
อธิบดีกรมโรงงานฯ เผย 'ซีเซียม 137' ถูกถลุงเป็นฝุ่นแดงแล้ว คาดส่งต่อรีไซเคิล
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยวัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม 137" จากโรงไฟฟ้าในจ.ปราจีนบุรี ถูกพบในโรงถลุงเหล็กแห่งหนึ่ง หลอมเป็นฝุ่นแดงแล้ว คาดส่งต่อไปโรงงานรีไซเคิล
20 มี.ค.2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยภายหลังเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ปภ.กรมการปกครอง ได้ออกตรวจปฎิบัติงานโรงถลุงเหล็กแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เพื่อตรวจสอบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ซึ่งหายจากโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่ง
โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบโรงถลุงเหล็ก ดังกล่าว 2 รอบ โดยรอบแรกตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็กแต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 และรอบสองเจ้าหน้าที่นำเครื่องมือเข้าตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฎพบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก
อธิบดีกรมโรงงานฯ ระบุว่า สำหรับการถลุงเศษเหล็ก มี 2 กระบวนการ คือ
1.ใช้เตาไฟฟ้า
2.ใช้เตาแม่เหล็กเหนี่ยวนำ
ซึ่งกรณีใช้เตาไฟฟ้าถลุงจะได้เป็นฝุ่นแดงออกมาจากกระบวนการถลุงเหล็ก ส่วนฝุ่นแดงที่พบในโรงถลุงเหล็กดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดไว้ที่โรงถลุงเหล็กแล้ว
สำหรับ ฝุ่นแดง คือเมื่อนำเศษเหล็กไปถลุงจะได้น้ำเหล็กออกมา ซึ่งเหล็กจุดหลอมเหลวจะสูงมาก แต่สังกะสีและซีเซียม 137 ที่เป็นสารกัมมันตภาพรังสี จุดเดือดจะต่ำกว่าเหล็กมันจึงระเหิดกลายเป็นฝุ่นแดง คาดการณ์ว่าเหล็กสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม 137 น่าจะถูกถลุงหมดแล้ว เนื่องจากตรวจไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก
ทั้งนี้ ของการถลุงด้วยเตาไฟฟ้าซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นเศษเหล็ก ซึ่งเหล็กส่วนใหญ่จะเคลือบสังกะสี ดังนั้นสังกะสี ซีเซียม ก็จะระเหิดอยู่กับฝุ่นแดง และขั้นตอนจากนี้สิ่งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดำเนินการ คือต้องตรวจสอบว่าเมื่อทำการถลุงเศษเหล็กกลายเป็นฝุ่นแดงแล้ว ฝุ่นแดงถูกส่งไปที่ไหนต่อ
ฝุ่นแดงเป็นของเสียจากโรงถลุงเหล็ก ซึ่งอาจถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลในประเทศ หรืออาจส่ง ออกไปยังต่างประเทศเพื่อรีไซเคิลเพื่อเอาสังกะสีที่อยู่ในฝุ่นแดงมาใช้ประโยชน์อีก จากรายงานบริษัทดังกล่าวรับซีเซียม 137 มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ไม่ชัดเจนรับมาจากที่ไหน
หลังจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะติดตามต่อว่าโรงถลุงเหล็กดังกล่าว ส่งฝุ่นแดงไปรีไซเคิลที่โรงงานไหนบ้าง ทราบว่าได้ส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566
จำนวน 12 ตัน ทั้งนี้ ในวันนี้ (20 มี.ค.) จะส่งเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์ตรวจวัดสารกัมมันตรังสี ลงพื้นที่ไปทำการตรวจสอบที่โรงงานรีไซเคิลดังกล่าวว่ามีฝุ่นแดงหลุดไปถึงที่นั้นหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อถลุงเป็นน้ำเหล็กแล้วจะกระจายไปหมด เข้าใจว่าฝุ่นแดงคงปนเปื้อนด้วยซีเซียม ทั้งหมด เพียงแต่ว่ามีการขนฝุ่นเหล็กออกจาก โรงถลุงเหล็กไปที่อื่นหรือไม่ ส่วนอันตรายจากฝุ่นแดงและสารกัมมันตภาพรังสี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ถ้าไม่สัมผัสตลอดเวลาคงจะไม่ได้รับผลอะไร
อย่างไรก็ตาม เหล็กที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ไม่ควรหลุดรอดออกมา ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดของโรงงานหรือไม่ สำหรับอุปกรณ์เหล่านี้เมื่อหมดอายุแล้วสิ่งที่ควรทำคือ
1.เก็บไว้จนกระทั่งสลายตัวด้วยธรรมชาติเอง
2.ส่งกลับผู้ผลิต
สารกัมมันตรังสี จะสลายตัวครึ่งชีวิตของมัน กรณีซีเซียม 137 นี้มีอายุ 30 ปี และโดยปกติซีเซียม 137 ประเทศเราผลิตเองไม่ได้ต้องนำเข้ามา กฎหมายที่ใช้ควบคุมดูแลสารกัมมันตภาพรังสี เป็นกฎหมายเฉพาะ มีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ดูแล ตั้งแต่การนำเข้ามา ขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ นำไปใช้ที่ไหน เมื่อเลิกใช้แล้วกากที่เหลือจะนำไปกำจัดอย่างไร