"กอนช." ระวังน้ำ "ป่าสัก-เจ้าพระยา" ขณะ อยุธยา ทะลัก 6 ชุมชน จ่อท่วมเกาะเมือง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เตือน เฝ้าระวัง ระดับน้ำ "แม่น้ำป่าสัก เจ้าพระยา" หลังเขื่อนป่าสัก ฯ ปรับเพิ่มการระบายน้ำ ขณะพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำทะลักท่วม 6 ชุมชน จ่อเข้าเกาะเมืองแล้ว
4 ต.ค.2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือน "เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสัก และ แม่น้ำเจ้าพระยา" จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 3 - 9 ต.ค. 2565 อิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กอนช. ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ในช่วงวันที่ 3- 9 ต.ค. 2565 ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับการปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40- 1.00 เมตร และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40 - 0.60 เมตร
และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25 - 0.50 เมตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300– 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อยทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำโดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว และมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น
เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากจังหวัดชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อำเภอเมืองชัยนาท และมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร
ขณะที่ ระดับน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 30 ซม. ซึ่งได้ฝ่าแนวป้องกันชุมชนวัดกุฎีทอง เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จนทำให้มวลน้ำไหลเข้าท่วม 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท่าวาสุกรี วังแก้ว แม่นางปลื้ม และเขต อบต.คลองสระบัวอีก 2 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา จัดรถรับส่งประชาชน ออกจากชุมชนวัดกุฎีทอง มายังวัดวงฆ้อง และเตรียมเสริมแนวคันดิน และสูบน้ำออก เพื่อกู้ชุมชนทั้งหมด ให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้
ขณะที่นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางลงพื้นที่ และให้การสนับสนุนการช่วยเหลือ หากทางเทศบาลร้องขอ ส่วนด้านต่างอำเภอ ระดับน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้ ต.ท่าดินแดง ต.ตาลาน อ.ผักไห่ มีระดับน้ำสูงมาก โดยมวลน้ำได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนนับร้อยหลังคาเรือน ถนนสายเสนา-ผักไห่ บริเวณวัดโบสถ์ ยังถูกน้ำท่วม
สัมฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว จ.พระนครศรีอยุธยา
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/