Lifestyle

'มานพ คีรีภูวดล' ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ 'คนในข่าว' จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 23-24 พ.ย.62

 

 

*******************************

 

“ในร้ายยังมีดี”

 

พลันที่คนไทยสาย อยู่ไม่เป็น” ได้ยินข่าวร้าย “พ่อฟ้า” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรณีขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อ ในช่วงก่อนสมัคร ส.ส.

 

แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆ ตามมา เพราะมันได้ส่งผลให้ “มานพ คีรีภูวดล” หนึ่งในรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 51 ขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.หน้าใหม่ของพรรคในที่สุด

 

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

 

 

 

ที่สำคัญความฮือฮาของคนไทยคือมานพผู้นี้เขาเป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ หรือชนชาติกะเหรี่ยง ซึ่งมาได้ถูกที่ถูกเวลาในรอยต่อที่สังคมไทยเริ่มตื่นตัวกับการปรับทัศนคติและปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีคดีของ “บิลลี่ พอละจี” เสมือนเป็นแสงไฟจากพลุนำทาง

 

เหนืออื่นใดมานพผู้นี้ไม่ใช่ปกาเกอะญอโนเนม แต่เขาทำงานในพื้นที่มานาน ได้รับการยอมรับจากผู้คน และการที่เขามีลำดับบัญชีรายชื่อที่ 51 จากจำนวนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 128 คนของพรรคส้ม ก็นับว่าไม่ธรรมดา

 

แต่ที่สนุกคือหลังเลือกตั้งจบลง พรรคอนาคตใหม่คือพรรคที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุด ได้เข้าสภามากถึง 50 คน ซึ่งถ้าพรรคได้น้อยกว่านี้วันนี้ของมานพคงมาไม่ถึง

 

 

 

คนบ้านแปะ

 

ชื่อไทยของเขาคือ “มานพ คีรีภูวดล” เมื่อ “มานพ” แปลว่า “คน” และ “คีรีภูวดล” แปลว่า “แผ่นดินแห่งขุนเขา” ชื่อเสียงเรียงนามของเขาก็สะท้อนถึงที่มา และความรักในชาติกำเนิดอย่างไม่ต้องอธิบายซ้ำ

 

มานพเป็นชาว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ใน ต.บ้านแปะ ที่เขาเติบโตมานั้น ในอดีตมีเพียงราษฎรอาศัยอยู่ติดกับลำห้วยและเชิงเขาใกล้ถ้ำแห่งหนึ่ง คือ ลำห้วยแม่แปะ

 

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

ออกพื้นที่สมัยวัยละอ่อน

 

 

 

ข้อมูลบอกว่าชาติพันธุ์ดั้งเดิมของคนที่นี่เป็นชนเผ่า “ลัวะ” หาเลี้ยงชีพด้วยการทำกสิกรรมและหาของป่า เวลาผันผ่านผู้คนมากขึ้นก็ขยายออกไปตั้งบ้านเรือนกระจายตามริมฝั่งแม่น้ำปิงและที่ราบระหว่างลำน้ำปิงและลำน้ำแจ่ม

 

ภายหลังเมื่อมีการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาที่ลานนาไทยแถบแม่สะเรียงถึงเชียงใหม่ เช่น กะเหรี่ยง พวกเขาก็อยู่ร่วมกันได้ มีการส่งรับวัฒนธรรมกันเป็นปกติไม่แบ่งแยก

 

ต่อมาราชการจึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านและตำบล โดยเรียกตามชื่อเดิมของหมู่บ้านว่า “ตำบลบ้านแปะ” ในปี 2539 มาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้มีหมู่บ้านราว 20 หมู่บ้าน

 

สำหรับ “มานพ” ของเรานั้นเติบโตร่ำเรียนมาในถิ่นกำเนิด จบประถมที่ โรงเรียนขุนแปะ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมจอมทอง อ.จอมทอง หรือ “จ๋อมตอง” แบบคำเมือง

 

กระทั่งไปจบปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (สาขาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏลำปาง ปัจจุบันคือ “มหาวิทยาลัย ราชภัฏลำปาง”

 

และขึ้นชื่อว่าชาติพันธุ์ชาวภูเขา เมื่อชีวิตคือป่า ป่าก็หมายถึงชีวิต พวกเขาได้ชื่อว่ามีกฎเกณฑ์การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชนิดที่นักอนุรักษ์ที่ไหนก็ยกนิ้วให้ “มานพ” ก็เป็นเช่นนั้น

 

 

 

 

ชาติพันธุ์รักษ์ป่า

 

ที่สุดมานพก็เดินในเส้นทางที่เหมือนถูกลิขิตว่าต้องมีชีวิตเพื่อผืนป่าและมวลชน เขามีประสบการณ์การทำงานร่วมกับพื้นที่เรื่องรักษาป่ามาอย่างยาวนาน ดังนี้

 

ปี 2541 มานพเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่าย กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บทบาทองค์กรภาคประชาสังคม

 

ปี 2541-2544 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่มอก-เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

พบชาวบ้านงานถนัด

 

 

 

ปี 2541-2545 ทำงานในคณะทำงานสนับสนุนผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชน –ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมจังหวัดลำปางและกองเลขาฯ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

 

2545-2547-ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ตาช้าง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สถาบันสิทธิชุมชน

 

จากนั้นปี 2547-ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ), ผู้ประสานเครือข่ายลุ่มแม่เตี๊ยะแม่แตะ-ผู้ประสานเครือข่ายลุ่มน้ำย่อยอำเภอจอมทอง-ผู้ประสานงานเครือย่ายชุมชนภูมินิเวศดอยอินท์ออบหลวง

 

ทั้งนี้ระหว่างนั้น 2547-2553 เขายังเคยเป็นผู้ดำเนินรายการ “มองคนละมุม” FM100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าเขานี่แหละคือแกนนำในการยื่นหนังสือกับทางพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเสนอให้จัดตั้ง คณะกรรมาธิการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”

 

ที่สุดเมื่อทำงานมวลชนได้ระดับหนึ่ง ถ้าจะให้ถึงใจผัก ต้องเข้าสภาไปเป็นปากเสียงแทนชาวบ้านแบบริงไซด์คนวงใน

 

 

 

 

 

เดินหน้าสู่สภา

 

ว่ากันว่าด้วยบทบาทของชนชาติพันธุ์ที่ชัดเจนโดดเด่น พอฤดูหานักรบลงเลือกตั้งมาถึง สองหนุ่มคู่ซี้ “เอก-ป๊อก” ธนาธร-ปิยบุตร จากพรรคอนาคตใหม่ก็มาชักชวนให้ร่วมทำงานในพรรคในฐานะคณะทำงานชาติพันธุ์พรรคอนาคตใหม่ และมากกว่านั้นคือได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค

 

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

 

 

 

ย้อนไปในช่วงปราศรัยหาเสียงทั้งในส่วนตัวและในการช่วยผู้สมัครส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ “ศรีนวล บุญลือ” หาเสียงเลือกตั้งซ่อมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและปกาเกอะญอในพื้นที่ต่างๆ ตลอดมา มานพไม่เคยรีรอที่จะพูดในประเด็นการต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์

 

โดยนโยบายที่อนาคตใหม่ต้องการจะผลักดันในเรื่องของชาติพันธุ์นั้น เจ้าตัวบอกว่าอยากจะเสนอ “กฎหมายสภาชนเผ่า” เพื่อที่จะทำงานร่วมกับชนเผ่าต่างๆ ทั้งประเทศ ผลักดันกฎหมายว่าด้วยเขตวัฒนธรรมพิเศษในเชิงนโยบาย รวมถึงแก้ไขเรื่องพื้นที่ทับซ้อน สิทธิเชิงซ้อน และกระบวนการในการใช้สิทธิ์ร่วมกันระหว่าง รัฐ ประชาชนและเอกชน

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

ช่วย ศรีนวล บุญลือ หาเสียง

 

 

 

วันนั้นอนาคตใหม่เปิดตัวผู้สมัครส.ส.กลุ่มชาติพันธุ์หลายคน นอกจากมานพคนนี้แล้วยังมี ชินกร ก้าววิทยาคม ผู้สมัครส.ส.เชียงรายเขต 2 ชาวเผ่าลาหู่และลัวะ, สุนทร มารีการุณย์กิจ ผู้สมัครส.ส.เชียงใหม่เขต 9 ชาวกะเหรี่ยง, อนุพันธ์ หาญประดับทอง ผู้สมัครส.ส.แม่ฮ่องสอน ชาวกะเหรี่ยง

 

ยุทธนา มดแดง ผู้สมัคร ส.ส.อุทัยธานีเขต 2 ชาวกะเหรี่ยง, อภิสิทธิ์ สายธารอิสระ ผู้สมัครส.ส.ตากเขต 3 ชาวกะเหรี่ยง, ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อชาวม้ง และปรีชา ปัญญาเยาว์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชาวไทใหญ่

 

มานพเองเคยพูดก่อนเลือกตั้งว่าหวังว่าส.ส.ชาติพันธ์ุของพรรคเข้าไปในสภาอย่างน้อย 1 คน แต่วันนี้หลังจากที่ได้ ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.ชาติพันธุ์ชาวม้ง ไปนั่งหล่อในสภาแล้วก็มีเจ้าตัวนี่แหละที่ตามมาเป็นคนที่ 2 ก็ถือว่าทะลุเป้า

 

 

 

อยู่ไม่เป็น ก็ต้องเป็น

 

จะว่าไปในแดนดินที่เรียกว่า “พรรคอนาคตใหม่” เมื่อพูดถึงอุดมการณ์หลักที่กลั่นออกมาได้ว่าคือ “ประชาธิปไตยแบบเสมอภาคเท่าเทียมเป็นธรรม”

 

พวกเขาเดินหน้าแสดงจุดยืนเหมือนเป็น “คนนอกกรอบ” ของสังคมการเมืองไทยที่อยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. และวันนี้แนวคิดนี้เหมือนถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “อยู่ไม่เป็น”

 

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

 

 

 

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ก็เช่นกัน ด้วยความรู้สึกหรือการถูกกระทำว่าเป็นคนนอก คนสองกลุ่มนี้จึงเรียกว่าเหมือนคนหัวอกเดียวกัน

 

แกนนำพรรคต่างให้นิยามถึงนโยบายกลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคอนาคตใหม่ว่า “พรรคอนาคตใหม่ยึดอุดมการณ์หลักที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติ” ซึ่งก็คืออุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยที่เห็น “คน” เป็น “คน” นั่นแหละ

 

 

 

'มานพ คีรีภูวดล'  ส.ส.ใหม่ค่ายส้ม คราวนี้ต้อง 'อยู่เป็น' ?

 

 

 

สำหรับมานพ แม้ตอนแรกจะไม่ได้เป็นส.ส. แต่เขาก็ยังทำงานในบทบาทที่เป็นอยู่ต่อไป จะว่าไปนี่คือการ “อยู่เป็น” ในความหมายว่า “รู้หน้าที่”

 

กันยายนที่ผ่านมา เขาในนามมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ก็เพิ่งเข้าร่วมประชุมเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศไทย เพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถิชีวิตชาวกะเหรี่ยง

 

ในงานนี้ยังมีการร่วมกันอ่านแถลงการณ์กรณีการตายของกะเหรี่ยงบิลลี่ เรียกร้องให้รัฐเร่งหาฆาตกรและผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมมาลงโทษ เพื่อสร้างความเป็นธรรม คุ้มครองความปลอดภัย และเยียวยาครอบครัวของบิลลี่

 

แน่นอนนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางและบทบาทของ “มานพ คีรีภูวดล” ที่เขาทำเสมอมา กับผืนป่า ใบหญ้า และประชาชน วันนี้ได้เข้าสภาแล้ว มารอดูกันว่าเขาจะทำอะไรต่อไปบ้าง

 

แต่ที่แน่ๆ แฟนส้มหวานร้องขอว่า ค่าที่ “พ่อฟ้า” ต้องกระเด้งออกมาจากเก้าอี้ ส.ส.มานพเข้าไปแล้วต้องอยู่ให้เป็น ให้รอด และให้คุ้ม!

 

 

*************************

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Manop Keereepuwadol

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ