ข่าว

ศึกเลือกตั้งส.ว.เหนือใต้ร่มเงา'เรดโซน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศึกเลือกตั้งส.ว.เหนือ ใต้ร่มเงา'เรดโซน' : รายงาน

               ว่ากันว่า เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในภาคเหนือครั้งนี้ ผู้สมัครโดยเฉพาะในพื้นที่ "เรดโซน" หากไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย โอกาสชนะในสนามที่ต้องการคนดีและปลอดการเมือง ดูเหมือนริบหรี่ยิ่งนัก ยกเว้นเป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดี มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

               อย่างไรก็ตาม รายชื่อผู้สมัครที่ได้การขานไขดังต่อไปนี้ ก็ด้วยเหตุที่พวกเขาหลายคนค่อนข้างเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมือง ซึ่งพอจะบ่งชี้ "หน้าตา" ของวุฒิสภาในสมัยต่อไปได้พอสมควร ขณะที่ยังมีผู้สมัครอีกหลายๆ คนในทุกสนามย่อมเป็นตัวเลือกหนึ่งของผู้มีสิทธิ์กาบัตรว่าเขาจะกำหนดทิศทางการเมืองกันอย่างไรด้วยเช่นกัน

               เริ่มที่ เชียงราย ดูเหมือนจะเป็นจังหวัดเดียวที่แคนดิเดตอย่าง "ครูแดง" เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.มีความใกล้ชิดการเมืองน้อยที่สุด มีประสบการณ์งานพัฒนาชุมชน ชนกลุ่มน้อยและวงการสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ต้องเจอกับคู่แข่งสุดหินอย่าง ปรีชา พัวนุกุลนนท์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อดีตรองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย รู้จักมักคุ้นกับตระกูล "ติยะไพรัช" และศักดิ์ชัย จงสุทธนามณี อดีต ส.อบจ.เชียงราย เขต อ.แม่จัน และเป็นน้องชายของ วันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย และน้องจิราวรรณ วัฒนศิริธร อดีต ส.ว.เชียงราย

               ส่วนเชียงใหม่ แดน "ชินวัตร ซิตี้" มีผู้สมัครตบเท้าเข้าอย่างคึกคัก เริ่มจาก ถาวร เกียรติไชยากร อดีต ส.ว.เชียงใหม่ เป็นน้องชายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต.ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย, ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนใน จ.เชียงใหม่ ผู้ขับเคลื่อนและมีส่วนสำคัญในการร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร กฤษณพงษ์ พรมบึงรำ แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และ อดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งยื่นใบลาออกและมีผล 4 มีนาคม 2557 เป็นอีกหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับแกนนำ ส.ส.เพื่อไทย

               ที่พิษณุโลก สุรินทร์ ฐิติปุญญา เจ้าของโตโยต้าพิษณุโลก อดีตส.ว. และอดีตนายก อบจ.พิษณุโลก หลังจากหมดวาระ ปี 2556 ก็ดันบุตรสาว "วีรี ฐิติปุญญา" ลงสมัครแทน แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลกคนปัจจุบัน พบกับ เปรมฤดี ชามพูนท อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 5 สมัย ภรรยาของสุชน ชามพูนท ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตส.ส.พิษณุโลกหลายสมัย ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมือง โดยเป็นหัวหน้าคณะลูกนเรศวรที่ผูกขาดตำแหน่งบริหารและสภาของเทศบาลนครพิษณุโลกมายาวนานมาก

               ที่ลำพูน ตรี หรือ มนตรี ด่านไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นพี่ชายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน คนปัจจุบันจากพรรคเพื่อไทย เคยลงสมัครนายก อบจ. แต่พ่ายแพ้ จึงหันหลังให้การเมืองไปสวมบทนักธุรกิจและช่วยเหลืองานสังคม แข่งกับ นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.ลำพูน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (2544) ถือเป็น 1 ใน 4 ส.ส.ภาคเหนือที่สามารถเอาชนะกระแสพรรคไทยรักไทยได้ และเคยเป็นอดีต ส.ว. แต่ถูกยกเลิกเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยา หันมาลงสมัครนายก อบจ.ลำพูน (2551) ได้รับชัยชนะจนมาพ่ายแก่นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ จากเพื่อไทย ขณะที่ ดิเรก ก้อนกลีบ อดีตผู้ว่าฯ ลำพูน ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองใหญ่ก็ถือเป็นคู่แข่งขันสำคัญด้วยเช่นกัน

               ด้าน แพร่ ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ อดีตเลขานุการ อนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ มีความสัมพันธ์อันดีกับ นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.แพร่ เขต 2 พรรคเพื่อไทย เพราะเคยหลีกทางให้ลง ส.ส.แทน ก่อนหันไปลงสมัคร นายก อบจ.แพร่ ปะมือกับ สามชาย พนมขวัญ อดีต ส.ส.ร. ซึ่งแนบแน่นกับประชาธิปัตย์ เป็นพี่ชายของสองผู้กว้างขวาง ขวัญชัย พนมขวัญ อดีต ส.ว.แพร่ และโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ สนามนี้เผ็ดร้อนไม่แพ้กัน

               ตาก เป็นพื้นที่เดียวที่ประชาธิปัตย์ครอบครองไว้เหนียวแน่น ชิงชัย ก่อประภากิจ พกดีกรีอดีตนายก อบจ.ตาก 3 สมัย แม้ล่าสุดจะพ่ายแพ้ให้แก่ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจ นายกอบจ.ตาก คนปัจจุบัน แต่ถือว่ามีฐานเสียงเดิมในพื้นที่ อ.เมือง และ 5 อำเภอชายแดน ขณะที่ ฟรีอี เละเซ็น ทนายความ ทำงานใกล้ชิดกับณัฐวุฒิ และพล.ท.ไกรสีห์ โสภโณดร อดีต ผบ.จทบ.ตาก โดดเข้าต่อกร

               พีรศักดิ์ พอจิต อดีตนายก อบจ.อุตรดิตถ์ และประธานสโมสรฟุตบอลอุตรดิตถ์ เอฟซี  ซึ่งมีสัมพันธ์อันดีกับพรรคประชาธิปัตย์ เบียดกับ วรนุพงษ์ ลภัสจารุนันท์ อดีตส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคความหวังใหม่ ปี 2539 และอดีต ส.ว.อุตรดิตถ์ ปี 2543-2546 ที่ดอดมาสมัครวันสุดท้าย ทำให้สนามอุตรดิตถ์ดุเดือดขึ้นมาทันที

               สุโขทัย หลังเกษียณ ภูมิสิทธิ์ มั่นคง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนศรีนคร อ.ศรีนคร รับตำแหน่งเลขานุการ ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ นายก อบจ.สุโขทัย น้องสาวของสมศักดิ์ เทพสุทิน เจอคู่แข่งอย่าง ประเสริฐ จันทร์แย้ง อดีตนายอำเภอคีรีมาศ ที่มีประสบการณ์พอตัวและชาวบ้านรู้จักมักคุ้น เพราะวนเวียนรับราชการอยู่ในพื้นที่

               น่าน ชิงกันระหว่าง ชัยวุฒิ คูอาริยะกุล เคยสมัครส.ส.น่าน ประชาธิปัตย์ ก่อนจะย้ายมาซบพรรคชาติไทยแต่ก็สอบตก ปี 2549 ได้เป็น ส.ว.ชุดปฏิวัติ กับอนนต์ ตันตระกูล อดีตเทศมนตรีเมืองน่านหลายสมัย และล่าสุดรองนายกเทศมนตรี เป็นส.ว.สอบตกปี 2551 ทั้งคู่ถือแนบแน่นกับคนเสื้อแดง โดยเฉพาะอนนต์ เหนียวแน่นพอสมควร

               วิชัย ด่านรุ่งโรจน์ อดีต ส.อบจ.พิจิตร เขต อ.โพทะเล แนบแน่นกับสายพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ วัดดวงกับสุรสิทธิ์ ฉัตรชัยเดช อดีต ส.ว.พิจิตร ปี  2543-2547 ค่อนข้างญาติดีกับพรรคเพื่อไทยสาย พ.ต.ท.อดุลย์ บุญเสรฐ ทำให้สนามพิจิตรดุเดือดพอควร

               กำแพงเพชร จุลพันธ์ ทับทิม อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร หลายสมัยที่ได้พ่ายให้แก่สุนทร รัตนากร พี่ชายวราเทพ รัตนากร ต้องชนกับ อุดม วราหะ อดีตกกต.กำแพงเพชร ปี 2541-2546 เป็นนักจัดรายการวิทยุและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่เคยสมัครในสนาม ส.ว.ที่ผ่านมา และมีผลคะแนนนับหมื่น

               ลำปาง บุญชู ตรีทอง นักการเมืองลายคราม พ้นจากโทษเว้นวรรคในฐานะกรรมการพรรคไทยรักไทยลงแข่งขันทันที โดยที่ตระกูล "จันทร์สุรินทร์" ยกธงขาวไม่ส่งทายาทร่วมชิงชัย พบคู่แข่งอย่าง วรวุฒิ หน่อคำ อดีตประธานสภาทนายความภาค 5

               ดุจเดียวกับ พะเยา ไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายไพโรจน์ ตันบรรจง อดีตส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ลูกชายคนเล็กของตระกูลตันบรรจง มีฐานการเมืองในพะเยากว่า 20 ปี บวกบารมีผู้บิดา พบคู่ชิงอย่าง เสถียร เชื้อประเสริฐศักดิ์ มีดีกรีอดีตผู้สมัคร ส.ว.พะเยา ปี 2550

...................................


(หมายเหตุ  : ศึกเลือกตั้งส.ว.เหนือ ใต้ร่มเงา'เรดโซน' : รายงาน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ