ข่าว

'ดอยแก้ว'ต้นแบบสวนอินทรีย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ดอยแก้ว'ต้นแบบสวนอินทรีย์ ดูการปลูกสตรอเบอร์รี่ที่'สะเมิง' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

               เป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าจะรับประทานสตรอเบอร์รี่สดๆ รสชาติหอม หวาน อร่อย ต้องเป็นสตรอเบอร์รี่มาจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของสตรอเบอร์รี่ ผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.เชียงใหม่ ที่โด่งดังไปทั่วโลก มีเนื้อที่ปลูกมากกว่า 3,000 ไร่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรใน อ.สะเมิง กว่า 300-400 ล้านบาทต่อปี สตรอเบอร์รี่ที่นี่จะนิยมปลูกหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พระราชทาน 60, 72 และ 80 หรือแม้กระทั่งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมอย่างพันธุ์ 329 ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล แต่ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุดคือ พันธุ์พระราชทาน 80

                "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ ตามผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำโดย "ศักดิ์ชัย คำเรืองฤทธิ์" ผู้อำนวยการสำนักงานธ.ก.ส.จังหวัดเชียงใหม่ และคณะ พาลุยสวนสตรอเบอร์รี่ปลอดสารพิษแห่งแรกของ อ.สะเมิง ของปราชญ์ชาวบ้านชื่อดัง "วิทยา นาระต๊ะ" เจ้าของสวนดอยแก้ว ตั้งอยู่ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง ปัจจุบันสวนแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร (การปลูกสตรอเบอร์รี่และไม้ผลเมืองหนาว)

                สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 80 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางเชียงใหม่-สะเมิง-บ่อแก้ว โดยใช้เวลาเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมง เนื่องด้วยสภาพเส้นทางที่คดเคี้ยววิ่งไปตามไหล่เขาที่สูงชัน จะสังเกตสองข้างทางเต็มไปด้วยแปลงปลูกสตรอเบอร์รี่ของเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวง โดยสตรอเบอร์รี่จะให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และในช่วงนั้น อ.สะเมิง จะจัดงานวัน "สตรอเบอร์รี่" อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปีด้วย

                "สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับทุกคนสู่สวนดอยแก้วครับ" เสียงกล่าวต้อนรับจากเจ้าของสวนแก่คณะผู้บริหาร ธ.ก.ส.และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ กว่า 30 ชีวิต ขณะก้าวลงจากขบวนรถตู้ เพื่อมาเยี่ยมชมสวน พร้อมแนะนำให้ดื่มน้ำสตรอเบอร์รี่สดๆ จากสวนเพื่อแก้กระหายและช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ก่อนเยี่ยมชมแปลงสตรอเบอร์รี่ตามจุดต่างๆ บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่
 มีทั้งแปลงปลูกเพื่อจำหน่าย แปลงสาธิต ตลอดจนแปลงปลูกเพื่อการวิจัย (มีทั้งทำเองและร่วมกับสถาบันการศึกษา) โดยสวนดอยแก้วนี้ปลูกสตรอเบอร์รี่หลากหลายสายพันธุ์ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 60, 72 และ 80 ที่มีรสชาติหอมหวานกว่าพันธุ์ 329 ที่ขายในท่องตลาดทั่วไป พร้อมกันนั้นจะมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสตอรเบอร์รี่มากมาย อาทิ เช่น ไวน์, แยมเนื้อสตอเบอร์รี่, สตอเบอร์รี่อบแห้ง เป็นต้น  

                "สตรอเบอร์รี่ที่ปลูกหลักๆ ตอนนี้มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ 329 นำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล ซึ่งปลูกกันมากที่สุดในตอนนี้ แต่มีปัญหามากที่สุด เพราะปลูกกันมานาน เกิดการสะสมโรค มีผลเสียหายต้นตายและผิดเพี้ยนด้านสายพันธุ์ มีจุดเด่นที่ลูกจะใหญ่ เปลือกหนา ทนทานต่อการขนส่ง แต่รสชาติเปรี้ยว อีกพันธุ์คือพันธุ์พระราชทาน 80 ที่โครงการหลวงนำมาส่งเสริมให้ปลูก ตัวนี้ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะต้านทานโรคและแมลงได้ดี ที่สำคัญรสชาติหอมหวานอร่อย เหมาะบริโภคผลสด แต่ข้อเสียผิวบางไม่ทนต่อการขนส่ง ช้ำง่าย เสียง่าย เหมาะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากกว่า"

                วิทยา ฉายภาพรวมการปลูกสตรอเบอร์รี่ในพื้นที่ อ.สะเมิง มีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,085 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการปลูกสตรอเบอร์รี่มากที่สุด สวนแห่งนี้ปัจจุบันถูกออกแบบให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สตรอเบอร์รี่โดยตรง เป็นการบูรณาการร่วมของหลายๆ หน่วยงาน ไม่ว่า ธ.ก.ส. กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และโครงการการหลวง

                 "เมื่อปี 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาที่บ้านบ่อแก้ว ต.บ่อแก้ว ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานผลถึงเสียหายของสตรอเบอร์รี่ พระองค์ก็พระราชทานความช่วยเหลือ โดยประสานกับ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญ ลงทุนเรื่องอุปกรณ์ ส่วนการดำเนินงานเป็นของเกษตรกรสมาชิกชมรมผู้ปลูกสตรอเบอร์รี่สะเมิง" เจ้าของสวนดอยแก้วย้อนอดีต ก่อนจะกลายมาเป็นศูนย์เรียนรู้สตรอเบอร์รี่ต้นแบบในทุกวันนี้

                เขาย้ำว่า แปลงปลูกสตรอเบอร์รี่ภายในสวนแห่งนี้ จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ มีทั้งปลูกเพื่อการค้า ปลูกเพื่อการวิจัย ปลูกเพื่อทดลองปรับปรุงสายพันธ์ แต่ทุกแปลงจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ แต่จะใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาเอง ตลอดจนสารกำจัดศัตรูพืช ฉะนั้นผลผลิตสตรอเบอร์รี่จากสวนทุกลูกมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากสารเคมี 100%  

                "ที่นี่จะเลี้ยงผึ้งและชันโรงไว้ด้วย เพื่อจะช่วยในการผสมเกสร ผึ้งและชันโรงจะเป็นตัวชี้วัดการใช้สารเคมีด้วย เพราะถ้ามันบินไปเจอสวนไหนใช้สารเคมีก็จะบินกลับทันที หรือจะสังเกตเห็นมันแลบลิ้นออกมา นั่นแสดงว่าสตรอเบอร์รี่สวนนั้นใช้สารเคมีแน่อน" วิทยาอธิบายข้อดีของการเลี้ยงผึ้งและชันโรงไว้ในสวน พร้อมชี้ไปที่ลังเลี้ยงชันโรงที่วางอยู่ใกล้กับแปลงปลูก
 
 เจ้าของสวนดอยแก้วย้ำว่า กว่า 3,000 ไร่ ในการปลูกสตรอเบอร์รี่ในพื้นที่ อ.สะเมิง จะนิยมพันธุ์พระราชทาน 80 มากที่สุด เนื่องจากขายได้ราคาดีและมีความต้องการของตลาดสูง ที่สำคัญให้ผลผลิตต่อไร่สูงเฉลี่ย 2,500-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้อยู่ที่ 1.2-1.4 แสนบาทต่อไร่ ซึ่งดีกว่าการปลูกพืชและไม้ผลชนิดอื่นๆ

                 สวนดอยแก้ว นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จ นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สตรอเบอร์รี่ (ปลอดสารเคมี) ต้นแบบครบวงจรแห่งแรกของ อ.สะเมิง ที่รอทุกคนไปสัมผัส สนใจเยี่ยมชมสวนดอยแก้ว ติดผ่าน สกจ.เชียงใหม่ โทร.0-5341-6995-6 ทุกวันในเวลาราชการ

 

.........................................

('ดอยแก้ว'ต้นแบบสวนอินทรีย์ ดูการปลูกสตรอเบอร์รี่ที่'สะเมิง' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ