สังคมไทยเข้าสู่ตาจน !!
เสวนารำลึก"เกล็น ดี.เพ้นจ์"ยกผลศึกษา"รัฐศาสตร์ ไม่ฆ่า"สะท้อนความรุนแรงสังคม มาจากทัศนะคติผู้นำที่ยอมรับความรุนแรง "นักวิชาการสันติวิธี" ชี้สังคมไทยเข้าสู่ตาจน
1 มี.ค. -- ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ ร่วมจัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ผู้นำ อำนาจ การเมือง รัฐศาสตร์จาก "ฆ่า" สู่ "ไม่ฆ่า" เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.เกล็น ดี.เพ้นจ์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกา ผู้แต่งหนังสือเรื่อง "Nonkilling global political sciences - รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยวัย 87 ปี โดยมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยน.ส.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อถึงผลงานของ ศ.ดร.เกล็น เรื่อง การศึกษาผู้นำทางการเมืองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่า ตามการศึกษาและเขียนหนังสือดังกล่าว การศึกษาผู้นำทางการเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นตัวแปรแก้ปัญหาการเมืองและสังคมของโลกหรืออาจเป็นบุคคลที่ก่อปัญหาได้เช่นกัน โดยหนังสือและผลการศึกษาของศ.ดร.เกล็น ระบุชัดเจนว่าผู้นำทางการเมืองมีส่วนสำคัญกว่าระบบวัฒธรรมและระบบทางการเมือง เพราะมีอำนาจ, มีศักยภาพที่อยู่เหนือการควบคุมของบุคคลกลุ่มหรือฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงสังคม หรือการเมืองในยุคสมัยนั้น ทั้งนี้เป็นประเด็นที่น่าศึกษาในมุมของผู้นำทางการเมืองต่อไป
น.ส.ชญานิษฐ์ กล่าวถึงปรากฎการณ์ของสังคมกับผู้นำทางการเมืองคนใหม่ของประเทศอเมริกาด้วยว่า สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งขอนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาพบปรากฎการณ์ของสังคมคือ ตกอยู่ภายใต้ความกลัว และความตกใจของการเข้าสู่ตำแหน่งของนายโดนัล ทรัมป์ เพราะเขากลายเป็นสัญลักษณ์ความชนะด้านการกีดกัน, การแบ่งแยกบุคคลที่ไม่ใช่อเมริกันชน แม้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายหรือการประกาศนโยบายของรัฐอย่างชัดเจน
นายศิโรตม์ คล้ายไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ฐานะผู้แปลหนังสือ "รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า" กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือตอนหนึ่งว่า ข้อความของหนังสือที่ส่งสัญญาณสำคัญมายังนักรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ คือ การฆ่า หรือการใช้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ จากเดิมความเชื่อของวงวิชาการหรือสังคมทั่วไปมองว่าการฆ่า หรือความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เนื่องจาก ศ.ดร.เกล็น สามารถพิสูจน์ และอธิบายข้อเท็จจริงจากการตั้งคำถามกับอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองของนักทฤษฎีการเมืองที่ได้รับการยกย่อง
ทั้งนี้มีคำอธิบายว่าสังคมในยุคสมัยเสพติดการใช้ความรุนแรงและการฆ่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จนกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ สะท้อนจากการใช้ภาษา ดนตรี ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งนี้สาระของหนังสือรัฐศาสตร์ไม่ฆ่านั้น ระบุว่าสังคมสามารถยุติการใช้ความรุนแรง การฆ่า รวมถึงการขู่ฆ่าได้ โดยเริ่มจากเจตจำนงทางการเมือง และผู้นำทางการเมืองที่ยึดแนวคิดไม่ใช้ความรุนแรง นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่าพื้นฐานของมนุษย์ที่ฆ่ากัน มาจากความกลัว เพราะความไม่รู้ การไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นได้
นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะลูกศิษย์ ศ.ดร.เกล็น ที่สถาบันฮาวาย กล่าวว่า ศ.ดร.เกล็น คือนักสังคมศาสตร์ ที่เอาใจใส่ต่อการศึกษาของนักศึกษา และดูแลชีวิตของคน ให้เติบโตแบบไม่บังคับ ถือเป็นส่วนน่าสนใจต่อการทำหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอน อย่างไรก็ตามในงานเขียนของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกาที่ศึกษาและน่าสนใจคือ ผลงานต่อการตัดสินใจเข้าร่วมและการใช้ความรุนแรงของผู้นำทางการเมือง โดยตนมองว่าเป็นประเด็นพื้นฐานของความคิดและการเปลี่ยนโลกที่สำคัญ
"เมื่อหนังสือรัฐศาตร์ไม่ฆ่าตีพิมพ์ อยู่ในช่วงปี 2002 แต่ช่วงนั้นมีเอกสารสำคัญที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก ว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่กระทบสุขภาวะของต่อสาธารณะ สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่อประเด็นผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายซึ่งผูกคอตาย เพราะมีผู้เชียร์ให้ฆ่าตัวตาย มีคำถามว่าคนผูกคอป่วย หรือสังคมทั้งหมดมีอาการป่วย ผมมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นไม่ต่างกับคนที่ยืนยิ้มกับภาพเหตุการณ์6 ตุลาฯ ทั้งนี้ความขัดแย้งเรื่องนี้ที่สำคัญคือ ความเชื่อของคน ซึ่งผมมองว่าอนาคตสังคมไทยจะมีปัญหา ขณะที่การแก้ปัญหากลับถูกมองว่าต้องใช้อำนาจรัฐ และกฎหมายดังนั้นจะกลายเป็นความอับจนของสังคม ซึ่งอาจเป็นไปแบบผิดทาง ซึ่งหนังสือเรื่องรัฐศาสตร์ไม่ฆ่าชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้" นายชัยวัฒน์กล่าว.