Lifestyle

ส่องเส้นทางชีวิต"ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา" จากนักกิจกรรมสู่ผู้บริหารม.เกษตรฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องเส้นทางชีวิต"ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา" จากนักกิจกรรมสู่ผู้บริหารม.เกษตรฯ

 อาจกล่าวได้ว่าไม่ได้มากับดวง แต่เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์สำหรับรองอธิการบดีป้ายแดงเพิ่งได้รับแต่งตั้งโดยกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา”รองต๋อย”หรือ  ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัยแค่สี่สิบต้น ๆ แต่ความสามารถล้นเหลือผ่านประสบการณ์มาอย่างโซกโชน ตั้งแต่สมัยเรียนจนก้าวขึ้นมาเป็นอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ทว่าคนทั่วไปอาจจะดูโลว์โปรไฟล์ไม่ค่อยรู้จัก หากแต่นักกิจกรรมด้วยกันก็คงถึงบางอ้อ ยอมรับว่าคนนี้ของจริง
“ผมไม่ได้ไปยุ่งกับสมาพันธ์นิสิตฯ แต่จะเน้นกลุ่มเครือข่ายองค์การนิสิตนักศึกษามากกว่า สมาพันธ์ฯมองการเมือง แต่เรามองกิจกรรมเพื่อนิสิต เพื่อชาวบ้าน การออกค่ายอาสา ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันมากกว่า”

                 ส่องเส้นทางชีวิต"ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา" จากนักกิจกรรมสู่ผู้บริหารม.เกษตรฯ

     ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ม.เกษตรศาสตร์

จากเด็กบ้านนอก อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ที่ต่อสู้ดิ้นรน จนก้าวมาถึงทุกวันนี้ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับ"รองต๋อย"ที่เกิดและเติบโตมาจากครอบครัวชาวนา บิดาเป็นช่างไม้ที่ถูกถ่ายทอดให้กับลูกชายคนสุดท้อง ในการนำความรู้มาต่อยอดในการออกค่ายอาสาฯในฐานะประธานโครงการฯ เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในรั้วนนทรี
“ตอนเด็ก ๆ ค่อนข้างลำบากพ่อแม่ไม่มีฐานะไม่มีเงิน ทำนาปีละครั้งอาศัยน้ำฝน โชคดีพ่อมีอาชีพช่างไม้ รับจ้างทำในหมู่บ้าน ตอนเด็กดิ้นรน ช่วยทำไร่ทำนาทั้งหมด”รองต๋อย ย้อนชีวิตในวัยเด็ก
 การฉายแววนักกิจกรรมของเขาเริ่มปรากฏชัดเมื่อครั้งเรียนอยู่มัธยมปลาย โรงเรียนบ้านหมี่วิทยา จ.ลพบุรี ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญในการผลักดันเพื่อนก้าวสู่ตำแหน่งประธานนักเรียนของโรงเรียน ก่อนจะทำผลงานโดดเด่นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
 “ตอนเด็ก ๆ ฝันอยากเป็นทหาร เพราะลุงเป็นทหาร คิดว่ารับราชการตำรวจทหารจะช่วยพ่อแม่เรื่องสวัสดิการ  ดูมีความมั่นคงก็หวังอย่างนั้น ช่วงหนึ่งไปสอบโรงเรียนเตรียมทหารผ่านข้อเขียน แต่ทดสอบร่างกายไม่ผ่าน เลยเบนเข็มมาอาชีพครู เพราะคิดว่าครูก็รับราชการเหมือนกัน”
ความที่เป็นคนเก่งคณิตศาสตร์  ช่วงจบม.6  จังหวะเดียวกับที่รัฐบาลมีโครงการเร่งพัฒนาครูสอนคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทุนเรียนฟรี 4 ปีหลังจบปริญญาตรีมีตำแหน่งรองรับทันที  เขาไม่รีรอที่จะสมัครร่วมโครงการ  ในที่สุดก็สอบได้สมความตั้งใจเข้าเรียนในคณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนคณิตศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
“ตอนนั้นนักเรียนทุนในโครงการฯ เขารับแค่ 40 คนทั่วประเทศจะเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไหนก็ได้ แต่บังเอิญที่เกษตรฯสอบก่อน พอสอบติดก็ตัดสินใจเอาที่นี่เลย”
จากเด็กมัธยมสู่การเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย  จากตารางเรียนที่แน่นเอี๊ยดก็มีเวลาว่างเหลือเฟือ เลือดของความเป็นนักกิจกรรมก็พุ่งปรี๊ดขึ้นมาทันที โดยเริ่มมุ่งเป้าไปที่ชมรมอาสาพัฒนาฯ   แม้ว่าปีต่อ ๆ มาจะทำงานในระดับที่ใหญ่ขึ้นทั้งสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์และองค์การบริหารนิสิตม.เกษตรฯ(อบก.) แต่ก็ไม่ทิ้งชมรมอาสาฯและค่ายอาสาฯที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมออกค่ายทุกปี 
 “เราเติบโตมาจากเด็กบ้านนอกยากจน   ลำบากอยากไปช่วยเขา เลยมุ่งไปที่ค่ายอาสาฯ เป็นชมรมเดียวที่คิดไป ชมรมอื่นไม่ได้ไปเลย พอเป็นกรรมการชมรมอาสาฯก็ดึงค่ายย่อยไปออกที่ลพบุรีบ้านตัวเอง ไปสร้างสนามกีฬา ทาสีอาคารเรียน ในฐานะประธานโครงการค่าย” 
จากกรรมการชมรมอาสาฯก็ก้าวขึ้นมาสู่ระดับสโมสร รั้งตำแหน่งรองนายกสโมฯ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนผองน้องพี่มากมาย

เมื่อมีเครือข่ายจากคณะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น  จึงมีความคิดที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารนิสิต(อมก.) ก่อนจะได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้น อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในการเลือกตั้งนายก อมก. 
“ตอนแรกไม่คิดว่าจะลงเอง เพราะเพื่อนชวนให้ลงตำแหน่งรองนายก แต่ก็มีหลายคนมาทักว่ารู้จักเพื่อนเยอะนี่ ทำไมไม่ลงเอง ก็ฉุดคิดว่าน่าจะลอง จากนั้นก็ฟอร์มทีมขึ้นมา ชวนเพื่อนจากคณะต่าง ๆ ที่ทำงานสโมสรฯด้วยกันลงสมัครแข่ง  ปรากฏว่าทีมเราชนะเลือกตั้ง  ก็ได้เป็นนายก อมก.”
"รองต๋อย"เริ่มฉายแววความเป็นผู้นำนับแต่นั้นมา ด้วยบุคลิกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ รู้จักเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่  ซึ่งได้สั่งสมประสบการณ์มาจากออกค่ายอาสาฯที่ต้องติดต่อประสานงาน ขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก  การทำงานในตำแหน่ง นายก อมก.จึงไม่ยากอย่างที่คิด
ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายก อมก.1ปี ได้ทำผลงานโดดเด่นไว้มากมาย ทั้งภายในและภายนอก อาทิ การดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ของนิสิต ทั้งเรื่องค่าหน่วยกิจและชีวิตความเป็นอยู่  ส่วนภายนอกนั้นได้ร่วมกับนายกองค์การฯมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
“ณ ตอนนั้นมีหลายเรื่องที่ทำสวัสดิการนิสิต เช่นค่าหน่วยกิตแพง จำนวนห้องเรียนไม่พอ  ถนนหนทาง ไฟฟ้าความสว่างในมหาวิทยาลัยซึ่งผู้บริหารสมัยนั้นอ.ธีระ(สูตะบุตร)เป็นอธิการบดี ท่านก็เปิดกว้าง นิสิตมาหา ผู้นำนิสิตอยากพบ ท่านยินดีให้พบได้ตลอดเวลา”  
4 ปีในรั้วนนทรีโชคดีในความโชคร้าย ปี 2544 ที่เขาเรียนจบในฐานะนักเรียนทุน โครงการฯกลับไม่มีตำแหน่งว่างรองรับ จังหวะเดียวกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการขยายวิทยาเขตไปที่จ.ลพบุรี 
ประกอบกับนโยบายอธิการบดี ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร เปิดโอกาสให้นิสิตที่ทำกิจกรรมเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย เขาจึงถูกเรียกตัวให้ไปทำงานที่วิทยาเขตลพบุรี ในตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ก่อนผันตัวมาเป็นอาจารย์ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร ซึ่งมี รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ เป็นหัวหน้าภาควิชาฯในขณะนั้น หลังวิทยาเขตลพบุรีถูกยุบ เนื่องจากมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ
ระหว่างทำงานก็เรียนควบคู่กันไปด้วย จบปริญญาโท-เอกสาขาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ขณะเส้นชีวิตการทำงานของเขา เริ่มจากนักวิชาการศึกษาแล้วมาเป็นอาจารย์ ก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าภาควิชาส่งเสริมฯ ผู้ช่วยคณบดีคณะเกษตร รองคณบดีวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ ผู้ช่วยอธิการบดี จนกระทั่งก้าวมาสู่ตำแหน่งรองอธิการบดีในปัจจุบัน 
“ช่วงที่อ.วิจารณ์(วิชชุกิจ)เป็นคณบดีท่านก็ตั้งผมเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตั้งแต่ปี 51 ช่วงนั้นเรียนป.เอกด้วย สอนด้วย เป็นผู้ช่วยคณบดีด้วย จนถึงปี 56 พอปี57 เป็นกรรมสภามหาลัยฝ่ายข้าราชการประจำจนถึงปี 59  จากนั้นมาเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เมื่อวันที่ 1 มี.ค.64ที่ผ่านมาครับ”รองอธิการบดีคนเดิมเผย

พร้อมกับความตั้งใจอยากทำในภารกิจที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ ทั้งสายอาจารย์และสายสนับสนุน  เพราะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของมหาวิทยาลัยและตัวบุคลากรเอง โดยพยายามสร้างแรงจูงใจให้เขาทำผลงานวิชาการ การประเมินที่เป็นธรรม  ตลอดจนการเข้ามามีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนในการพัฒนามหาวิทยาลัย 
 “ผมว่าไม่ขาดนะ แต่อยากเติมให้เต็มมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมของบุคคลากรคืออยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมคิดอะไร ทำอะไร ไม่อยากให้บ่นแต่อยากให้บอก บอกมาเลยอันไหนทำได้เราทำทันที อันไหนทำไม่ทัน ท่านก็มาช่วยเราทำ  มาช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งสองฝ่าย นี่คือสิ่งที่อยากให้เกิด”
บทสรุปทิ้งท้ายของรองอธิการบดีที่ชื่อ ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา 

ส่องเส้นทางชีวิต"ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา" จากนักกิจกรรมสู่ผู้บริหารม.เกษตรฯ

ส่องเส้นทางชีวิต"ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา" จากนักกิจกรรมสู่ผู้บริหารม.เกษตรฯ

 

ส่องเส้นทางชีวิต"ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา" จากนักกิจกรรมสู่ผู้บริหารม.เกษตรฯ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ