ข่าว

เครื่องติด "กรณ์" ชวนถกนโยบายสวัสดิการคนจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนถกนโยบายสวัสดิการคนจน "กรณ์" ชี้ ทำให้ยุติธรรมทุกฝ่ายคือความท้าทาย

 

               นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับเชิญไปบรรยายให้กลุ่มธุรกิจ Local Modern Trade จัดโดย ยูนิลีเวอร์ และได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij โดยระบุ จากการพบปะพูดคุยกับผู้บริหารยูนิลิเวอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งในโลก ทำให้ทราบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยทุกคนใช้สินค้าของยูนิลิเวอร์คนละสองครั้งต่อวัน ทุกวัน แม้แต่ตัวเองก็ยังใช้สินค้าของเขาด้วยเช่นเดียวกัน และยังได้พูดคุยกับบรรดาโชห่วยและร้านค้าท้องถิ่นจากทั่วประเทศซึ่งมาออกร้านภายในงานด้วย โดยได้หยิบยกประเด็นการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี มีการประมาณการว่า ทุกครั้งที่มีการเปิดร้านสะดวกซื้อ 1 ร้าน ตามสถิติจะมีร้านขายของชำต้องปิดกิจการมากถึง 7 ร้าน จะจริงเท็จแค่ไหนโดยส่วนตัวไม่มีข้อมูลยืนยัน

 

 

 

               นอกจากนี้ ยังได้คุยกันถึงนโยบายบัตรสวัสดิการของรัฐ บัตรสวัสดิการของรัฐ (บัตรคนจน) เป็นที่นิยมโดยชาวบ้านทั่วประเทศอย่างมาก นโยบายนี้ใช้เงินภาษีช่วยผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน ด้วยเงินงบประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท โดยที่ต้องใช้บัตรเพื่อซื้อของตามร้านธงฟ้าเท่านั้น โดยนายกรณ์ ได้ระบุถึงผู้ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวว่าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

               กลุ่มแรก โชห่วยที่เข้าโครงการธงฟ้า 60,000 ร้าน กลุ่มที่ 2 ผู้ผลิตสินค้า 15 รายที่ได้รับเลือกเข้าโครงการ (เช่น สหพัฒน์ ทิปโก้ Unilever) และกลุ่มที่ 3 ได้แก่ประชาชนผู้ยากจน 14 ล้านคน ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เคยหาเสียงไว้ว่า จะเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรเป็น 800 บาทต่อเดือน และเราจะให้สิทธิ์ผู้ถือบัตรสามารถถอนเป็นเงินสดเพิ่อใช้ที่ใดก็ได้ ตามแนวความคิดของประชาธิปัตย์น่าจะส่งผลดี 6 ประการ คือ 1. ผู้ถือบัตรคล่องตัวขึ้น ไม่ถูกบังคับให้ต้องซื้อเพียงสินค้าที่ถูกกำหนดมา 2. พ่อค้า แม่ค้าทั่วไปที่ไม่ได้เป็นร้านธงฟ้าจะได้ประโยชน์ 3. เศรษฐกิจชุมชนจะดีขึ้นจากเงินหมุนเวียน 4. ยอดขายร้านธงฟ้าจะตก ส่งผลให้ร้านโชห่วยแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อยากขึ้น 5. ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ 15 ราย จะมียอดขายลดลง 6. การใช้เงินโดยผู้ถือบัตรจะอยู่นอกระบบภาษีมากขึ้น
 

 

 

               ส่วนคำถามว่าโครงการนี้เข้าข่าย ‘ประชานิยม’ หรือไม่ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ใช่แน่นอน และจะเลิกยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นการเสริมรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีประสิทธิภาพพอสมควร ไม่รั่วไหลเพราะยิงตรง และไม่มีการทุจริตเมื่อเทียบกับโครงการที่ต้องผ่านขั้นตอนราชการ ขณะที่ในต่างประเทศมีแนวคิดเรื่อง ‘Universal Basic Income’ (UBI) - คือหลักคิดว่าประชาชนทุกคนมีควรมีสิทธิ์มีรายได้ขั้นตํ่าที่รัฐต้องดูแล

               “ไทยเรายังยากจนเกินไปที่จะก้าวสู่ UBI อย่างเต็มรูปแบบ (และส่วนตัวผมยังเชื่อว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องทำงาน ไม่ใช่รอรับเงินอย่างเดียว) แต่เราดูแลผู้มีรายได้น้อยได้ด้วยบัตรสวัสดิการ และการประกันรายได้เกษตรกร แต่จะทำอย่างไรให้ยุติธรรมที่สุดกับทุกฝ่ายคือความท้าทาย” นายกรณ์ กล่าว

               วันเดียวกัน นายกรณ์ ยังได้ร่วมงาน TechSauce2019 ซึ่งเป็นงานที่รวมตัวของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ในวงการสตาร์ทอัพ โดยขณะที่พูดคุยกับนักธุรกิจอยู่นั้น ได้มีเด็กผู้หญิงคนนึง ทราบภายหลังว่าอายุเพียง 10 ขวบ มีตำแหน่งถึง ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท KIDletcoin ซึ่งเป็น startup ที่ช่วยสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและการบริหารการเงิน ด้วยการให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองร่วมกับเด็กๆ ด้วยกันโดยน้องคนดังกล่าวเข้ามาสะกิดและบอกว่า “ขอคุยด้วยหน่อย” โดยเรื่องที่สนทนาเป็นเรื่อง บิทคอยน์ ที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมทั่วโลก

               ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า ทุกครั้งที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว นายกรณ์จะติดแฮชแทค #อยู่ตรงไหนก็ทำงานได้เสมอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ