ข่าว

ปิดฉาก5ปีคสช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิพม์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562

 


          “บิ๊กตู่” แถลงสารอำลาหัวหน้า คสช. ขอบคุณ 5 ปี ประกาศภารกิจนายกฯ ฟื้นฟูเกียรติคุณประเทศชาติ  ติงฝ่ายค้านซักฟอกไม่ถูกเวลา  “จุติ”ยันแก้ รธน. ไม่ใช่เรื่องด่วนที่สุดเท่าแก้ปัญหาปากท้อง ด้าน "สมชาย" อัธนาธรเดินสายบีบีซีลอนดอนสร้างภาพ 

 

 

 

          หลังจากยึดอำนาจและบริหารประเทศมากว่า 5 ปีเต็มสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ล่าสุดนายกรัฐมนตรีมีกำหนดนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ในวันที่ 16 กรกฎาคม ซึ่งจะทำให้สถานะหัวหน้าคสช.สิ้นสุดลงตามกฎหมาย ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงสารหัวหน้า คสช.เพื่ออำลาประชาชนชาวไทยแล้ว

 

          เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ดังนี้ ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ซึ่งจะเป็นคณะแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ซึ่งแม้จะเป็นการเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินหรือดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามหน้าที่และอำนาจได้เต็มที่จนกว่าจะได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว ซึ่งคาดว่าทุกขั้นตอนจะสำเร็จเรียบร้อยลงได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นับแต่นั้นไป การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ราคาสินค้า ราคาผลผลิตการเกษตร การแก้ปัญหาสังคม ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การแก้ปัญหาการปกครอง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การออกกฎหมาย และการเร่งรัดเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ทุกกลุ่มอาชีพรายได้ ทุกพื้นที่ต่างรอคอย ก็จะได้รับการสานต่อและเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา




          ลาประชาชนในฐานะหน.คสช.
          “พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะรัฐมนตรีคณะใหม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณและรับหน้าที่แล้ว คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนหน้านั้น และคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลง ดังนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีคณะเดิมจะสิ้นสุดภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 16 กรกฎาคม ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีคณะเดิม ผมจึงขอถือโอกาสนี้อำลาพี่น้องประชาชนทั้งหลายและขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ของ คสช. ข้าราชการการเมือง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนหน้านี้แล้ว และขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาคท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือกับ คสช. และรัฐบาลด้วยดีตลอดมา หลายเรื่องท่านดำเนินการไปเองตามกฎหมายตามหน้าที่หรือด้วยจิตอาสาด้วยความเรียบร้อย หลายเรื่องได้ดำเนินการคู่เคียงกับภาครัฐในรูปแบบการร่วมทุนหรือรูปแบบประชารัฐ”


          ดังนั้น ความสงบสุข การพัฒนาประเทศ และการแก้ปัญหาต่างๆ จึงสามารถเป็นไปได้ด้วยดี คสช. และรัฐบาลตระหนักดีว่า ความสำเร็จในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาชนทุกอาชีพรายได้ การเรียกความเชื่อมั่นในการปฏิบัติตามพันธสัญญาและการลงทุนจากต่างประเทศให้กลับคืนมา รวมทั้งการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาหมักหมมมานานปี การแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ การพิจารณาคดีต่างๆ ที่ค้างคาในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องเป็นธรรม การออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเก่าและเดินหน้าไปสู่การพัฒนาใหม่อย่างยั่งยืน การดำเนินการเพื่อการปฏิรูปประเทศและการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนัก ความเสียสละ ความอดทน และความร่วมมือร่วมใจของท่านทั้งหลายโดยแท้


          ชี้5ปีพิสูจน์ให้เห็นถึงความแน่วแน่
          ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้ในยามวิกฤติที่บ้านเมืองมีความรุนแรง ความขัดแย้งและความเห็นต่าง การบริหารราชการ รวมถึงการบริหารจัดการด้านงบประมาณมีปัญหาอุปสรรคด้วยข้อกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ จนครั้งหนึ่งเมื่อ 6–7 ปีที่ผ่านมาต่างชาติเคยมองว่าเราแทบจะเป็นประเทศที่ล้มเหลวอยู่แล้ว แต่เมื่อเราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะฟื้นฟูชื่อเสียงเกียรติคุณ ความสงบเรียบร้อยและสิ่งดีงามของประเทศให้กลับคืนมาให้จงได้ เราก็สามารถดำเนินการได้อย่างดี เช่น เรียกเอาความเป็นเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยวกลับมา การจัดลำดับความยากง่ายในการทำธุรกิจเริ่มดีขึ้น การกำหนดดัชนีชี้วัดความโปร่งใส การกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ การแก้ปัญหาการบินพลเรือน การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว การประมงผิดกฎหมาย ล้วนได้ผลดีขึ้นเป็นลำดับจนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แม้แต่การแสดงออกซึ่งเมตตาธรรม มนุษยธรรม ความรอบรู้รอบคอบ และความรู้รักสามัคคีในการช่วยเหลือทีมเยาวชนหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวง เชียงราย เมื่อปีที่แล้ว และอื่นๆ อีก นับเป็นการแสดงออกที่ประทับใจผู้คนไปทั่วโลก ล่าสุดคือการที่ไทยได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งต่างชาติชื่นชมว่าเราสามารถจัดได้เรียบร้อยน่าประทับใจและบรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ


          มาถึงบัดนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนได้นึกทบทวนว่า บ้านเมืองของท่านในวันนี้มีอะไรดีขึ้นบ้าง เปลี่ยนแปลงบ้าง หากมีส่วนที่ดีขึ้นกรุณาภาคภูมิใจเถิดว่านั่นคือผลจากความตั้งใจและความร่วมมือของเราทุกคนภายใต้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน สิ่งใดที่ยังไม่สำเร็จก็ต้องดำเนินการในรัฐบาลต่อไป ด้วยความรักความสามัคคีของคนในชาติ ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราได้แสดงออกถึงพลังแห่งความสามัคคีและการมีวัฒนธรรมอันวิจิตรอลังการให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก เมื่อประเทศไทยประสบกับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ คือการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แม้พี่น้องประชาชนทั้งหลายจะอยู่ในความวิปโยคอาลัยก็ได้ร่วมใจในการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับรัฐบาลในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างน่าประทับใจด้วยความจงรักภักดี 


          เมื่อเร็วๆ นี้เรายังได้ร่วมใจกันทั้งชาติอีกครั้งด้วยการร่วมกิจกรรมยิ่งใหญ่กับรัฐบาลในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติยศและสง่างาม เหตุการณ์สำคัญทั้งสองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีนี้ จะจารึกอยู่ในความทรงจำของเราทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศตลอดไป


          ยันประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย
          บัดนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่างๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ อีกต่อไป แม้การปกครองเช่นนี้อาจล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนบางกลุ่มบ้าง อาจติดขัดที่ขั้นตอนข้อจำกัดทางกฎหมาย การเมือง และงบประมาณบ้าง ต้องรับฟังความคิดเห็นโต้แย้งที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็เป็นไปตามครรลองของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งทุกคนทุกฝ่ายต้องเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อดทน อดกลั้น ไม่ขัดแย้งรุนแรง มีเหตุผล มีวินัย เคารพเสียงข้างมาก ยึดมั่นในธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมโดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของไทย  


          “ผมได้เคยกราบเรียนพี่น้องทั้งหลายแล้วว่า การปกครองของประเทศเราจะอยู่ได้ก็ด้วยสามเสาหลักทำงานประสานกัน คือ ภาคการเมือง ภาคข้าราชการ และภาคประชาชนซึ่งต้องร่วมมือร่วมใจกัน สิ่งที่ คสช. รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการสอดประสานกันในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น หลายเรื่องน่าจะเป็นรากฐานให้รัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ของประชาชนชาวไทยทุกคน ที่ไม่มีการแบ่งแยกภาคหรือจังหวัดหรือแบ่งพื้นที่ตามฐานเสียงพรรคการเมืองใดๆ โดยจะต้องสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมั่นคงเพื่อสร้างความมั่งคั่ง และความยั่งยืนวัฒนาสถาพร”


          แย้มแก้รธน.ได้หากก.ม.ไม่ตอบโจทย์
          แต่หากเรื่องใด โครงการใด กฎหมายใดไม่เป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกเพิกถอนได้อยู่แล้ว สิ่งใดที่เกิดขึ้นหรือหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเข้ามา วันหนึ่งย่อมจากไปหรือผ่านพ้นไปได้เป็นธรรมดา แต่ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา เป็นที่เกิด ที่อยู่อาศัยของลูกหลานเราจะต้องอยู่ต่อไป ทุกคนมีหน้าที่ต้องสนองพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และปกป้องรักษาแผ่นดินไทยนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่เราทั้งหลายร่วมกัน ด้วยความรักความสามัคคี เผื่อแผ่แบ่งปัน มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนอันเป็นที่รักยิ่งตลอดไป


          “ขอทุกท่านได้รับความขอบพระคุณและความปรารถนาดีอย่างจริงใจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของรัฐให้ความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ ฝ่ายนิติบัญญัติใหม่ ในอันที่จะรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทยให้คงไว้ รวมทั้งสร้างความรัก ความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ จิตอาสา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติสืบไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


          ปัดจ่อดึงผู้ว่าฯหมูป่าสู้“ชัชชาติ”
          ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดพิเศษ โดยเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนที่ ครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนในวันที่ 16 กรกฎาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธตอบคำถามกรณีกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เตรียมทาบทามนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ พะเยา มาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สู้กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่คาดว่าจะเป็นตัวแทนลงชิงชัยจากพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยระบุเพียงว่า ที่ต้องประชุมกันวันนี้เพราะมีเรื่องต้องพิจารณา เมื่อถามว่ามีเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ พยักหน้าตอบ ก่อนขึ้นห้องประชุมทันที


          เบรกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ
          พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงนโยบายใหม่ว่า คำว่านโยบายของรัฐบาลนั้นทุกคนต้องเข้าใจ ว่าถือเป็นแบบฟอร์มหนึ่ง ซึ่งเหมือนกรอบการทำงานที่จะตอบรับการทำงานของทุกพรรคการเมืองและรัฐมนตรีที่มาทำงานร่วมกัน การแถลงนโยบายกำหนดไว้วันที่ 25 กรกฎาคม ยังคงเป็นไปตามนั้น ขอให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องการแถลงนโยบาย และการเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นคนละเรื่อง คนละวาระกัน ขอกราบเรียน สมาชิกผู้ทรงเกียรติต่างๆ ไว้ด้วย เพราะเห็นว่าหลายอย่างยังไม่ตรงกับหน้าที่ในการทำงาน เพราะไม่ใช่เรื่องการอภิปรายการทำงานของรัฐบาล ถือเป็นคนละเรื่องกัน


          ไม่ขัดแก้รัฐธรรมนูญ 2560
          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างนโยบายที่จะแถลงนั้น ถึงมือเรียบร้อยแล้ว โดยกำลังปรับแก้อยู่ ส่วนจะใช้เวลาแถลงนโยบายกี่วันนั้น คงต้องหารือร่วมกัน ซึ่งหลายเรื่องต้องสงวนคำพูดไว้บ้าง บางอย่างก็ต้องหารือได้ ส่วนจะมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดแถลงนโยบายบ้างนั้น รัฐมนตรีทั้ง 36 คนจะต้องไปร่วมประชุมด้วยกันอยู่แล้ว ส่วนที่ถามว่า เห็นว่าไม่มีการบรรจุประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาลนั้น ยังไม่มีอะไร จะร่างอะไรออกมา เดี๋ยวก็รู้เอง


          เมื่อถามว่าสรุปจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยอมรับว่า “สนับสนุน พร้อมสนับสนุนให้มีการดำเนินการแก้ไขทุกกฎหมาย เพราะกฎหมายบางฉบับก็มีปัญหาอยู่ ต้องไปว่ากันตามกระบวนการขั้นตอน ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับใคร วันนี้เป็นรัฐบาลของประเทศ"


          ถวายสัตย์เร็วขึ้น 5 โมงเย็น 16 ก.ค.
          ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ ในวันที่ 16 กรกฎาคม นั้น ได้เลื่อนเวลาเร็วขึ้นจากเดิมในเวลา 18.00 น. เป็นเวลา 17.00 น. จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะเรียกประชุม ครม.ชุดใหม่นัดแรก เพื่อถือโอกาสพูดคุยกับ ครม.ชุดใหม่


          ชี้คำสั่งปรับทัศนคติได้แต่กักตัวไม่ได้
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่ปรับเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า เดิม คสช.เป็นคนเรียก เมื่อคสช.ไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไร ทั้งนี้ กอ.รมน.ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย


          เมื่อถามว่า การเรียกปรับทัศนคติ รวมถึงให้มีการกักตัวด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่มี ไม่ใช่ ทุกวันนี้ก็มีเชิญไปปรับอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเอาไปควบคุมตัวได้ การจะคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะประกาศกฎอัยการศึก”


          บิ๊กป๊อกลั่นพร้อมหนุนแก้ รธน.
          ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคร่วมรัฐบาลขอให้บรรจุในนโยบายรัฐบาลว่า จะแก้หรือไม่แก้ ต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ตามที่นายกฯ ได้บอกไว้ หน่วยงานใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขก็ให้ไปดำเนินการ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ส่วนที่ถามว่า แสดงว่ารัฐบาลจะไม่ตั้งเรื่องนี้เข้าไปในนโยบายใช่หรือไม่นั้น รัฐบาลจะตั้งได้อย่างไร รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ คิดว่าให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการแก้เข้ามาเสนอดีกว่า จะให้ตอบว่ารัฐบาลจะเสนอหรือไม่นั้น ไม่ตอบ เพราะยังไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาล


          "ใครจะใช้อำนาจรัฐก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบนี้ ถ้าใครจะแก้รัฐธรรมนูญก็มีกลไกอยู่แล้ว และคนในรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ผมไม่ได้พูดนะว่าบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนโยบายรัฐบาล อย่ามั่ว เพราะนายกฯ เพียงบอกว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุน อย่าเอาผมไปเป็นเชลย ผมพยายามอธิบายให้ฟัง และหากกระบวนการจะต้องทำประชามติก็ต้องทำ ต้องถามประชาชนก่อน ใครจะแก้ก็ต้องทำประชามติก่อน ซึ่งต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายมากมาย” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว


          ขอความเห็นแตะปม“แก้รธน.”
          ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ถึงการประชุมครม.ชุดเก่านัดพิเศษส่งท้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์นำร่างนโยบายรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อรัฐสภา เข้าหารือในที่ประชุมเพื่อสอบถามความคิดเห็นว่ามีเรื่องใดที่อยากให้เพิ่มเติมหรือไม่ เพราะได้ดำเนินงานมาในฐานะรัฐบาลเก่า มีอะไรที่รัฐบาลใหม่ต้องไปทำต่อในแต่ละด้าน ทั้งระยะสั้น ระยะยาว อยากให้ช่วยแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นนโยบายที่เกิดจากการผสมหลายพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมรับฟังด้วย เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องนำร่างนโยบายรัฐบาลไปปรับปรุงถ้อยคำให้เกิดความถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างนโยบายรัฐบาลที่นายกฯ แถลงต่อรัฐสภา จะเป็นส่วนของร่างนโยบายในกรอบกว้างๆ ที่เน้นย้ำแนวทางการทำงานของรัฐบาลใหม่ ต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย และนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้หารือกันว่าจะระบุไว้ด้วยแต่จะใช้คำพูดกว้างๆ ที่ทุกฝ่ายรับได้


          ขู่อธิบดีกรมไหนเอียงโดนเล่นงาน
          พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการพูดคุยกับรัฐมนตรีใหม่ว่า วันที่ 18 กรกฎาคม จะมีการปฐมนิเทศรัฐมนตรีช่วยคนใหม่ โดยกระทรวงมหาดไทยทั้งกระทรวง ไม่ว่าจะปลัด รองปลัด อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เจ้าหน้าที่ทุกทบวง กรม จะพูดคุยสรุปให้รมช.ใหม่ฟังว่ามีหน้าที่และภารกิจอะไรบ้าง และตนก็จะพูดในเชิงนโยบายว่าจะมีแนวทางการทำงานอย่างไร และจะเปิดโอกาสให้รมช.ใหม่ทั้งสองคน ได้สอบถามเกี่ยวกับการทำงานด้วย จากนั้นจะเริ่มทำงานทันที โดยจะนำรมช.ใหม่ทั้งสองคน ลงพื้นที่ตรวจราชการ 6 กรม 7 รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ทั้งนี้ มีหลักการทำงานคือทำงานร่วมกัน เติมเต็มกันทางด้านความคิด และช่วยกันบริหารงานให้ประชาชนได้ประโยชน์


          “ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสิงห์ทองเยอะที่สุด และยังเป็นนายอำเภอ กับปลัดอำเภอจำนวนมาก ถือเป็นไปตามอัตโนมัติ เพราะผมก็ยืนยันว่าไม่มีการแบ่งแยก แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมระวังอยู่ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองขอให้อย่าไปยุ่งเรื่องการแต่งตั้ง ปล่อยให้เขาดำเนินการไป แต่ถ้าคนคุม คุมไม่ได้ ผมจะเป็นคนคุมเอง ถ้าอธิบดีกรมไหนเอียง หรือเลือกแต่พวกพ้อง ผมจะเล่นอธิบดี” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว


          คนกรุงชอบเลือกผู้ว่าฯกทม.ตรงข้าม
          นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ยังกล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นว่า อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด แต่ขอให้มีการประชุม ครม.ใหม่ก่อน เพื่อให้มาคิดร่วมกัน ให้ทุกคนให้ข้อเสนอแนะแก่นายกฯ ประกอบการตัดสินใจ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ


          พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนกรณีคุณสมบัติของผู้ว่าฯ กทม.นั้น ต้องถามกลับไปที่ประชาชนว่าต้องการผู้ว่าฯ แบบไหน เพราะประชาชนเป็นคนเลือก และตนไม่มีทฤษฎี เพราะคนกรุงเทพฯ ชอบเลือกผู้ว่าฯ กทม.ตรงข้ามกับรัฐบาล ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ต้องยอม แต่ถึงอย่างไรต้องถามประชาชน


          “จุติ”ยันแก้รธน.มีในร่างนโยบาย
          นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปพูดคุยเรื่องการร่างนโยบายรัฐบาล กล่าวถึงข่าวที่ว่าไม่มีการบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ไว้ในร่างนโยบายรัฐบาลว่า ยืนยันว่ามีการบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในร่างนโยบายรัฐบาล ส่วนรายละเอียดทั้งหมดนั้นยังไม่เห็น ส่วนที่ถามว่ามีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ทราบว่าพรรคการเมืองอื่นคิดอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าบรรจุไว้ในร่างนโยบาย ส่วนถ้าไม่มีบรรจุไว้ พรรคจะทำอย่างไรนั้น ให้เรื่องเกิดขึ้นก่อน ถึงตอนนั้นก็ต้องมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นหัวหน้ารัฐบาล คงต้องฟังเสียงจากประชาชน และสามารถตอบสังคมได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ทราบว่าจะนำเข้าไปคุยในที่ประชุมครม.นัดแรกหรือไม่ ต้องแล้วแต่หัวหน้าพรรค


          ย้ำไม่ใช่เรื่องด่วนที่สุดเท่าปากท้องปชช.
          ต่อข้อถามว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกหลอกให้เข้าร่วมรัฐบาลแล้วหักหลังไม่ทำตามเงื่อนไข นายจุติ กล่าวว่า ไม่มีคำว่าถ้า และขณะนี้เห็นว่าทุกฝ่ายควรมุ่งไปแก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน เพราะปัญหาปากท้องไม่มีเวลามาทะเลาะ ไม่มีเวลาน้อยใจ เพราะเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องปากท้องประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้พอกับรายจ่าย และภารกิจหลักของรัฐบาลชุดนี้คือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน มีปัจจัยลบเยอะ รัฐบาลต้องตั้งหลัก และจับมือกันแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบให้กระทบกับคนไทยน้อยที่สุด ดังนั้นต้องเร่งร่วมมือบูรณาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สร้างบ้านประชาธิปไตยให้สวย แต่คนในบ้านอดอยากตายกันหมดก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน แต่ปัญหาปากท้อง และปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนที่สุดและสำคัญที่สุด


          ‘นิพนธ์’ มั่นใจรัฐบาลไม่เบี้ยวแก้ รธน.
          วันเดียวกัน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีข่าวพรรคร่วมรัฐบาลจับมือพรรคพลังประชารัฐสกัดข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการให้ระบุไว้ในนโยบายของรัฐบาลว่า ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลยังรักษาคำพูดตามเงื่อนไขที่คุยกันไว้ ข่าวที่ออกมายังเชื่อว่าเป็นแค่เบื้องต้น ยังไม่ใช่ร่างนโยบายร่างสุดท้ายที่สภาพัฒน์ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการในการประชุมร่วมยกร่างนโยบายรัฐบาลจะเป็นคนเขียน จึงต้องขอให้ดูร่างนโยบายรัฐบาลร่างสุดท้าย ก่อนที่จะเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณา และจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าในวันที่ 16 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการประชุม ครม.นัดแรก หลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนจะได้เห็นร่างนี้


          “จึงต้องดูสาระและการระบุถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในนโยบายรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร ผมไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้ก่อนเพราะต้องให้เกียรติกัน ทำงานการเมืองสำคัญที่คำพูด ฉะนั้นส่วนตัวผมยังเชื่อว่า อย่างไรเสียเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมีเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้เรียนให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทราบคร่าวๆ แล้ว” นายนิพนธ์กล่าว


          ปัดข่าวพปชร.ต่อรองงดส่งผู้ว่ากทม.
          ด้านราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ และทางพรรคพลังประชารัฐขอร้องให้พรรคประชาธิปัตย์งดส่งผู้สมัครลงไปแย่งฐานเสียงนั้นว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่ามีบุคคลที่เหมาะสมหลายคนที่มีศักยภาพพร้อมทำงานรับใช้ประชาชนพี่น้องชาว กทม. ดังนั้นการส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. คณะกรรมการบริหารพรรคจะพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมเพื่อลงแข่งขันต่อไป ส่วนพรรคอื่นก็ถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองที่จะส่งใครลงสมัครก็ได้ ไม่มีความกังวลใจ และพรรคไม่เคยได้รับการประสานหรือต่อรองจากใครว่าจะไม่ให้ส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เพราะหลักการคือ เป็นสิทธิของพรรคการเมืองอยู่แล้ว


          “สมพงษ์”ดอดบินพบ“แม้ว”ที่ฮ่องกง
          ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายทักษิณได้บินมาทำธุระที่ฮ่องกง โดยมีสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) บางรายเดินทางไปพบ โดยเฉพาะนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ที่นำส.ส.เหนือหลายคนบินไปพบนายทักษิณด้วย ทั้งนี้นายสมพงษ์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบจ. ที่อาจจะมีขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่ปัญหาเรื่องการวางตัวบุคคลที่จะลงสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ. ในหลายจังหวัดในส่วนของพรรคเพื่อไทยยังไม่ลงตัว เช่น เชียงราย ฯลฯ ดังนั้นการไปพบนายทักษิณครั้งนี้อาจมีการพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าวด้วย


          “ภูมิธรรม” เผย “สมพงษ์” พร้อมแล้ว
          ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการอภิปรายนโยบายต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม ว่า นายสมพงษ์จะทำหน้าที่อภิปรายในฐานะหัวหน้าพรรค แต่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนเสนอชื่อนายสมพงษ์ให้ประธานสภานำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปตามขั้นตอน คาดว่านายสมพงษ์จะได้รับโปรดเกล้าฯ ภายหลังจากการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น แต่ในช่วงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นายสมพงษ์น่าจะทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้อย่างเต็มตัว


          อนุดิษฐ์ลั่นเตรียมผู้อภิปรายไว้แล้ว
          ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ครั้งแรก เพื่อเตรียมการอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า เป็นภารกิจของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของงานสภา ตามกำหนดการวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ครม.จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน จากนั้นคาดว่าจะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะอภิปรายในช่วงวันที่ 25-27 กรกฎาคม จากนี้ไปจนถึงวันอภิปรายถือว่าเหลือเวลาไม่มาก ฉะนั้นในระยะเวลาอันจำกัด พรรคต้องมีการประชุมหารือเพื่อเตรียมการในการอภิปรายดังกล่าว


          เมื่อถามว่า การเตรียมความพร้อมในการอภิปรายทักท้วงมีอะไรบ้าง น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนในขณะนี้คือ สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย รวยกระจุก จนกระจาย จนปัญหาเกิดขึ้นทั่วประเทศ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วเราจึงควรมีรัฐมนตรีมาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เราจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบในทุกเรื่อง ซึ่งหลังจากการแถลงนโยบายแล้วการบริหารงานจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ได้มีการวางตัวบุคคลที่จะอภิปรายนโยบายของรัฐบาลไว้แล้ว ยืนยันว่าจะไม่มีการตีรวน และจะขอหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันในเร็ววันนี้ด้วย ขณะเดียวกันก็จะรอรัฐบาลส่งรายละเอียดของนโยบายมาด้วย เพื่อจะได้พิจารณรายละเอียดว่าต้องอภิปรายในเรื่องใดบ้าง โดยตนจะเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายที่จะพูดถึงภาพรวมทั้งหมดของนโยบายว่าเป็นไปตามที่หาเสียงกับประชาชนหรือไม่


       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ