ข่าว

'มีชัย'เปิดร่างรธน.ยันมุ่งประโยชน์ปชช.เป็นหลัก

29 มี.ค. 2559

'มีชัย'เปิดร่างรธน.ยันมุ่งประโยชน์ปชช.เป็นหลัก แจงสว.สรรหา ไม่สืบทอดอำนาจ ประเทศไหนก็มี ย้ำ คสช.หมดอำนาจเมื่อมีรัฐบาลใหม่ เชื่อ ไม่ใช่ ม.44 แทรกแซงเลือกตั้ง

             เมื่อเวลา 13.39 น.29 มี.ค. 59 ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ ว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 58 เราได้รับการแต่งตั้งเป็นกรธ. กำหนดทำงานต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 เม.ย.59 แต่เราทำให้เสร็จก่อนเพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบ ตั้งแต่การทำงานครั้งแรก เราประชุมทั้งหมด 115 ครั้ง ร่างฉบับแรก ที่เปิดเผย เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 59 มี 270 มาตรา จากนั้นเราออกไปชี้แจง และสัมมนาทั้งสิ้น 30 ครั้ง มีผู้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม 258 ข้อ มีทั้งจากชาวบ้านทั่วไป องค์กรสำคัญ ศาล องค์กรอิสระ สปท. สนช. ครม. และคสช. ซึ่งเราได้นำมาแก้ไขทั้งสิ้น 88 มาตรา นำมาควบรวม 6 มาตรา เพิ่มใหม่ 15 มาตรา รวมแล้วร่างฉบับสุดท้ายมี 279 มาตรา และกรธ. ได้ทำหนังสือและร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว มาตรา 39/1 เรียบร้อยแล้ว จากนั้นครม. จะส่งต่อไปยัง กกต. เพื่อให้เตรียมการทำประชามติ

             นายมีชัย กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะไม่ได้พูดว่า ประชาชนเป็นใหญ่ แต่เรามุ่งหมายให้เกิดการทัดเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพ โดยเรายึดไปตามหลักของท่าน พุทธทาสภิกขุ ที่ว่า “ประชาธิปไตย ไม่ใช่การมุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ”

             โดยหมวดสิทธิและเสรีภาพ หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และการปฏิรูป มีการแก้ไขมากที่สุด เดิมในร่างแรก เราพยายามเขียนให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ทำให้ระบุถึงสิทธิและเสรีภาพไม่มากนัก แต่ให้มีการรับรองอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากรับฟังความเห็น พบว่า ประชาชนยังไม่เข้าใจ นักวิชาการยังตีไม่แตก มองว่า เป็นการตัดสิทธิของประชาชน กรธ.จึงปรับเนื้อหาส่วนนี้ใหม่ โดยไม่ได้เขียนไว้ลอยๆเหมือนที่ผ่านมา หากเรื่องใดประชาชนต้องได้รับประโยชน์ ก็กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐไว้ เพื่อไม่ต้องให้ประชาชนไปเรียกร้องทีละคน เช่น การศึกษา การสาธารณสุขพื้นฐาน การเปิดเผยข้อมูล พร้อมกำหนดให้ฟ้องร้องได้ หากรัฐไม่ทำ  

             ด้านความเสมอภาคทางเพศ กำหนดให้สตรีต้องได้รับการดูแลคุ้มกัน ตามสภาวะที่อ่อนแอกว่าผู้ชาย ตลอดจนถึงการจัดงบประมาณต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ ด้านพุทธศาสนา มีการเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่อาจเกิดปัญหาและไม่คุ้มค้า จึงกำหนดใหม่ให้ ให้มีการศึกษาและเผยแพร่หลักพุทธเถรวาท เพื่อให้พัฒนาจิตใจและปัญญา พร้อมทั้งบัญญัติกลไก ป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนาทุกรูปแบบ โดยให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม จะได้ให้ครบพุทธบริษัท 4 ถือเป็นครั้งแรกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

             ด้านทางการเมือง ได้มุ่งประโยชน์ประชาชนเป็นหลักสำคัญ ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การประกาศรายชื่อนายกฯก่อนเลือกตั้ง และที่มา ส.ว. เพื่อให้ประชาชนเห็นอนาคตทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ด้านการปราบปรามทุจริต มีความเข้มงวดขึ้น ไม่ให้คนทุจริตต่อหน้าที่และการเลือกตั้ง เข้าสู่การเมืองไม่ได้ตลอดไป พร้อมทั้งหากใครฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็ต้องพ้นตำแหน่ง และอาจจะกลับมาอีกไม่ได้ และยังเป็นหน้าที่ประชาชนที่ต้องไม่ให้การสนับสนุนทุจริตทุกรูปแบบทั้งเอกชน และรัฐ และต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้ความรู้ ว่า การทุจริตเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสทุจริตได้ สำหรับองค์กรอิสระ กำหนดให้มีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีพื้นฐานสูงขึ้น มีการวางกลไกให้ ต้องได้รับการตรวจสอบเหมือนสถาบันการเมืองอื่น

             ส่วนการปฏิรูปนั้นได้แยกออกเป็นอีกหมวดหนึ่งตามข้อเสนอ แบ่ง เป็น 7 ด้านคือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ โดยรัฐธรรมนูญ จะบอกเป้าหมายการปฏิรูปแต่ละด้าน กำหนดให้บรรลุการปฏิรูปตามเวลาที่กำหนด กฎหมายต่างๆที่ไม่เคยทำได้แล้วเสร็จ อย่าง กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ตลอดจนกฎหมายเกี่ยวกับทุจริตที่ไม่เคยทำแล้วเสร็จ ครั้งนี้ เรากำหนดให้ชัดว่า ต้องเสร็จภายใน 240 วัน เพื่อเสนอต่อสนช. พร้อมทั้งกำหนดว่า หากหน่วยงานใดทำไม่เสร็จ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง แน่นอนว่า กฎหมายเหล่านั้น จะเสร็จภายในรัฐบาลนี้ และในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ในบทเฉพาะกาล ให้มีส.ว.มาจากการสรรหา 250 คน ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย โดยมีหน้าที่ดูแลกฎหมาย ที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรม ไปพร้อมกับ หน้าที่การติดตามทวงถามเกี่ยวกับการปฏิรูป

             นายมีชัย กล่าวว่า ต่อไปกรธ. จะทำคำชี้แจงเนื้อหาสรุปเป็นเล่ม เพื่อส่งให้กกต.ไปแจกจ่ายประชาชนอย่างทั่วถึง ภายใน 15 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด และระหว่างนี้จนถึงก่อนถึงวันที่ 7 ส.ค. กรธ.ก็จะเริ่มทยอยออกไปชี้แจงรายละเอียดสำคัญให้ประชาชนทราบ เพื่อตัดสินใจลงประชามติ โดยกรธ.จะร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม และกกต. ในการชี้แจง โดยตนได้รับการประสานงานเบื้องต้นจาก กมธ.วิสามัญ พิจารณา ร่างพ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของ สนช. ว่า ยอมปรับให้ กรธ. สามารถเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเตรียมพร้อมการทำประชามติได้แล้ว ต่อไปนี้ร่างจริงออกมาแล้ว อย่าฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง หากติดขัดอะไร ให้มาถามกรธ. เราจะช่วยอธิบายให้ ภายหลังการแถลงเสร็จสิ้นนายมีชัย ได้เปิดให้สื่อมวลชนทำการซักถาม

             เมื่อถามว่าข้อห่วงกังวลเรื่องเงื่อนไขการใช้ชื่อนายกฯนอกบัญชีรายชื่อที่เสนอ นายมีชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องใหม่จะเกิดอะไรขึ้นคงเดาได้ยาก เขียนเปิดช่องไว้ แต่ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่ต้องใช้ เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากมาก หากส.ว. ไม่เห็นชอบ นายมีชัย กล่าวว่า การใช้เสียงข้างมากไม่คำนึงถึงทุกภาคส่วน จะเป็นแบบคราวที่แล้ว ที่จะรบราฆ่าฟันกัน เราต้องคิดว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากจะแก้ไข ต้องเห็นดีเห็นงามด้วยกัน ไม่ใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่า หากมีเหตุผลของการแก้ที่ดี วุฒิสภาก็คงเห็นดีเห็นงามด้วย

             เมื่อถามว่าการให้ส.ว.ดูแลหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม มีชัย กล่าวว่า ถ้าเป็นกฎหมายที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมผิดเพี้ยนไป ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา มันอาจมีคนคิดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่ขัดความรู้สึกของประชาชน เราก็มีวุฒิสภาไว้คอยสกัดกั้น ประชาชนได้ไม่ต้องออกมา แต่หากเป็นเรื่องถูกทำนองครองธรรม วุฒิสภาเขาคงไม่ขัดข้อง เราต้องวางใจพวกเขา

             เมื่อถามว่าทำไมต้องมี ส.ว.สรรหา 250 คน นายมีชัย กล่าวว่า เดิมคสช.ขอมาให้มีส.ว.สรรหาเลยทั้ง 250 คน แต่กรธ.ขอว่า 50 ให้มาทดลองระบบใหม่ โดยให้มีการเลือกกันทั้งประเทศ เหลือ 200 คน แล้วให้คสช. เลือกเหลือ 50 คน ส่วนอีก 200 คน ให้มีการตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกจากผู้สมัคร 400 คน เหลือ 194 คน และอีก 6 คน มาจากผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งมี ส.ว.สรรหา ไว้ดูแลการปฏิรูป ให้เกิดความต่อเนื่อง และดูแลด้านกฎหมายที่จะต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ และเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ส่วนส.ว.ที่มาจากผู้เหล่าทัพ ก็ให้มาดูเรื่องความมั่นคง หากมีปัญหาอะไรสุ่มเสี่ยง ก็ให้ส.ว. 6 คน นี้ชี้แจงต่อที่ประชุม จะได้ไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวนอกสภา 

             เมื่อถามว่าการที่มี ส.ว. สรรหาทั้งหมด อาจถูกต่างชาติมองว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย นายมีชัย กล่าวว่า ในโลกมีส.ว.สรรหาหลายประเทศ ดังนั้นไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เขาควรกังวลปัญหาในประเทศของเขามากกว่า เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองกังวลว่า สว.สรรหา เป็นการสืบทอดอำนาจ และยังมี 6 ส.ว.จากกองทัพ จะส่งผลต่อการทำประชามติให้ไม่ผ่านเหมือนกรณีคปป.หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เชื่อว่า ไม่น่ากระทบต่อการลงประชามติ และคิดว่า หากอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ก็เชื่อว่า จะได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดี ดังนั้น อย่าไปกังวลว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะคนเห็นต่างก็ยังเห็นต่างอยู่ดี เราจึงต้องอธิบายข้อเห็นต่างนั้นให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ เช่น ส.ว.สรรหา คือ การสืบทอดอำนาจ การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก

             เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมีข้อห่วงกังวลเรื่องนายกฯคนนอก นายมีชัย กล่าวว่า สื่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ตั้งแต่ร่างเดิม หากสื่อช่วยอธิบายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ ก็เชื่อว่า จะไม่มีปัญหา เพราะกรธ.บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ให้เป็นมติของพรรคการเมือง ซึ่งการเมืองก็ต้องรับผิดชอบไม่ใช่กรธ.

             เมื่อถามว่าคสช.จะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ตลอดจนการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คิดว่า ไม่มี เพราะไม่มีใครสามารถบังคับใครได้ ขณะนี้คสช.มีอำนาจเต็ม ก็ยังมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ แม้คสช.ยังคงมีอำนาจอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล แต่คงมีไม่เท่าปัจจุบัน ซึ่งตน คิดว่าเป็นไปไม่ที่จะใช้ มาตรา 44 สั่งการอะไรได้ ซึ่งคสช.จะหมดอำนาจไปเมื่อมีครม.ชุดใหม่

             เมื่อถามว่าในหมวดปฏิรูป ไม่มีการปฏิรูปกองทัพ เป็นเพราะกรธ.เกรงใจกองทัพใช่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กองทัพ ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกองทัพไม่ได้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ....ของกรธ. ฉบับ ก่อนลงประชามติ มีทั้งสิ้น 279 มาตรา แบ่งเป็น 16 หมวด รวม 105 หน้า