ข่าว

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจ น้องเอิง นักบินฝนหลวงหญิงคนแรกของไทย เผยนาทีขึ้นบินช่วยภัยแล้งอีสานใต้ต่อเนื่องกว่า 2 เดือน ลั่นภูมิใจได้สานต่อศาสตร์พระราชา - ช่วยเหลือเกษตรกร

 

               วันนี้(18 ส.ค. 62) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปติดตามการปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ ของ น.ส.สร้อยสกุล คุณสุข หรือน้องเอิง อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นนักบินฝนหลวงหญิงคนแรกของไทย เป็นสาวสวยชาว จ.จันทบุรี ประจำหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ หลังจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิดคาราแวน จำนวน 3 ลำ พร้อมนักบินและเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ในการปฏิบัติการทำฝนหลวง มาประจำยังพื้นที่สนามบินสุรินทร์ภักดี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ทำการบินทำฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่หลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง จากฝนทิ้งช่วงมายาวนานหลายเดือน จนต้นกล้าข้าวกำลังเหี่ยวแห้งตายในหลายพื้นที่ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เหนง) อ.เมือง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมืองและตำบลรอบนอก แห้งขอดวิกฤตหนัก น้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาอยู่ในขณะนี้

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

 

 

               โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ ได้เริ่มทำการบินทำฝนหลวงมาตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เป็นเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว และสามารถปฏิบัติการทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่จนช่วยเหลือยืดอายุของต้นข้าวได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีฝนไม่มากเพียงพอ แต่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงก็ยังคงไม่ละหน้าที่ ยังคงปฏิบัติภารกิจขึ้นบินทำฝนหลวงทุกวันอย่างต่อเนื่องไม่ลดละ โดยมี น.ส.สร้อยสกุล เป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมปฏิบัติงาน

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

               น.ส.สร้อยสกุล คุณสุข หรือ เอิง อายุ 25 ปี กล่าวว่า ส่วนตัวตนเองมีความชื่นชอบและสนใจในอาชีพนี้อยู่แล้ว และได้มาทำหน้าที่นักบินสำรวจ ก็ถือว่าได้ทำตามความฝันของตัวเอง ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น โดยได้ขึ้นบินเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับเรื่องงานการบินก็ถือว่าไม่มีอะไร เรามีการเรียนรู้งานในแต่ละเฟสและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ขึ้นไปทำการบิน เราก็ต้องสนใจในสภาพอากาศว่าเราต้องการทำให้ฝนตกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้ เรามีความภาคภูมิใจ เวลาที่เราไปทำฝน เริ่มตั้งแต่วางแกน จนเห็นการพัฒนาของเมฆ ทำจนฝนตก ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจมีความดีใจในแต่ละไฟท์ที่เราได้ขึ้นไปบิน และทำให้ฝนตกได้ ตนเอกเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยความที่ทางบ้านมีอาชีพเกษตรกร ทำสวนอยู่แล้ว เรามีความเข้าใจว่าฝนตก มีน้ำ เป็นทรัพยากรสำคัญในการทำอาชีพแบบนี้ และการที่ได้เข้ามาทำงานที่นี่ เราก็รู้สึกดีใจจริงๆที่เราได้ช่วยเหลือตรงนี้ได้ และได้สานต่อศาสตร์ของพระราชาด้วย

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

 

 

               ด้านนายวิทยา อัปมาโถ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาทำการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สุรินทร์ เพื่อที่จะไปปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่บริเวณ จ.สุรินทร์ , บุรีรัมย์ , ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด บางส่วนเพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงนี้ ที่เข้าสู่ระยะฝนทิ้งช่วง เพื่อที่จะช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรให้รอดพ้นภาวะแห้งแล้งและป้องกันผลกระทบของฝนทิ้งช่วงในช่วงนี้ การดำเนินการช่วงนี้จะเร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรก่อน หลังจากนั้นหากพื้นที่การเกษตรมีน้ำเพียงพอ เราก็จะเพิ่มในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำต้นทุน อ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา ทั้ง จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ด้วย แผนเรามาตั้งหน่วยตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.2562 เป็นต้นมา จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็จะประเมินผลอีกที

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

               "เราจะต้องประเมินสภาพอากาศในแต่ละวันว่าวันนี้เหมาะสมในพื้นที่ไหนบ้างที่พอช่วยเหลือได้ก่อน เราจะเร่งช่วยเหลือพื้นที่วิกฤต หลังจากนั้นจะพิจารณาพื้นที่รองลงมาเรื่อยๆในการกำหนดเป้าหมายประจำวัน เราจะต้องประเมินสภาพอากาศเป็นวันๆไป ว่าวันนี้ความชื้นเหมาะสมหรือไม่ หรือค่าการยกตัวของอากาศ อยู่ในการปฏิบัติการฝนหลวงได้หรือไม่ ช่วงนี้มีเกษตรกรที่ร้องขอเข้ามาเยอะเพราะว่าฝนเริ่มทิ้งช่วงมานาน หลังจากข้าวที่กำลังเจริญเติบโต น้ำไม่มี เกษตรกรก็ร้องขอเข้ามามากขึ้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงเร่งให้การช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ เรายังไม่สามารถประเมินพื้นที่ว่าจะเสียหายมากขนาดไหน แต่จะพยายามช่วยเหลือให้ได้เหมือนปีที่แล้ว เราพยายามกู้มาได้มากพอสมควร หลังจากได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง เราช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรให้รอดพ้นได้มากขึ้น ปีนี้จึงรีบมาตั้งที่สุรินทร์ เพื่อที่จะหวังว่าเราจะสามารถป้องกันเหตุดังกล่าวจากการได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ให้ได้มากที่สุด ส่วนปัญหาอุปสรรคในช่วงนี้ คงจะเป็นเรื่องของสภาพอากาศ ความชื้นต่างๆ ลักษณะของอากาศที่ทรงตัวทำให้ลักษณะเมฆก่อตัวได้ไม่มากนัก แล้วก็ตกเป็นลักษณะของฝนกลุ่มเล็กๆที่ไม่ขยายแนวเท่าไหร่ ก็จะทำให้ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ไม่มากนัก แต่ว่าเราก็จะพยายาม กระตุ้นธรรมชาติที่จะขยายแนวของกลุ่มฝนต่างๆให้มีโอกาสตกได้มากขึ้น หรือขยายแนวได้กว่างขึ้น เพื่อครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น เรามี 3 หน่วยทางภาคอีสานตอนล่างคือ ที่ จ.สุรินทร์ , นครราชสีมา และอุบลราชธานี หากหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติการได้ ก็จะใช้หน่วยใดหน่วยหนึ่งบินช่วยเหลือพื้นที่หน่วยข้างเคียง แต่วางไว้ 3 หน่วย ค่อนข้างที่จะครอบคลุมพื้นที่ตอนล่างและตอนกลางของภาคได้พอสมควร ซึ่งเป็นภารกิจแรกของปีนี้ พวกเราจะขอทำหน้าที่อย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ เพื่อเกษตรกรและประชาชน"

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

สู้วิกฤตแล้ง เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำนาข้าวอีสาน

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ