ข่าว

วินัยหน้าจอคือเรื่องของพ่อแม่ แนะตั้งกติกา 12 ข้อที่ต้องตกลงร่วมกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วินัยหน้าจอคือเรื่องของพ่อแม่ แนะตั้งกติกา 12 ข้อที่ต้องตกลงร่วมกัน ซึ่งช่วงนี้เด็กๆ และวัยรุ่นต้องอยู่บ้าน

วินัยหน้าจอคือเรื่องของพ่อแม่ : ช่วงนี้เด็กๆ และวัยรุ่นต้องอยู่บ้าน คลินิกตอนนี้จึงมี "ปัญหา" เด็ก "ติดหน้าจอมือถือ" เยอะขึ้นมากๆ สิ่งที่หมอได้ยินเสมอๆ จากพ่อแม่ เช่น

 

 

"ก็เค้าไม่ยอมเลิกอะครับ ร้องจะเล่นตลอดเลย" คุณพ่อของเด็ก 5 ขวบที่ลูกเล่นหน้าจอทั้งวัน

 

"พอบอกให้เลิก ก็อาละวาดโวยวาย คนในบ้านก็ต้องยอม" คุณตาของเด็กชายวัย 10 ขวบ

 

"แม่ก็บอกเค้าแล้วว่าให้เล่นให้น้อยๆ แต่ก็เล่นทั้งวัน งานบ้านให้ทำก็ไม่ทำ" คุณแม่ของวัยรุ่นอายุ 14

 

ผู้ใหญ่มักเข้าใจว่าการฝึกวินัย เป็นเรื่องที่เด็กและวัยรุ่น ควรจะ “กำกับได้ด้วยตัวเอง” แต่พอไม่ทำ... เราก็ “ทำอะไรไม่ได้” สมองของเด็ก เป็นสมองที่ทำอะไรตามความสุข ความสนุก และตามความติด

 

“วินัยจึงไม่ใช่เรื่องของเด็กๆ” ที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ดังใจพ่อแม่ วินัยจึง “เป็นเรื่องของผู้ใหญ่” ที่ต้องช่วยเด็กๆ เพื่อให้พวกเค้าควบคุมตัวเองได้ ทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร อย่าโยนภาระไปให้เด็กๆ เพื่อจะพบว่า “แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้” เพราะสุดท้าย ผลกระทบร้ายๆ ก็จะตกอยู่ที่ลูก

 

วินัยเชิงบวก คือ วินัยที่ฝึกโดยไม่ต้องใช้การบ่นซ้ำๆ แต่เป็นวินัยที่ฝึกได้ด้วยวิธี “kind but firm” ไม่พูดเยอะ แต่ลงมือทำจริง

 

วินัยการใช้หน้าจอ ฝึกโดยการสร้างความเข้าใจ ตั้งกติกา แล้วจริงจังตามกติกาที่ “เรา” ร่วมกันตั้งไว้

 

1. อย่าตั้งท่าเป็นศัตรูกับหน้าจอ หน้าจอไม่ได้มีแต่เรื่องเลวร้าย หลายครั้งถ้าใช้เป็น หน้าจอก็ช่วยพัฒนาอะไรๆ ได้หลายอย่าง

2. ฝึกตั้งกติกา ที่ช่วยพัฒนาการควบคุมตัวเอง เช่น การบ้าน งานบ้าน มาก่อน ถึงจะเล่นหน้าจอได้ (ฝึก EF ลำบากก่อน สบายที่หลัง)

3. หรือจะตั้งกติกา ที่จะฝึกการบริหารจัดการ ทำ to do list ในแต่ละวันไว้ หน้าจอเป็นหนึ่งในกิจกรรมนั้น ถ้าบริหารจัดการด้วยการทำสิ่งที่ต้องทำได้ วันต่อไปก็มีหน้าจอต่อ (ฝึก EF ด้านความคิดยืดหยุ่นและการบริหารจัดการ)

 

 

4. การเล่นหน้าจอไม่เป็นปัญหา ถ้าอยู่ในเวลาที่ “เรา” ตกลงกันไว้ (สร้างกติกาที่ร่วมตกลงกัน ติดไว้ชัดๆ ข้างฝาบ้าน)

 

5. เปิดโอกาสให้ลูกควบคุมตัวเองก่อน แต่ถ้าไม่ได้ ก็ใช้การจริงจังของพ่อแม่ “หมดเวลาแล้ว ลูกจะปิดเองหรือจะให้แม่ปิด”

 

6. ยืดหยุ่นกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ “โอเคจ้ะ ดูคลิปนี้จบแล้วปิดกันนะ”

 

7. ลูกกำกับตัวเองไม่ได้ ให้ดูว่าเกิดจากอะไร คุยกับลูกเรื่องทางแก้ไข ถ้าเป็นจากมีอาการติดมากเกินไปควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้หยุดเป็นพักๆ ก่อน

 

8. หยุดพักพรุ่งนี้ วันต่อไปให้มีโอกาสเริ่มใหม่ (อย่าเก็บยาว อย่าเอาแต่ใจตัวเราหรือกฏตัวเอง)

 

9. ลูกร้องไห้เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็แค่แสดงความเข้าใจ เห็นใจความไม่ได้ดังใจนั้น “เข้าใจ... แต่ไม่ตามใจ”

 

10. ชื่นชม “คุณสมบัติที่ดี” ทุกครั้งที่ลูกทำได้ดี “หนูเป็นเด็กที่รักษากติกาที่เราตกลงกันไว้ดีมากเลย แม่ชื่นใจมาก”

 

11. มีกิจกรรมอื่นทดแทนหน้าจอ อ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกม ศิลปะ ที่ลูกจะได้มีความสุข หรือสนุกไปกับพ่อแม่

 

12. อย่าเชื่อว่าไม่มีหน้าจอลูกจะเบื่อแล้วอยู่ไม่ได้ เวลาไม่มีอะไร เด็กมีความคิดสร้างสรรค์จากการ “เบื่อ” เสมอ

 

เด็ก เรียนรู้ด้วยการทดสอบพ่อแม่เสมอ ถ้าอะไรที่พบว่าควบคุมพ่อแม่ได้ ทำให้พ่อแม่จัดการไม่ได้ เด็กจะใช้วิธีนั้นซ้ำๆ การใช้วิธี “ใจดีแต่จริงจัง” (kind but firm) จึงเพื่อการฝึกวินัย ที่ไม่ใช่รอการคิดได้ของเด็กๆ

 

ยาวหน่อย แต่อยากให้ลองเอาไปปรับใช้ดูนะคะ 

 

อ้อ ช่วงโควิด บางอย่างก็อย่าถึงกับเข้มงวดมากไป อะไรที่ยืดหยุ่นได้ ดูแล้วไม่มีอะไรเสียหาย ให้ยืดหยุ่นบ้าง ตอนนี้แค่ลูกไม่คุ้มคลั่ง ก็เก่งมากแล้ว

 

ขอบคุณเพจ : เลี้ยงลูกนอกบ้าน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาหาร 5 สี บำรุงสายตา แก้ความเมื่อยล้าจากหน้าจอคอม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ