ข่าว

'สุรชัย'ยันวุฒิสภาเดินหน้าเลือกนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สุรชัย'ยันวุฒิสภาเดินหน้าเลือกนายกฯ ยุติความล่มสลายของประเทศด้านต่างๆ วอนรบ.พรรคการเมืองหารือแก้วิกฤต

               เมื่อเวลา 18.12 น.วันที่ 16 พ.ค.2557 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ได้ร่วมกับคณะทำงานได้ร่วมกันแถลงถึงผลการหารือกับหลายฝ่ายเพื่อหาทางออกให้กับประเทศว่า  วิกฤติที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม มีปัญหาทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ต่อมารัฐบาลจะประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ด้วยความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างนำไปสู่การคัดค้านการเลือกตั้ง ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ บัดนี้ กกต.และรัฐบาลรักษาการยังไม่สามารถตกลงกำหนดวันเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่า ไม่อาจคาดเดาได้ว่าประเทศไทยจะมีสภาผู้แทนราษฎรได้อีกเมื่อไร วุฒิสภาในฐานะที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ ไม่อาจนิ่งเฉยได้ ประกอบกับกระแสเรียกร้องของสังคม ต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง วุฒิสภาจึงจัดการประชุมนอกรอบ 2 ครั้ง ระดมความเห็นของวุฒิสภาและที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤติชาติ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้

               นายสุรชัยกล่าวว่า วุฒิสภาได้ประสานทุกภาคส่วนของสังคม โดยจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม องค์กรภาคเอกชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผลการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น ทุกเวทีเห็นตรงกันให้วุฒิสภาทำการแก้ไขวิกฤติชาติ เพื่อยับยั้งความเสียหายไม่ให้ขยายตัว ดังนั้นวุฒิสภาจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ให้มีการแก้ไขวิกฤติชาติ โดยคืนความสงบสุข ความสมานฉันท์ของคนในชาติ ด้วยการจัดให้มีปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอำนาจเต็มเพื่อดำเนินการ 2.เรียกร้อง ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ รัฐบาล และพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลังและลดเงื่อนไขความรุนแรงขัดแย้ง 3.วุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นทุกภาคส่วนมาพิจารณาประกอบ และหากจำเป็นวุฒิสภาจะอาศัยข้อบังคับประชุมของวุฒิสภา เปิดประชุมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ตามประเพณีทั้งของสากล และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย  

               "ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ เราหวังจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล พรรคการเมือง และจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะตระหนักถึงวิกฤติชาติและร่วมมือฝ่าฟันวิกฤติชาติให้จงได้ สำคัญที่สุดหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจะยอมเสียสละ ลดละความคิดดังเดิม ร่วมมือกับวุฒิสภา ก้าวไปสู่การฝ่าฟันวิกฤติไปพร้อมกัน"
    
               ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การนัดหารือกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาลนั้น เนื่องจากได้รับแจ้งว่าติดภารกิจในต่างจังหวัดระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคมนี้ เราจึงจะเลื่อนการหารือเป็นวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม ส่วนเวลาและสถานที่ขอเป็นความลับ



เล็งปรับสูตรทางออกประเทศกับรัฐบาล

    
               นายสุรชัยแถลงเพิ่มเติมต่อกรณีการหารือร่วมกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ว่า หลังการหารือแล้วอาจต้องมีการปรับสูตรทางออกของปัญหาบ้านเมืองอีกครั้ง เพราะการพูดคุยเพื่อชวนมาร่วมทำงานต่อการหาทางออกให้ประเทศ ทั้งนี้ยอมรับว่าเหนื่อยที่ทำงานเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นวิงวอนขอให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมทำงานเพื่อให้ประชาชนมีความหวังว่า หน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกันแก้ปัญหาให้บ้านเมือง นอกจากนั้นขอทำความเข้าใจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งว่า วุฒิสภาไม่ใช่พรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 150 คน ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ดังนั้นขอให้ไว้วางใจวุฒิสภาด้วย
ขีดเส้น 3 วันไม่ทำตามจะดำเนินการเอง
    
               นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะทำงานประสานองค์กรและสรุปข้อมูลของวุฒิสภาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แถลงเพิ่มเติมว่า การพิจารณาว่าวุฒิสภาจะดำเนินการตามเงื่อนไข ข้อที่ 3 ต่อประเด็นการจัดประชุมตามข้อบังคับวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษนั้น อาศัยตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ข้อ 14 วรรคท้าย ที่ระบุว่า ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาเห็นสมควร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้เรียกประชุมเป็นพิเศษ ก็ให้เรียกประชุมได้ และขณะนี้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ถือว่ามีสามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ ส่วนกรอบเวลาที่วุฒิสภาจะตัดสินใจว่าจะเริ่มดำเนินการตามเงื่อนไขที่ 3 เมื่อใดนั้น เบื้องต้นจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด ส่วนจะเป็นภายหลังจากวันที่ 6 มิถุนายน ที่ถือเป็นวันครบกำหนดที่ต้องมีนายกฯ เข้าปฏิบัติหน้าที่หลังจากการยุบสภาหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาดำเนินการให้เร็ว
    
               "โดยเร็วที่สุดนั้น คือต้องขึ้นอยู่กับส.ว. ถ้าเราดำเนินการใดๆ ไปแล้วตามขั้นตอน 1, 2, 3 ไม่ใช่ดำเนินการไปหลายสัปดาห์ ภายใน 1-3 วันนี้ต้องได้รับความร่วมมือมือที่ชัดเจนและถ้าประเทศเดินต่อไปไม่ได้และมีปัญหา วุฒิสภาต้องดำเนินการตามกระบวนการของเรา” นายสมชาย ระบุ

 

"สุเทพ"ไม่พอใจชวนมวลชนกลับเวทีหน้ายูเอ็น
 

               ต่อมาเวลา 18:30น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.ได้ขึ้นปราศรัยหลังฟังการแถลงของนายสุรชัยและคณะ โดยแสดงอาการไม่พอใจข้อสรุปของวุฒิสภา ความว่า "เราได้ยินคำตอบแล้วว่ารอต่อไป ตนจะบอกว่าวันนี้ วินาทีนี้ ที่ตนได้ยินคำตอบ  ตนดีใจมากที่ไม่ต้องพบกันในสภาอีกต่อไป  ตนดีใจที่ได้เลิกเล่นการเมืองทั้งชี้วิต เพราะเบื่อคำพูดแบบนี้  ท่านประธานที่เคารพได้ยินว่าพูดได้อย่างไร   เราก็ไม่อยากคุยกับคุณอีกต่อไปแล้ว ขอบคุณที่ช่วยแถลงให้ทราบว่าในที่สุดคุณก็ยังเกรงใจคนมากเหลือเกิน จากนี้เราจะคิดหาวิธีของเราจะได้ไม่ต้องเล่นลิ้นกับใคร ทำตามประสาเราเป็นไงเป็นกัน"

               จากนั้นนายสุเทพได้นำมวลชนกลับเวทีหลักที่หน้าสหประชาชาติ

 

"จตุพร"ยันชุมนุมใหญ่17-19 พ.ค.


นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. ปราศรัยว่า เรื่องของนายสุเทพกับนายสุรชัยจบแล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ยังไม่จบเชื่อว่าสถานการณ์ในวันที่ 17-19  พ.ค. ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะนายสุเทพคงออกอาละวาดเต็มที่ และ นปช. ต้องเตรียมตัวขั้นสูงสุดจึงเชิญประชาชนมาชุมนุมใหญ่ในวันที่ 17-19 พ.ค. ส่วนการยกระดับจะขึ้นกับสถานการณ์



"สุรชัย"วอนรบ.หารือถึงทางออกประเทศ



               ก่อนหน้านี้เวลา 14.50 น.นายสุรชัยได้รับมอบข้อเสนอปฏิรูปประเทศและหนังสือสนับสนุนให้วุฒิสภาดำเนินการหาทางออกประเทศกับทางเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป และสมาคมนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ หลังการรับมอบหนังสือดังกล่าว และให้สัมภาษณ์ว่าจากการหารือกับทุกฝ่ายได้มีการส่งสัญญาณของการแก้ไขปัญหาออกมาในทิศทางที่ดี แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นที่น่าพอใจ เพราะยังขาดความร่วมมือในระดับที่นำไปสู่การเจรจาที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถคาดหวังได้ว่าวุฒิสภาได้ช่วยหาทางออกร่วมกันในความร่วมมือจากทุกกลุ่ม แต่ตนไม่ละความพยายามและความหวัง

               อย่างไรก็ตามตนหวังว่ารัฐบาลจะให้ความร่วมมือหาทางออกให้กับประเทศไทย ทั้งนี้มีสิ่งที่เป็นกังวลคือการชุมนุมของมวลชนใน 2 ฝ่ายและได้สร้างความกดดันมายังวุฒิสภา โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นัดว่ากลุ่มมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายได้โจมตีตน แต่ไม่เป็นไร เพราะตนมีความอดทน ทั้งนี้ตนมองว่าหากไม่มีผู้ใดเสียสละออกมาทำงานดังกล่าว มวลชน 2 ฝ่ายอาจจะไปตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง และไม่ใช่วิสัยของตนที่จะทนเห็นความเป็นไปดังกล่าวได้

               “ผมยังรอการพูดคุยกับรัฐบาลในนาทีสุดท้าย และทุกนาทีมีค่า ผมอยากให้รัฐบาลทราบว่าอย่าลังเลในการพูดคุย ผมมองว่าการพูดคุยไม่มีอะไรเสียหาย และเห็นว่ามีประโยชน์ เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสังคมว่ารัฐบาลได้ร่วมกับวุฒิสภาในการหาทางออกและได้สร้างบรรยากาศที่ดี อย่างไรก็ตามวุฒิสภาเปิดประตูรอรัฐบาลอยู่ หากรัฐบาลไม่ช่วยก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างไรก็ตามผมไม่มีอำนาจสั่งการหรือบัญชาฝ่ายรัฐบาลได้” นายสุรชัย กล่าว

               ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุที่รัฐบาลไม่มาร่วมเพราะกลัวการกดดันให้ลาออกจากรักษาการ นายสุรชัย กล่าวว่า ยังไม่ได้สรุปในประเด็นดังกล่าว และสิ่งที่วุฒิสภาดำเนินการขณะนี้คือการรับฟังความเห็นทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลเพื่อประกอบการหาทางออกที่ดีที่สุดและทุกฝ่ายยอมรับให้กับประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ผมอยากทำให้จบ ตนไม่ชอบที่จะทำทุกอย่างให้จบแบบไม่จบเช่นนี้

               “คอยดูจะมีคนเอาไปพูดว่าแนวทางที่เสนอ เพราะวุฒิสภาคิดเอง รัฐบาลไม่ได้ร่วมคิด ทั้งที่วุฒิสภาพยายามให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและมีความหวังดีกับประเทศชาติ เราจะฝ่าวิกฤตไปได้ ถ้าทำงานถึงที่สุดแล้วมีคนค้าน ผมก็จนปัญญา” นายสุรชัย กล่าว

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากรับมอบหนังสือและให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแล้ว นายสุรชัยได้เข้าไปเป็นประธานการประชุมวุฒิสภานอกรอบเพื่อสรุปแนวทางหาทางออกบ้านเมือ ร่วมกับส.ว. ที่พบว่ามีการลงชื่อเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 72 คน โดยมีส.ว.สายเลือกตั้งที่ร่วมประชุม ประมาณ 20 คน อาทิ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ส.ว.กทม., น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทรปราการ, นายอภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่, นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์, นายสมเกียรติ พื้นเสน ส.ว.ร้อยเอ็ด, นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ ส.ว.ระนอง, นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ว.กาฬสินธุ์,นายสุชาติ อุสาหะ ส.ว.เพชรบุรี, นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ, นายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ส.ว.เลย, นายทวี ภูมิสิงหราช ส.ว.พัทลุง, นางบุญพา ลิมปะพันธุ์ ส.ว.สุโขทัย เป็นต้น


"วีรวิท"ระบุแผน8ขั้นไม่เคยนำมาพิจารณาวงหารือทางออกบ้านเมือง

               พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ สว.สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานประสานองค์กรและสรุปข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง กล่าวถึงการเผยแพร่เอกสารที่ระบุถึงแนวทางออกของการแก้ไขปัญหาประเทศ 8 ขั้นตอน ว่า ตนไม่ทราบและในการประชุมร่วมกับตัวแทนเหล่าทัพและส่วนราชการ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมาที่เป็นแหล่งที่มาของเอกสาร ไม่ได้มีหารือถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามยอมรับว่าแนวทางที่ระบุไว้ในขั้นตอนหนึ่ง คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะภาพอำนาจของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ว่าจะปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ และมีอำนาจทูลเกล้าฯ นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่วุฒิสภาไม่มีหน้าที่ต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญใหัตีความ โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลรักษาการ หรือนายนิวัฒน์ธำรงเองควรเป็นผู้ดำเนินการ


กปปส.ล้อมสภาฯกดดันวุฒิฯหานายกฯคนกลาง

               ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 12.00 น. ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ได้ทยอยเดินจากพื้นที่การชุมนุมถนนราชดำเนินนอก มายังหน้ารัฐสภา เพื่อติดตามการประชุมวุฒิสภานอกรอบเพื่อหาทางออกให้ประเทศ โดยผู้ชุมนุมกระจายกันล้อมรอบอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน และถนนราชวิถี โดยมีการนำรถปราศรัยของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) จอดหน้าประตูทางเข้ารัฐสภาฝั่งถนนอู่ทองใน และรถปราศรัยของกองทัพธรรม จอดหน้าประตูปราสาทเทวริทธิ์ ฝั่งถนนราชวิถี โดยผู้ชุมนุมกระจายกันนั่งพักผ่อนอยู่ตามใต้ร่มต้นไม้

               นอกจากนี้มีการปิดถนนราชวิถีตั้งแต่แยกราชวิถีตัดถนนพระราม5 ถึงแยกการเรือน และถนนพิชัย จากแยกอู่ทองใน ถึงแยกขัตติญานี ส่วนบรรยากาศในรัฐสภานั้น เป็นไปด้วยความวุ่นวาย เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ล้อมประตูเข้าออกทั้งหมดไว้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการรัฐสภา ต้องเจรจากับแกนนำที่อยู่บนรถปราศรัย เพื่อต้องการเปิดทางให้สามารถเข้าออกได้ กระทั่งเวลา 14.00 น. ผู้ชุมนุมยอมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการรัฐสภา สามารถเดินทางกลับ พร้อมกับนำรถออกจากด้านในรัฐสภา ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรรณ เลขาธิการ กปปส.ได้นำมวลชนเคลื่อนขบวนมาจากเวทีราชดำเนินมาสมทบที่หน้ารัฐสภา

 

ศาลยกคำร้อง“ดีเอสไอ”ขอฝากขัง“สมบัติ ธำรงธัญวงศ์”


               เมื่อเวลา 13.30 น. พ.ต.ท.ไกรวิทย์ อรสว่าง รอง ผบ.สำนักการเงิน และธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสยบไพรี ของ บช.ปส. ประมาณ 10 นาย พร้อมอาวุธ ควบคุม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)ผู้ต้องหา ที่ถูกจับกุมได้ ตามหมายจับศาลอาญา ที่อัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องร่วมกันแกนนำ กปปส.เป็นกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 - 27 พ.ค. นี้ เนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาและอื่นๆ  ซึ่งท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวด้วย เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาอาจจะไปขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดมมวลชน และกระทำผิดซ้ำอีก

               ขณะที่นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทีมทนายความ กปปส. ก็ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใช้ตำแหน่งของ รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี นิด้า เป็นหลักทรัพย์  แต่อย่างไรก็ดี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับผู้ต้องหา โดยระบุในหมายจับว่า “ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหา ให้แก่พนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการนำตัวมาฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น” พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนต่อ หรือสอบสวนเพิ่มเติมไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะขอฝากขังผู้ต้องหา ดังนั้นให้ยกคำร้องฝากขังดังกล่าว

               นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ทีมทนายความ กปปส. กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของดีเอสไอ เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการผิดจากที่เคยแถลงต่อศาล ว่าอัยการพร้อมนำสำนวนและผู้ต้องหายื่นฟ้องต่อศาล แต่อย่างไรก็ดี ทราบว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ กำลังประสานอัยการเพื่อยื่นฟ้องศาลให้ทันภายในวันนี้ ทั้งนี้หากอัยการยังยื่นฟ้องไม่ทัน ตามขั้นตอนก็ต้องปล่อยตัวนายสมบัติไปก่อนเพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัว


โฆษกกอ.รมน.ยันพรบ.ความมั่นคงยังคุมม็อบอยู่ 

               พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกแถลงการณ์จะนำทหารออกมาปฏิบัติการเต็มรูปแบบหากเกิดความรุนแรงว่า เป็นการคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์พัฒนาไปถึงจุดนั้น ส่วนจะเป็นรูปแบบใดก็เป็นไปตามกฎหมายที่สูงสุดในการรักษาความมั่นคงก็คือ กฎหมายอัยการศึก ซึ่งหวังว่าเหตุการณ์จะไม่มีการพัฒนาไปถึงจุดนั้น ทั้งนี้ กอ.รมน.มีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกกลุ่มและคนที่กระทำความผิดก็จะต้องดูดำเนินคดี

               “ผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎอัยการศึกที่ระบุไว้ในมาตรา 4 และ 7 คือผู้บังคับหน่วยขึ้นไป โดยสามารถประกาศใช้ใน 2 กรณีคือ จากฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล และจากฝ่ายทหาร หากเกิดจลาจล โดยกำหนดพื้นที่และระยะเวลา อีกทั้งเมื่อประกาศแล้วต้องรายงานตามสายการบังคับบัญชา ส่วนการยกเลิกก็จะต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ ผบ.ทบ.ได้แถลงการณ์ไปเมื่อวาน ถือเป็นการแจ้งเตือนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามภายใต้กรอบของกฎหมาย และไม่ได้เป็นการชี้นำอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนความจำเป็นในการประกาศกฎอัยการศึก จะต้องมีการใช้อาวุธสงครามเป็นจำนวนมากและเป็นไปอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิต ทั้งนี้หากมีการประกาศใช้ทหารจะมีอำนาจเหนือกว่าข้าราชการพลเรือน สามารถให้หน่วยงานอื่น ๆ ปฏิบัติตามได้ แต่ประเมินสถานการณ์ขณะนี้แล้วยังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแค่พรบ.ความมั่นคงถือว่าเพียงพอแล้ว ทั้งในเรื่องของอัตรากำลังพล” พ.อ.บรรพต กล่าว

               เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.ได้มีการวางแผนในการดูแลสถานการณ์ในช่วง 2-3 วันนี้อย่างไร พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ศอ.รส.เป็นผู้ดำเนินการ สิ่งที่กอ.รมน.กังวลคือการใช้อาวุธสงครามว่าจะแพร่หลายหรือไม่ โดยกอ.รมน.จะเร่งรัดให้ ศอ.รส.บังคับใช้กฎหมายกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย อาทิ กรวยที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลา รวมถึงการขับรถฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติอยู่ที่หอประชุมกองทัพอากาศ ซึ่งภาพเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ลำบากใจในการปฏิบัติงานรวมถึงประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีกลุ่มคนก็พยายามลอบทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมในยามวิกาลก็มีอยู่จริง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ ศอ.รส.ต้องแก้ไข และเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน

               ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานการณ์รุนแรงเกินกว่ากฎอัยการศึกจะนำไปสู่การรัฐประหารเลยหรือไม่ พ.อ.บรรพต กล่าวว่า กฎอัยการศึกถือเป็นยาแรง และไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าการดำเนินการของ ผบ.ทบ. อยู่ในกรอบของกฎหมาย ส่วนกรณีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางนั้น พ.อ.บรรพต กล่าวว่า มีช่องทางและความชอบธรรมหรือไม่ ทุกกลุ่มจะยอมรับหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้คือคำตอบ

 

“อภิสิทธิ์”แนะ3คุณสมบัติ“นายกฯเฉพาะกาล”

                นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ว่า เป็นการปรามให้เห็นว่าถ้าการเมืองไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ ทางกองทัพจึงต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งมีการคาดการกันไปว่ารูปแบบที่กองทัพจะออกมาคืออะไร บางคนคิดถึงกฎอัยการศึก บางคนตีความไปไกลกว่านั้น แต่การที่กองทัพให้กำลังใจคนที่แก้ปัญหา ก็ถือเป็นให้ความมั่นใจกับทางวุฒิสภา เป็นหลักประกันให้คนที่แก้ปัญหาบนความถูกต้องขอให้ทำไป ส่วนฝ่ายที่พยายามสกัดกั้นด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง กองทัพจะเข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุนแรง

               หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่มีข้อโต้แย้งว่ารัฐบาลต้องอยู่เพื่อรักษาการต่อ จึงห้ามไม่ให้มีคนใหม่เข้ามา ถือเป็นคนละเรื่องกันโดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ส่วน มาตรา 181 ระบุว่า คนที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 ให้ทำหน้าที่รักษาการ จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่รัฐบาลกลับไปอ้าง มาตรา 181 เป็นหลัก และมาตรา 180 บอกชัดว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และ 173 ให้เห็นชอบบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรี

               นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการบอกว่าห้ามสรรหาคนใหม่นั้นไม่จริง เพียงแต่การสรรหาคนใหม่เกิดปัญหา คือ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเอง และสิ่งที่คณะของวุฒิสภากำลังดำเนินการ คือ ตามมาตรา 180 ที่ให้ดำเนินการตาม 172 และ 173 โดยอนุโลม และสิ่งที่วุฒิสภาทำ เป็นการหาทางออกให้ประเทศ แต่กลับมีคนกลุ่มเดียวที่พยายามจะอยู่ในอำนาจ ท่ามกลางความเสียหายของบ้านเมือง เป็นคนกลุ่มเดียวที่นอกจากไม่ร่วมมือแล้วยังพยายามเล่นงานวุฒิสภาอีก

               หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า กล่าวถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลว่า ควรมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยผู้ที่ทำหน้าที่สรรหานายกฯเฉพาะกาล จะต้องไปสอบถามฝ่ายต่างๆที่เป็นคู่ขัดแย้งว่าบุคคล ที่ได้รับการเสนอชื่อมานี้เป็นที่ยอมรับหรือไม่ 2.ไม่ควรสังกัดหรือเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และน่าจะประกาศด้วยว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง 3.ต้องเป็นบุคคลที่มีความเชื่อที่จะนำพาประเทศเข้าสู่การปฏิรูป และกลับสู่ระบบการเลือกตั้ง เพราะถ้าเป็นคนที่ไม่มีใจที่จะปฏิรูปเลย เข้ามาอยู่เฉยๆคงแก้ปัญหาไม่ได้ โดยวุฒิสภาควรพูดให้ชัดตั้งแต่ต้น ว่ารัฐบาลเฉพาะกาลต้องทำอะไรบ้าง อยู่นานเท่าไหร่ และขอเป็นกำลังใจให้คนที่ทำงานได้ทำงานให้เสร็จและครบ แต่ถ้าท่านไม่ตัดสินใจนั่นคือการตัดสินใจแบบหนึ่งท่านก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน

               “ถามว่าทำไมรัฐบาลกลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวเลย กับความสับสน ความขัดแย้ง ความสุ่มเสี่ยงของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แล้วคนทั้งประเทศเขากังวล ทำไมรัฐบาลกลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวเลยว่า ตัวเองบริหารไม่ได้ พี่น้องประชาชนเดือดร้อนจากของแพง เกษตรกรไม่มีมาตรการอะไรเลยมาดูแลพืชผลทางการเกษตรในขณะนี้ ปัญหานักลงทุนขาดความมั่นใจ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ทุกคนทุกฝ่ายและสังคม ประเทศชาติ เศรษฐกิจเดือดร้อนนี้ ทำไมรัฐบาลซึ่งเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในเรื่องนี้ด้วยซ้ำเพราะเป็นฝ่ายบริหาร ไม่รู้ร้อนรู้หนาวเลย ไม่คิดเลยว่าจะแก้ปัญหา ใครจะแก้ปัญหากลับไปพยายามสกัดกั้นเขาเสียอีก ข่มขู่เขาเสียอีก เพราะอะไรครับ นอกจากการที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

               ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังใช้อำนาจรัฐไปเป็นประธานที่ประชุม ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และสั่งการดำเนินการกับผู้ที่ถูกหมายจับทั้ง 30 รายนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอเตือนไปยังเจ้าหน้าที่คิดให้ดีว่าทำผิดกฎหมายหรือเปล่า เพราะถ้าร.ต.อ.เฉลิมไม่มีอำนาจ ก็แสดงว่าไปสั่งการทำให้ ศอ.รส.ทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ นอกจากไม่ได้ทำอะไรที่ช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงแล้ว ยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะเรื่องของความมั่นคง ไม่ควรนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเด็ดขาด ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย อย่างนี้บ้านเมืองก็จะมีปัญหาไม่จบไม่สิ้น

 

"จตุพร"ซัดกกต.ไม่ทำหน้าที่บ้านเมืองไม่เดินหน้า

               นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. แถลงข่าวว่า 3 วันต่อจากนี้น่าเป็นห่วงมาก ตนได้ประสานแกนนำ นปช.ระดับภูมิภาคให้นัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 17-19 พ.ค.นี้ จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจถึงความปลอดภัย นปช.ยืนยันชุมนุมอย่างสันติวิธี  อย่างไรก็ตามจะไม่ประมาทเด็ดขาด แกนนำ นปช.มีมาตรการักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตลอดเวลา ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปกป้องตัวเองไม่ให้ใครมาทำร้าย หรือสร้างสถานการณ์การชุมนุมได้

               นายจตุพร กล่าวอีกว่า สำหรับในช่วงเวลา 13.00 น.วันที่ 16 พ.ค.นี้ สมาชิกวุฒิสภาฯ มีการประชุมนอกกรอบนอกกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อหาแนวทางเสนอนายฯ คนกลา  และมีการเลี่ยงคำพูดเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชุดพิเศษ จึงอยากฝากข้อความไปถึงนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาฯคนที่1 และ กลุ่ม ส.ว. อย่าทำอะไรที่เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อประเทศ เพราะสถานการณ์นี้เกิดจาก ส.ว. กปปส. กกต. และองค์กรอิสระ เป็นขบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง จนกำหนดวันเลือกตั้งไม่สำเร็จ และตนคิดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง เพราะ กกต. ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง และประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ แต่อย่ามาโทษว่านายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ที่สามารถรับสนองพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งได้ รวมถึงรัฐบาลรักษาการ ยังสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ส่วนอำนาจอย่างอื่นต้องขอ กกต.อนุมัติ เพราะฉะนั้นบ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้ กกต. ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง


ปธ.กกต.ชี้ ประเมินไม่ได้จัดเลือกตั้งเมื่อใด


               นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่ายังไม่ทราบว่า การเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะการหารือระหว่าง กกต.กับรัฐบาล 2 ครั้งที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ  ขณะนี้รอการประสานงานจากรัฐบาลอยู่ ซึ่งที่จะให้มีการพูดคุยผ่ายระบบวีดีโอ คอนเฟอร์เร้นนั้น  คงต้องถามระดับเจ้าหน้าที่ก่อน เพราะเรื่องของการเลือกตั้งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก  จึงควรเป็นการพบปะพูดคุยกัน จะเป็นการดีกว่า เผื่อมีรายละเอียดที่ต้องถกเถียงกัน  เช่น เรื่องของผู้ที่จะมีอำนาจในการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ที่มีข่าวว่ารองนายกรัฐมนตรี ก็เคยเป็นผู้รับสนองฯ มาแล้ว  ซึ่งเหตุการณ์อาจจะเหมือนกันแต่เหตุข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ก็ต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจ  รวมถึงประเด็นที่อาจเห็นต่างกัน จะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

               นายศุภชัย ยังกล่าวปฎิเสธกรณีมีสื่อมวลชนนำเสนอเหตุการณ์ประชุมร่วม กกต.กับรัฐบาลล่มเมื่อวานว่า กกต.ต้องการยื้อเลือกตั้ง ว่าไม่เป็นความจริง การพูดคุยเมื่อวานไม่สำเร็จไม่ใช่ความผิดของ กกต. โดยก่อนที่จะเริ่มประชุม  ทราบแล้วว่า กปปส.จะเดินทางมาที่โรงเรียนนายเรืออากาศ  กกต.จึงได้เสนอต่อฝ่ายรัฐบาลว่า หากผู้ชุมนุมมาถึงให้เชิญแกนนำผู้ชุมนุมเข้าหารือกับ กกต.และรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลาทางฝ่ายรัฐบาลก็ได้แจ้งขอให้ยุติการประชุมและออกจากห้องประชุมไปก่อน กกต.ด้วยซ้ำ ดังนั้นการนำเสนอของสื่อฯ จึงอยากให้ความเป็นธรรมกับ กกต.ด้วย

               เมื่อถามว่า การพูดคุยยังไม่ประสบความสำเร็จ จะจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จหรือไม่  นายศุภชัย กล่าวว่าเราก็ประเมินสถานการณ์อยู่ และต้องถามฝ่ายความมั่นคง ว่าจะสามารถดูแลความเรียบร้อยในการเลือกตั้งได้หรือไม่  กกต.ไม่อยากพูดเรื่องสถานการณ์อีก เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว หากพูดมาก ก็จะถูกกว่าหาว่าโยกโย้ ซึ่งการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ระบุว่าจะมีการคัดค้านของประชาชนใน 15- 20 จังหวัดหากมีการเลือกตั้ง  ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิด และนำมาหาแนวทางในการป้องกัน ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด

               นายศุภชัย ยังกล่าวถึงการที่ กกต.มอบหมายให้เลขาธิการ กกต.ไปรับฟังความคิดเห็นจากเวทีวุฒิสภา เกี่ยวกับการหาทางออกประเทศ  ว่าเป็นการไปรับฟังข้อเสนอแล้วมาแจ้งให้ที่ประชุม กกต.ทราบ  อันไหนที่ทำให้บ้านเมืองสงบ ส่วนตัวก็เห็นควรสนับสนุน แต่ก็ต้องดูว่า อยู่ในกรอบของเราหรือไม่   แต่เราจะไม่ขัดขวาง อะไรที่ทำให้บ้านเมืองสงบ เราก็สนับสนุน ถ้าเกิดมีการตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางก็ไม่เกี่ยวกับเรา ตนมองเห็นเจตนาดีของว่าประธานวุฒิ อยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่ตำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ