' อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร' คุณูปการ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ-บรรเทาอุทกภัย
เปิดความเป็น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ "อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร" ในอ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการ ในปี 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยให้แก่ราษฎร
"สมัยที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ เวลาฝนตกน้ำจะไหลบ่าลงมา เกิดน้ำท่วมสวนและไร่นาของชาวบ้าน ตั้งแต่เกาะจันทร์ไปถึงพนัสนิคม ซึ่งมีหลายหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน " นายวันชัย ทีรุณ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ต.บลท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ประธานกลุ่มประมงน้ำจืดบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี กล่าว
"โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ " หรือ อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร ตั้งอยู่ที่ ต. ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบางปะกงตอนบนและสาขา ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยให้แก่ราษฎร รวมทั้งเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค การทำเกษตรกรรม ซึ่งรวมถึงสนับสนุนแหล่งอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชลบุรี 45 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มผสมเนิน มีความลาดเอียงจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เนินเขาบางส่วนอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยมีแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลักคือคลองหลวง แต่เนื่องจากในอดีตไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม จึงทำให้น้ำจืดตามธรรมชาติที่มีมากในช่วงฤดูฝน ไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยอย่างเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มสองฝั่งที่ลำน้ำไหลผ่านในเขตอำเภอเกาะจันทร์ , อำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง กลับเผชิญ ปัญหาขาดแคลนน้ำมาแทนที่
กระทั่งเมื่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ แล้วเสร็จในปี 2558 จึงทำให้สภาพน้ำท่วม น้ำแล้งดังกล่าวหายไป เนื่องจากเขื่อนดินที่มีขนาดความจุ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่างในช่วงฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างดี ส่วนน้ำที่เก็บกักไว้ก็เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง การอุปโภคบริโภคของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ สร้างอาชีพประมงพื้นบ้าน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวนำรายได้สู่จังหวัดอีกด้วย
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร.)ในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลธรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการขยายผลของโครงการให้ครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ได้รับประโยชน์อย่างมั่นคงและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นต่อไป
" ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยมีโครงการเพิ่มศักยภาพของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ด้วยการยกคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำเป็น 125 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สามารถส่งน้ำไปสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรได้มากขึ้น จากเดิมมีเพียง 32,000 ไร่ เพิ่มเป็น 120,000 ไร่ และตั้งแต่ปี 2558 ได้มีการพัฒนาส่งเสริมการทำประมงน้ำจืด ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองประมงน้ำเค็ม แต่วันนี้มีประมงน้ำจืดที่มีศักยภาพในพื้นที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ รวมถึงเกิดธุรกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยว และร้านจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พอมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นตามมา ซึ่งถือว่าเป็นการดีต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน" องคมนตรีกล่าว
พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร.)ในพื้นที่ภาคกลาง นำคณะติดตามผลการดำเนินงานสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลธรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ