ข่าว

ไม่รอด !!! สนช.เซ็ตซีโร่ กสม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช. โหวตเซ็ตซีโร่ กสม. หลังกมธ.กลับลำขอกลับไปสู่ร่างเดิมของกรธ.



          17 ส.ค.60 - ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภา โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ... โดย พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกล่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการฯได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 67 มาตรา มีการแก้ไขคำปรารภ และแก้ไขทั้งหมด 18 มาตรา ซึ่งมีคณะกรรมาธิการฯขอสงวนคำแปรญัตติ 5 คน และสมาชิกสนช. 3 คน
          จากนั้นได้พิจารณาเรียงตามลำดับรายมาตรา โดยจนถึงมาตรา 60 ว่าด้วยว่าการดำรงอยู่ของกสม.ชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขให้ประธานกสม.และกสม.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ปี (ครึ่งวาระ) นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ซึ่งมาตรานี้มีกรรมาธิการสงวนความเห็นและมีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติ คือ 1.กรรมาธิการจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนางจุรี วิจิตรวาทการ ที่เสนอให้กสม.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมด แต่ให้รักษาการจนกว่าจะมีกสม.ชุดใหม่ เนื่องจากการได้มาซึ่งกสม.ชุดปัจจุบันไม่ได้มีความหลากหลายทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสอันเป็นหลักการสากล และ 2.สมาชิกสนช.นำโดยนายกล้านรงค์ จันทิก พร้อมด้วยนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการกสม.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญที่ต้องการให้ กสม.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ เพราะกสม.ได้รับการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ที่45/2557
          นางจุรี วิจิตรวาทการ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า กลุ่มของตนมีแนวคิดที่ 1 คือ เซตซีโร่ กสม.เนื่องจากเห็นว่า กสม.ต้องทำงานในองค์กรร่วมกับเวทีสากล เราจึงต้องปฏิบัติตามหลักการสากล คือ กฎปารีส แต่ขณะนี้การสรรหากสม.ของเรายังมีปัญหาที่ไม่ตรงไปเป็นกฎกติกา ซึ่งตนได้มีการคุยกับเจ้าหน้าที่สากลของหน่วยงานสิทธิมนุษยชน เขาก็มองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ที่ต้องการให้คนที่มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลายเข้ามาดำรงตำแหน่ง เหตุผลที่ยกมาน่าจะสมเหตุสมผลเนื่องจากกฎหมายนี้เราพิจารณาโดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
          ด้านนางภิรมย์ ชี้แจงว่า ตนขอสงวนความเห็นโดยเห็นควรให้กสม.ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระในปี 2564 เนื่องจากขณะนี้หลักการปารีสได้รับรองจากสถาบันทั่วโลก มีเนื้อหาตามขอบเขตหน้าที่ อำนาจเหล่านี้ กสม.เรามีกระบวนการประเมินและพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักการปารีส และ กสม.ก็ได้ปฏิบัติตามกฎโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม คือ กระบวนการได้มาที่ยังขาดหลักประกัน เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่รองรับ ซึ่งกสม.มีหน้าที่สามารถดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อทบทวนแนวทางการทำงานที่ยังไม่เป็นไปตามกฎกติกาปารีสภายในปี 2561 ดังนั้น ที่ตนให้กสม.อยู่จนครบวาระเพราะมีความหลากหลายและได้รับการสรรหาโดยชอบ ตามคำสั่งคสช. และผ่านความเห็นชอบของสนช.เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558
          ขณะที่นายกล้านรงค์ ชี้แจงว่า ตนต้องการให้ประธานกสม.และกรรมการกสม.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.นี้จะใช้บังคับ ยังคงให้ดำรงตำแหน่งต่อไปก่อนครบวาระในปี 2561 ดังนั้นสิ่งที่ต้องการให้ กสม.ชุดนี้อยู่ต่อ คือ ทำอย่างไรจะไม่กระทบสิทธิ เพราะเราตั้งคุณสมบัติสูงขึ้น แต่กสม.อาจไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติเหมือนกับ ป.ป.ช. หรือ สตง.เพราะกสม.เขามีสิทธิได้รับผลประโยชน์โดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยกฎหมายในขณะที่แต่งตั้ง กสม.เข้ามา
          ประธานที่ประชุมต้องสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาทีเพื่อให้สมาชิกสนช.หารือเป็นการภายใน ว่า จะเห็นเป็นอย่างไร จนกระทั่งเวลา 12.50 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง โดยพล.ร.อ.วัลลภ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ขอกลับไปสู่ร่างเดิมในมาตรา 60 ตามที่ กรธ.ตามที่กรธ.เสนอ คือ ให้ประธานกสม.และกสม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกสม.และกสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา 60  เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสนอด้วยคะแนน 117 ต่อ 20 งดออกเสียง 8 เสียง และได้มีการปรับแก้ไขระยะเวลาการสรรหา กสม.ชุดใหม่ให้เสร็จภายใน 320 วัน ซึ่งในระหว่างนี้กสม.ชุดเดิมก็จะรักษาการไปก่อน
          จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ด้วยคะแนน 199 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ จากนี้ทาง สนช.จะส่งร่างให้ กสม. และ กรธ.เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อให้พิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ต่อไป.

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ