ไลฟ์สไตล์

จากเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน

จากเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน

02 ธ.ค. 2563

เป็น 'เด็กอาชีวะ'แล้วไง ทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น 'ดร.พระนาย กังวาลรัตน์' อดีตเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน เรื่องและภาพโดย อลงกรณ์ รัตตะเวทิน

“การที่เราจะใช้ชีวิตการทำงานได้ดีนั้น อาจต้องมีต้นแบบและแรงบันดาจใจที่ดีด้วยเช่นกัน”

มุมมองจากศิษย์เก่าราชมงคล CEO รายใหญ่มากความสามารถระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่โดดเด่นทั้งเรื่องงานและการบริหาร สำหรับ ดร.พระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพลังงานและการบริหารจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบ ที่น่าจับตามองอยู่ขณะนี้

 

ความสงสัยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเอ่ยถึงชื่อ ‘พระนาย’ ซึ่งเป็นชื่อที่พระได้ตั้งให้ เป็นคำลำลองสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูงในสมัยก่อน ปัจจุบันเขาอายุ 46 ปี จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) ปริญญาโทและเอก วิศวกรรมศาสตร์ เช่นเดียวกันจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง

 

ดร.พระนาย เล่าว่า ตนเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี พ่อและแม่รับราชการ ทางบ้านผลักดันให้เรียนสูง ๆ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งเดียวที่มีค่าติดตัวเราไปตลอด หลังจากที่เรียนสายช่างมาตลอด ก็มุ่งตรงในการเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ต่อไป ช่วงที่เรียน ป.ตรี นับเป็นช่วงที่สนุก มีพรรคพวกและความสัมพันธ์เหนียวแน่น การเดินทางไปเรียนสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก จึงได้เช่าบ้านอยู่กับเพื่อนด้วยกันย่านพรธิสาร จ.ปทุมธานี

 

“ที่ราชมงคล สอนและสร้างสมความเป็นนักปฏิบัติ เน้นการใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่างเต็มที่ ให้ลุยหน้างานจริง ถือเป็นความโดดเด่นที่พิสูจน์ได้จนถึงทุกวันนี้”

 

ก่อนก้าวมาเป็น CEO เคยทำงานที่บริษัทโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยแห่งหนึ่งมาก่อน และเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้ผันตัวออกมาตั้งบริษัทเกี่ยวกับไฟฟ้าร่วมกับเพื่อนเป็นเวลา 2-3 ปี จนพบว่าตลาดที่เราถืออยู่นั้นเติบโต มีแนวโน้มที่ดีในอนาคต บวกกับทีมงานของเรามีความชำนาญและประสบการณ์มากขึ้น

จึงแยกส่วนมาตั้งเป็นบริษัทของตนเอง เริ่มต้นจากห้องแถวเล็ก ๆ ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมั่นคง และเติบโตเรื่อยมาจนสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันเติบโตกว่า 10 เท่าที่เป็นอยู่เดิม และมีสินทรัพย์มากกว่าหมื่นล้านบาทในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน

 

บริษัทของเราทำ 4 ธุรกิจหลัก คือ (1) ธุรกิจออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าและตรวจวัดจัดการสภาพแวดล้อม (2) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก (3) ธุรกิจจำหน่ายและขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเหลว และ (4) ธุรกิจการก่อสร้าง และจัดหาทางวิศวกรรมของโรงไฟฟ้า คลังแก๊ส และคลังน้ำมัน อีกทั้งมีการลงทุนในธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่ออีกด้วย โดยมีลูกน้องผู้ร่วมงานกว่า 300 ชีวิต

 

ล่าสุดบริษัทได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนยอดเยี่ยมแห่งปี Best Public Company of the Year 2020 จากวารสารการเงินธนาคาร “รางวัลดังกล่าว มองว่าเกิดขึ้นจากการเติบโตของบริษัท ผลกำไร การดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงธรรมาภิบาล หากมองย้อนกลับไปจากธุรกิจห้องแถวเล็ก ๆ ดังที่กล่าว จนจับต้องสินทรัพย์กว่าหมื่นล้านบาท นั่นอาจเป็นเพราะว่าเรามีเหล่ากัลยาณมิตรทางธุรกิจที่ดี”

 

ขณะที่ความสำเร็จทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง พระนายก็ยอมรับว่ามีปัญหา อุปสรรค รวมถึงวิกฤตเกิดขึ้นอยู่บ้าง อย่างที่กำลังประสบอยู่คือการระบาดของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งเล็กกลางใหญ่ต่างได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้นทั่วโลก

 

โดยบริษัทเองก็ประสบปัญหา กล่าวคือ มีการใช้พลังงานน้อยลง ทำให้ยอดขายลดลง รายได้หรือกำไรก็ลดลง แต่มองว่าเป็นโอกาสในการปรับตนเอง “กระแสเงินสด หรือ Cash Flow เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมาก” เราต้องบริหารให้ดี รัดกุม ไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย มีการเจรจาลดดอกเบี้ยกับธนาคาร

 

นำการบริหารแบบ LEAN Management มาปรับใช้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประชุมออนไลน์ การใช้ซอฟต์แวร์ในการพัฒนาตนเอง หรือแม้กระทั่งการดูแลป้องกันตนเอง

 

“บริษัทเราโชคดีอย่างหนึ่งที่มีคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาร่วมงาน พวกเขาสามารถปรับตนเองได้ง่าย เรียนรู้ไว และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา”

 

หากจะมองหาคนร่วมงาน นอกจากการรับคนที่ตรงสาขาแล้ว จะพิจารณาถึงความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นทุ่มเท สิ่งเหล่านี้สังเกตได้จากการทดลองงาน และการประเมินผล ขณะเดียวกันก็ชอบที่คนกล้าลุยงาน และทำงานเป็นอย่างมืออาชีพ

แง่คิดสำคัญที่เชื่อมั่นและใช้มาตลอด นั่นคือ “ถ้าเราทำในสิ่งเราถนัด เราจะทำออกมาได้เป็นอย่างดี” บางคนหลงทางกับธุรกิจ สับสนตลาด สับสนกับลูกค้าเป้าหมาย ดังนั้นการมีทีมที่ปรึกษาทางธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่วนการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ที่จะช่วยพาบริษัทก้าวต่อไป

 

ถามถึงแนวทางในอนาคตต่อจากนี้ พระนาย ตอบอย่างมั่นใจที่ว่า “ทุกธุรกิจและทุกบริษัท ต่างก็ต้องการความมั่นคง การเติบโตด้วยความแข็งแกร่ง เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ในเวลาเดียวกัน และนี่คือโจทย์ใหญ่อันสำคัญของนักบริหาร”

จากเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน

จากเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน

 

จากเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน

จากเด็กอาชีวะ สู่นักธุรกิจหมื่นล้าน

 

จากวิสัยทัศน์และมุมมองทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นทักษะที่ ดร.พระนาย เรียนรู้ สั่งสม ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ และสามารถเป็นต้นแบบจุดพลังให้กับผู้ประกอบการธุรกิจต่อไปได้