ข่าว

'ซิงเกิลเกตเวย์' ถล่มรัฐบาล!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : 'ซิงเกิลเกตเวย์' ถล่มรัฐบาล! : โดย...สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ (@jin_nation) สำนักข่าวเนชั่น

 
                      ถึงแม้จะยังไม่รู้ชัดๆ ว่าไอเดียของรัฐบาลในเรื่อง “ซิงเกิลเกตเวย์” (Single Gateway) คืออะไร แต่ก็กลายเป็น “ระเบิด” ลูกใหญ่ระเบิดใส่รัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว
 
                      เรื่อง “ซิงเกิลเกตเวย์” (การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศช่องทางเดียว) แดงขึ้นมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน และมีการรณรงค์ให้ลงชื่อคัดค้านเรื่องนี้ในเว็บไซต์ change.org และมาระเบิดตูมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มต่อต้านนัดรวมพลังกันไปถล่มเว็บไซต์ของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่เว็บของกระทรวงไอซีที ซึ่งล่มไปตั้งแต่ก่อนถึงเวลานัดหมาย คือ 4 ทุ่มคืนวันพุธ (30 ก.ย.) จากนั้นก็นัดกันไปถล่มอีกหลายเว็บของรัฐบาล รวมทั้งเว็บของสำนักนายกรัฐมนตรี และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)
 
                      เหตุผลหลักๆ ของกลุ่มคนที่ต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ คือ 1.จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลง 2.กระทบผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 3.กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน 4.กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
จุดต้นเรื่องอยู่ที่หนังสือ “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นข้อสั่งการของนายกฯจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม มีการนำหนังสือดังกล่าวไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เนื้อหาอยู่ในข้อ 4 คือ “ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2558) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการและโครงการสำคัญต่างๆ เร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดตั้ง ซิงเกิลเกตเวย์ที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558 นั้น ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเร่งรัดการดำเนินการเรื่องดังกล่าวและรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไปด้วย”
 
                      อย่างไรก็ตาม มีการไปค้นข้อมูลในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (http://www.cabinet.soc.go.th) จะพบว่าก่อนหน้านั้นได้มี “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” เกี่ยวกับเรื่อง “ซิงเกิลเกตเวย์” มาแล้วถึง 3 ครั้ง 
 
                      ครั้งแรกเริ่มจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ระบุในข้อ 1.2 ว่า “ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ และก่อปัญหาต่อพฤติกรรมและคุณภาพในการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การติดเกมออนไลน์ การเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ก็ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วย”
 
                      หลังจากนั้นก็เป็นการเร่งรัด คือ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ระบุไว้ในข้อ 4.1 ว่า “ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ตามมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558) โดยด่วนต่อไป”
 
                      การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม กำหนดไว้ในข้อสุดท้ายของข้อสั่งการ คือ 2.2.6 ว่า “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต” โดยสั่งให้ดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2558 นี้ และให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558 
 
                      จากนั้นเร่งรัดครั้งสุดท้ายในการประชุมวันที่ 25 สิงหาคม ที่เรื่องแดงออกมา ซึ่งข้อสั่งการจากการประชุม ครม.ทั้ง 4 ครั้งแสดงให้สังคมเห็นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากรัฐบาลตั้งใจจะผลักดันระบบ “ซิงเกิลเกตเวย์” ออกมาให้ได้
หลังเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และมีการแสดงออกด้วยการเข้าไปถล่มหลายเว็บไซต์ของรัฐบาล มีคำชี้แจงออกมาจากฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่คืนนั้น โดย “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกรัฐบาล ว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษา “อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้”
 
                      รุ่งขึ้น “อุตตม สาวนายน” รมว.ไอซีที นัดแถลงข่าวด่วนเรื่องนี้ มีประเด็นสำคัญ 4 อย่าง คือ 1.นายกฯ แค่สั่งให้ไปศึกษา เพื่อให้สร้างปลอดภัยต่อการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชน  ยังไม่มีข้อสรุป และไม่ได้จะทำเป็นซิงเกิลเกตเวย์ 2.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ขอร้องอย่าทำแบบนี้อีก 3.ถือว่าการเข้าไปที่เว็บรัฐบาลจำนวนมากเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ไม่มีการเอาผิด 4.ขอให้เลิกใช้คำว่าซิงเกิลเกตเวย์
 
                      ปิดท้ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยการให้สัมภาษณ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใจความที่สำคัญ คือ ยังไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงการหารือกันเพื่อความปลอดภัยในการใช้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการค้า การลงทุน การกระจายข่าวสาร “ยังไม่ได้สั่งการอะไรทั้งสิ้น ตื่นเต้นกันไปได้” 
 
                      อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในเอกสาร ครม.ที่ปรากฏออกมา มีการใช้คำว่า “เร่งรัด...จัดตั้ง...ซิงเกิลเกตเวย์” ชัดๆ การที่รัฐบาลออกมาย้ำว่า ยังเพียงแค่ศึกษา หรือไม่ได้จะทำซิงเกิลเกตเวย์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เชื่อตาม
 
                      มีการมองว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่รัฐบาลควรจะออกมาอธิบายชัดๆ ถึงความหมายของคำว่า “ซิงเกิลเกตเวย์” ที่มีการระบุในเอกสารสั่งการว่าให้เร่งรัด จัดตั้ง นั้นหมายถึงอะไร เพราะเฉพาะในความหมายของ “ซิงเกิลเกตเวย์” ก็มีความหมายต่างกัน คือ อาจจะหมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศหลายช่องทางเหมือนปัจจุบัน แต่บริหารโดยองค์กรเดียวคือรัฐบาล หรืออาจจะหมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศเส้นทางเดียว 
 
                      “รัฐบาลควรพูดชัดๆ ว่าซิงเกิลเกตเวย์ที่พูดคืออะไร ถ้าหมายถึงการผูกขาด ก็อาจจะผิดข้อตกลงการค้าสากล” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวี
 
                      เช่นเดียวกับ “ไพบูลย์  อมรภิญโญเกียรติ” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ที่บอกว่า “รัฐบาลคงจะต้องพูดชัดๆ ว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดคืออะไร ที่ผ่านมาเหมือนพูดไม่ตรงจุด รัฐบาลบอกว่ายังไม่ได้ทำอะไร แต่ในเอกสารมีความชัดเจนว่าสั่งให้จัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ หรือถ้าจะเป็นการใช้คำผิดก็ต้องพูดออกมาให้ชัด แต่ถึงตอนนี้ถ้าสิ่งที่รัฐบาลจะทำคือซิงเกิลเกตเวย์จริงๆ ไม่ว่ารูปแบบไหน ก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะผิดทั้งกติกาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และกติกาขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ต้องการให้เป็นเสรี ไม่ผูกขาด” 
 
                      ไพบูลย์ บอกว่า เข้าใจว่าเป้าหมายของรัฐบาลคงอยู่ที่เรื่องความมั่นคง แต่รัฐบาลควรใช้กลไกจากกฎหมายที่มีอยู่คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยอาจจะออกกฎกระทรวงตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิเตอร์ เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจัดเก็บข้อมูลให้มากขึ้น หรืออาจใช้วิธีขอให้ศาลสั่งเพื่อให้ผู้บริการเก็บข้อมูลเฉพาะผู้ที่สงสัยว่าจะมีการส่งข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลต้องทำงานหนักขึ้น แต่ก็ดีกว่าใช้ซิงเกิลเกตเวย์ ซึ่งจะเหมือนเหมาเข่ง กระทบผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด
 
                      กลุ่มภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการทำ “ซิงเกิลเกตเวย์” แสดงท่าทีล่าสุดว่า จะทำหนังสือยื่นต่อ คสช. และกระทรวงไอซีที เพื่อให้ทบทวนเรื่องนี้ และขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
 
                      สุดท้ายกรณีของ “ซิงเกิลเกตเวย์” จะจบอย่างไร ต้องรอดู!
 
 
 
---------------------
 
(คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : 'ซิงเกิลเกตเวย์' ถล่มรัฐบาล! : โดย...สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ (@jin_nation) สำนักข่าวเนชั่น)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ