ข่าว

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมวลข่าวเด่นรอบปี2562 เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

                 การใช้ความรุนแรงและกลายเป็นคดีอุจฉกรรจ์สะเทือนขวัญ เกิดขึ้นในสถานที่ไม่คาดคิด ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ควรจะเกิดขึ้นเพราะเป็นพื้นที่ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดและปลอดอาวุธ โดยในปี 2562 ระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษๆ กลับมีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ศาลถึง 3 เหตุการณ์ด้วยกัน สะท้อนระบบรักษาความปลอดภัยว่า "ละเลย"  "เพิกเฉย" หรือ"หละหลวม" ในการคัดกรองตรวจค้นอาวุธ ไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งนำหรือซุกซ่อนเข้าไปในพื้นที่ แล้วชีวิตของประชาชนที่จำเป็นต้องไปประสบพบเจอคู่กรณีในสถานที่ที่ควรจะปลอดภัยที่สุดอย่างศาลจะเป็นเช่นไร? 

   

                ความรุนแรงดังกล่าวที่เกิดขึ้นจนสังคมตั้งคำถาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม  2562  เมื่อ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้ปืนพกสั้นยิงตัวเองบาดเจ็บสาหัส เพื่อหวังฆ่าตัวตายหน้าบัลลังก์ หลังพิพากษาจำเลยในคดีความมั่นคงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปลอดภัย และเรื่องอยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสอบ

 

             อ่านข่าว :  ผู้พิพากษายะลา อาการปลอดภัยแล้ว

           

     

 

                คล้อยหลังจากเหตุการณ์แรก 1 เดือน วันที่ 4 พฤศจิกายน เกิดเหตุ 3 ผู้ต้องขังคดียาเสพติด แหกห้องควบคุมตัวในศาลจังหวัดพัทยา โดยใช้มีดแทงตำรวจศาลได้รับบาดเจ็บ ก่อนเปิดฉากยิงเปิดทางหนี แต่สุดท้ายไปไม่รอด เจ้าหน้าที่ตามจับกุมได้ยกแก๊ง ทั้งผู้ต้องขังและคนที่ให้ความช่วยเหลือพาหนี ส่วนผู้ต้องขังชาวต่างชาติยิงตัวเองฆ่าตัวตายจากความกดดันขณะถูกปิดล้อมจับกุม

 

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ (คนซ้ายสุด) นายคณากร เพียรชนะ ออกจากรพ.

 

                จากเหตุการณ์ครั้งแรกมาถึงครั้งที่สองดูเหมือนจะเพิ่มความรุนแรงอุกอาจขึ้น กระทั่งครั้งที่สามก็ทวีขึ้นเป็นเรื่องอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ เขย่าความรู้สึกสร้างความหดหู่ให้ผู้คนในสังคม เพราะถัดจากเหตุการณ์ที่ศาลจังหวัดพัทยา เจ้าหน้าที่ปิดจ๊อบได้เพียง 1 สัปดาห์ เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดจันทบุรี ช่วงเช้าวันที่ 12 พฤศจิกายน  2562  โดยน้ำมือของอดีตบิ๊กตำรวจเกษียณราชการ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ อายุ 67 ปี อดีตรองจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อเหตุยิงคู่กรณีระหว่างเข้ารับฟังการพิจารณาคดี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

 

       อ่านข่าว : ด่วน!!! เกิดเหตุยิงสนั่นในศาลจังหวัดจันทบุรี

 

          ประกอบด้วย นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ (โจทก์) นายวิจัย สุขรมย์ (ทนายโจทก์) เเละ พล.ต.ต.ธารินทร์ ผู้ก่อเหตุถูกเสมียนทนายโจทก์เอาปืนจากตำรวจศาลยิงได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย คือ นายวิชัย อุดมธนภัทร (ทนายโจทก์) เเละ นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์ ภรรยานายบัญชา สาเหตุมาจากผู้ก่อเหตุและคู่กรณีมีการฟ้องร้องทางแพ่งเกี่ยวกับที่ดินกันมานานกว่า 8 ปี

 

                ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยถึงการนำอาวุธไปใช้ในการก่อเหตุในศาล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ศาลแต่ละแห่งมีกฎระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติตัวชัดเจน และหนึ่งในนั้น คือ การห้ามพกพาอาวุธเข้าไปในศาล อีกทั้งการเข้าไปติดต่อใดๆ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แต่เพราะเหตุใดจึงมีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นและน่าจะมีบทเรียนตั้งแต่ครั้งแรกที่ผู้พิพากษายิงตัวเองในศาลจังหวัดยะลา


              

 

 

             เหตุการณ์ครั้งหลังสุดตัวแทนฝ่ายศาลยุติธรรม สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ย้ำไว้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลและบุคลากรที่ทำงานอยู่ในอาคารศาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ

                นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ศาลฎีกา สนามหลวง เช่นกัน โดย นายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา ได้เข้าพบ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี ก่อนที่ต่อมา นายสุรินทร์ ออกมาเผยว่า ประธานศาลฎีการู้สึกไม่สบายใจ และมีความกังวลใจ ทั้งมีความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์ขณะนี้ก็ได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรมทบทวนตรวจทานดูแลระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคลากรหรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ซึ่งจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข 

 

                หากยังพอจำกันได้ศาลยุติธรรมในยุคปัจจุบันที่มีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคือ นายสราวุธ เบญจกุล พยายามผลักดันให้สำนักงานศาลยุติธรรมพัฒนาระบบ เพื่อทำให้เกิด “เจ้าพนักงานตำรวจศาล” หรือ “คอร์ทมาร์แชล (COURT MARSHAL)” และพบว่าถึงตอนนี้มีข้าราชการที่รับโอนมาผ่านการฝึกอบรมพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้วทั้งสิ้น 35 ราย โดยในปี 2563 ศาลยุติธรรมจะคัดเลือกบุคคลให้ได้อย่างน้อย 300 คน เพื่อที่จะนำอัตรากำลังดังกล่าวไปจัดสรรกระจายกำลังคนไปประจำการยังศาลภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่ 275 แห่ง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าว่าจะจัดกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลประจำศาลภูมิภาคแต่ละศาล 1-2 นาย ก็จะเป็นหนึ่งวิธีในการแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลต่างๆ ด้วยความเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

 

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ

                อย่างไรก็ตาม นายสราวุธ บอกว่า การดูแลความเรียบร้อยในศาลมีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนผู้ต้องขังจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จากกรมราชทัณฑ์, เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมดูแลความปลอดภัยบริเวณศาล และในส่วนของศาลเองมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่จัดสรรการจ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ซึ่งไม่มีอาวุธประจำกาย จะดูแลความเรียบร้อยทั่วไปบริเวณศาล ซึ่งมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัดก็ต้องประสานความร่วมมือทุกส่วนต่อไป

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ

คอร์ทมาร์แชล

                "การอบรมคอร์ทมาร์แชลก็มีทั้งด้านวิชาการและปฏิบัติ เช่น การใช้อาวุธปืน, การต่อต้านการก่อการร้าย, วิเคราะห์ข่าวกรอง, เทคนิคการสืบสวน, การวางแผนตรวจค้น, ยุทธวิธีการเข้าจับกุม, การอารักขาบุคคลสำคัญ สำหรับคอร์ทมาแชลรุ่นที่ 1 จำนวน 35 คนนั้น เป็นชายทั้งสิ้น 28 คน และหญิง 7 คน" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อธิบาย        

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ   ฝึกหนัก..คอร์ทมาร์แชล 

 

 

          นายสราวุธ ยังอธิบายเพิ่มว่า การให้มีคอร์ทมาร์แชลเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในศาลยุติธรรม เกิดขึ้นหลังจากพ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ก็ได้เปิดรับโอนข้าราชการมาดำรงตำแหน่งคอร์ทมาร์แชล ชุดแรก ใน 2 ประเภท คือ

 

           1.ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษอายุไม่เกิน 45-50 ปี ต้องมียศไม่ต่ำกว่าพันเอก, นาวาเอก, นาวาอากาศเอก, พันตำรวจเอก หรือเทียบเท่า ระดับชำนาญการและระดับปฏิบัติงาน อายุไม่เกิน 35-40 ปี ต้องมียศไม่ต่ำกว่าร้อยโท, เรือโท, เรืออากาศโท, ร้อยตำรวจโท ทั้ง 2 ส่วนต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมาย เคยผ่านงานรักษาความปลอดภัย, ปราบปราม, สืบสวน, สอบสวน และการข่าว มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

              2.ประเภททั่วไป (ผู้ปฏิบัติงานระดับต้น) อายุไม่เกิน 35 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่า ปวส. หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขา หรือจบโรงเรียนนายสิบตำรวจ, โรงเรียนนายสิบทหารบก, โรงเรียนจ่าอากาศ, โรงเรียนชุมพลทหารเรือ หรือเทียบเท่า เคยผ่านงานรักษาความปลอดภัย, ปราบปราม, สืบสวน, สอบสวน และการข่าว มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

 

เหตุอุกฉกรรจ์3ศาล.. เขย่าระบบรปภ.พื้นที่ปลอดอาวุธ
นายสราวุธ เบญจกุล

 

                ขณะเดียวกัน  นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมยังได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับผู้อำนวยการศาลต่างๆ ทั่วประเทศ กำชับมาตรการความเข้มงวด รัดกุมในการรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาล ตามนโยบายประธานศาลฎีกาที่จะต้องไม่ประมาท หละหลวม ต้องทำการตรวจเข้มด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งได้เน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทุกชนิดที่ติดตั้งไว้ทุกศาลแล้ว ต้องพร้อมใช้งาน ทั้งกล้องวงรปิดและเครื่องตรวจอาวุธขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบริเวณทางเข้าศาล และเครื่องตรวจอาวุธชนิดใช้มือถือขนาดเล็ก หากตรวจสอบพบข้อบกพร่องก็จะดำเนินการป้องกันทันที

 

                หวังว่าหลังจากนี้ 3 เหตุอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศาลซึ่งเป็นข่าวดังในปี 2562 จะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญและไม่เกิดซ้ำอีก เพราะศาลยุติธรรมนอกจากจะเป็นสถานที่ให้ความเป็นธรรมแล้ว ต้องให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้เดินทางมายังศาลทั่วประเทศ ในฐานะเป็นพื้นที่ปลอดอาวุธด้วย..!!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ