือหน่วยความมั่นคงอื่นๆ คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปนโยบายความมั่นคง และรูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อป้องกันภัยคุกคามในสมัยใหม่ที่แท้จริง เพราะเราผ่านยุคสงครามเย็นมาแล้วแต่เราไม่เคยปฏิรูปแนวคิดนี้กับผู้มีอำนาจเลย พวกเขาเลยอาจฉลาดมองคนไทยด้วยกันเพียงที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นภัยคุกคามชาติและมีโครงข่ายขบวนการทำลายประเทศ" นายเมธา กล่าว
นอกจากนี้ การที่ผู้แทนกองทัพและกอ.รมน. ได้แจ้งจับนักวิชาการและนักการเมือง กรณีที่อภิปรายเกี่ยวกับความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นก้น เป็นการใช้อำนาจล้าหลังเข้ากลั่นแกล้งคุกคาม เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่กระทำได้ในทางวิชาการ ไม่เข้าองค์ประกอบผิดกฎหมายความมั่นคงใดๆ เพราะคนไทยมีสิทธิ์ตั้งคำถามต่อกฎหมายที่รัฐบาลทหารได้ร่างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจไม่ต่างจากเขตปกครองพิเศษแบบพัทยา กรุงเทพมหานคร หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ พวกเขาในฐานะประชาชนไม่มีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ด้วยซ้ำนอกจากเปล่งเสียงเรียกร้องและตั้งคำถาม
ทั้งนี้ ในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยย่อมต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้ตามบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ไม่ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อประเทศแต่อย่างใด.