พระเครื่อง

วิถีบุญวิถีธรรม - พระทิ้งบาตร ธุดงควัตรแห่ง..."พระมอญกระทุ่มมืด"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มอญ เป็นชนชาติโบราณที่มีความเป็นมายิ่งใหญ่ มีอารยธรรมของตนเอง ซึ่งรวมตลอดไปถึงการรู้จักใช้ภาษา และอักษรที่เป็นของมอญโดยเฉพาะด้วย แม้ว่าความเป็นประเทศของมอญได้สูญเสียสิ้นไปนานนับร้อยๆ ปีล่วงมาแล้ว แต่ทว่าชาวมอญกลับดำรงรักษาจารีต ประเพณี วัฒนธรรม ในการดำเนิ

  ความโดดเด่นของประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาที่คนไทยคุ้นเป็นอย่างดี คือ พิธีแห่งหงส์ ธงตะขาบ ปล่อยนก ปล่อยปลา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ แต่ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหลายอย่าง และประเพณีหนึ่งที่น่าสนใจน่าจะเป็นแห่งเดียว คือ “ประเพณีพระทิ้งบาตร” ของวัดในชุมชนมอญกระทุ่มมืด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดถึง ๗ วัด คือ ๑.วัดหม่อมแช่ม (วัดสโมสร) ๒.วัดยอดพระพิมล ๓.วัดไทรน้อย ๔.วัดราษฎร์นิยม ๕.วัดบึงลาดสวาย ๖.วัดเกษตราราม และ ๗.วัดบอนใหญ่ ส่วนวัดมอญในชุมชนอื่นๆ นั้นไม่ปรากฏว่ามีประเพณีดังกล่าว

 ประเพณีพระทิ้งบาตร ถือเป็นธุดงค์บาตรอย่างหนึ่ง โดยพระที่ถือธุดงค์บาตรนั้นต้องตั้งจิตอธิษฐานว่า จะถือฉันในบาตรเป็นวัตรเพียงมื้อเดียว คือ จะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร ทั้งนี้ พระจะนำบาตรไปส่งให้ญาติโยมบ้านใดบ้านหนึ่งแล้วกลับวัดเลย เรียวกว่า ทิ้งบาตร

 จากนั้นญาติโยมจะเอาอาหารใส่รวมกันทั้งหมดในบาตร จึงนำมาส่งที่วัด ทั้งนี้ เมื่อใดพระไปฉันภาชนะที่ ๒ หรือนอกเหนือจากฉันในบาตรเดียว การถือธุดงค์บาตรถือว่าเป็นอันสิ้นสุดโดยปริยาย

  อย่างไรก็ตาม การฉันในบาตรเป็นวัตรนั้น พระแต่ละรูปจะกำหนดการฉันในบาตรเป็นวัตรไม่เท่ากัน พระบวชใหม่อาจจะกำหนด ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๙ วัน ตามแต่กำลังความสามารถ ในขณะพระเก่าที่บวชมาหลายพรรษา อาจจะกำหนด ๑ เดือน หรือตลอดทั้งพรรษา

 พระครูวิบูลสีลากร เจ้าอาวาสวัดเกษตราราม ต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม บอกว่า ประเพณีพระทิ้งบาตร มีขั้นตอนอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑.พระที่ถือการฉันในบาตรเป็นวัตรนั้น ต้องตั้งจิตอธิษฐานบาตร หรือเรียกว่าผูกบาตร ภาษามอญจะใช้คำว่า “ฮะเกิ๊นฮะเปี่ยง” (ฮะเกิ๊น แปลว่า อธิษฐาน ส่วน  ฮะเปี่ยง แปลว่า บาตร) ๒.ทิ้งบาตร ส่วนใหญ่ในวันแรกจะทิ้งบ้านพ่อบ้านแม่ จากนั้นก็จะไปบ้านญาติๆ ภาษามอญจะใช้คำว่า “เฑาะว์ฮะเปี่ยง” และ ๓.ส่งบาตร ภาษามอญจะใช้คำว่า “ฮะลองฮะเปี่ยง”

 ประเพณีพระทิ้งบาตร ถือเป็น ๑ ใน ๑๓ ของธุดงควัตร  ธุดงควัตร คือข้อปฏิบัติที่เข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อความขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบังคับให้ภิกษุถือปฏิบัติ ใครจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ผู้ที่จะปฏิบัติธุดงควัตรนั้น สามารถเลือกได้เองตามความสมัครใจว่า จะปฏิบัติข้อใดบ้าง เป็นเวลานานเท่าใด เมื่อจะถือปฏิบัติก็เพียงแต่กล่าวคำสมาทานธุดงควัตรข้อที่ตนเลือก แล้วก็เริ่มปฏิบัติได้เลย

 ธุดงควัตรมี ๑๓ ข้อ แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร) มี ๒ ข้อ คือ ๑.ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และ ๒. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร

   หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต) มี ๕ ข้อ คือ ๑.ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร  ๒.ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร ๓.ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร ๓.ถือการฉันในภาชนะเดียว คือ ฉันในบาตรเป็นวัตร ๔.ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร

 หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ) มี ๖ ข้อ คือ ๑.ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ๒.ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ๓.ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร ๔.ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕.ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร และ ๖.ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร

     ทั้งนี้ พระครูวิบูลสีลากร ได้อธิบายรายละเอียดของธุดงควัตรเกี่ยวกับบิณฑบาต ให้ฟังว่า ๑.การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน ๒.ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป

 ๓.ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม

 ๔.ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือ จะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหาร เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร และ ๕.ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือ เมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม

 “การฉันในบาตรเป็นวัตร ทำให้พระอยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่านเป็นอิสระ พ้นจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร” นี่เป็นอานิสงส์ของการปฏิบัติธุดงควัตรจากคำบอกเล่าของพระครูวิบูลสีลากร

 ด้านนายสุกิจ สมบูรณ์จันทร์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ย่านวัดเกษตราราม บอกว่า เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่มีตู้เย็น ก่อนถึงเทศกาลพระทิ้งบาตร ก็จะเตรียมดองไข่เค็ม ทำปลาเค็ม รวมทั้งซื้อหมี่แห้ง และปลากระป๋อง ไว้เตรียมทำอาหารไว้ใส่บาตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของผัดของทอด เพราะต้องใส่ทั้งข้าวและอาหารรวมลงไปในบาตรทั้งหมด ส่วนของหวานนั้นไม่มี แต่จะใส่น้ำตาลทรายไป ๑ ถุง เพื่อให้พระใช้ชงกับน้ำชา หรือต้มกับใบเตยไว้ดื่มในตอนเย็น

 นอกจากนี้แล้ว ในอดีตการคมนาคมไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน เมื่อพระมาทิ้งบาตรพ่อแม่มักจะฝากบาตรที่ใส่กับข้าวไปพร้อมๆ กับลูกที่ไปโรงเรียน ซึ่งเด็กต้องหิ้วทั้งปิ่นโต และสะพายกระเป๋าหนังสือ เมื่อเพิ่มบาตรเข้ามาอีกใบ พ่อแม่จะห่อบาตรด้วยผ้าข้าวม้า เพราะในอดีตไม่มีสลกบาตรเหมือนในปัจจุบัน ระหว่างเดินทางไปโรงเรียนบนคันนา บาตรที่ถือไปเอียงและพลิกคว่ำบ้าง ทำให้อาหารในบาตรคลุกเล้าปนกันไปหมด  แต่พระก็ต้องฉัน เพราะถือว่าเป็นธุดงควัตรที่พระตั้งใจถือปฏิบัติให้ได้

 ประเพณีพระทิ้งบาตร ถือเป็นธุดงค์บาตรอย่างหนึ่ง โดยพระจะถือฉันในบาตรเป็นวัตรเพียงมื้อเดียว คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร

เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ธงชัย เปาอินทร์"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ