ข่าว

เช็ก สัญญาณเตือน'โรคย้ำคิด ย้ำทำ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถึงแม้ "โรคย้ำคิด ย้ำทำ"จะไม่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิตแต่ก็กระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือสร้างความรู้สึกรำคาญได้มากทีเดียว.. เช็กสัญญาณเตือนคุณเข้าข่ายหรือไม่

 

ลักษณะอาการที่บ่งบอกว่ากำลังจะเป็น"โรคย้ำคิด ย้ำทำ" ได้แก่

 

1. อาการเป็นมากและรู้สึกว่าเลิกคิด เลิกทำไม่ได้ รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานมาก

 

2. อาการเป็นมากจนทำให้เสียงานเสียการ เพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำ เช่น มัวแต่คิดว่าลืมปิดไฟที่บ้าน ทำให้ต้องกลับบ้านไปปิดไฟ โดยที่ขณะนั้นอาจเป็นเวลางาน

 

3. อาการต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องทำอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การดื่มของมึนเมาเพื่อลดความเครียด โกรธหรือทำร้ายตัวเอง บางรายอาจซึมเศร้าจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย

 

สำหรับผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงหรือเป็นไม่มากอาจแค่รู้สึกรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง จัดว่าไม่เป็นอันตราย

 

แต่ถ้าหากปล่อยไว้จนถึงขั้นรุนแรงก็อาจส่งผลต่อชีวิตและเป็นอันตราย ควรพบแพทย์หากมีอาการยาวนานเกิน 6 เดือน

 

 

 

"โรคย้ำคิด ย้ำทำ" เกิดจากอะไร

 

ความจริงแล้ว"โรคย้ำคิด ย้ำทำ"หรือ OCD เกิดมาจากการทำงานผิดปกติในสมองและระบบประสาทที่มีการทำงานบกพร่องอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ มีการทำงานของสมองบางส่วนมากเกินปกติ สมองส่วน Orbitofrontal, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus หรือเกิดความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึก

 

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้อาจเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือปัจจัยสภาพแวดล้อมอย่างประสบการณ์เลวร้ายที่พบเจอในชีวิต เช่น ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการรุนแรงในวัยเด็ก ถูกทารุณกรรมทั้งทางกายและทางใจหรือปัญหาชีวิตที่รุนแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

 

อาการ "โรคย้ำคิด ย้ำทำ"ที่มักเกิดขึ้น

 

เป็นไปได้ที่ผู้ป่วย"โรคย้ำ คิดย้ำทำ"อาจมีแค่อาการย้ำคิด(Obsession)ซึ่งเป็นแค่ความคิดภายในสมองที่ผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ ทำให้เกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจและไม่สามารถหยุดคิดได้ มีความคิดวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา

 

บางครั้งก็เกิดจากการจินตนาการไปเองว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นหรืออาจมีอาการย้ำทำ(Compulsion)คือมีการตอบสนองความคิดความกังวลนั้นด้วยการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ลดความไม่สบายใจหรือความกลัวนั้นลงซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำเพื่อตอบสนองการย้ำคิด

 

เช่นคิดว่ามือสกปรก เลยต้องล้างมือซ้ำ ๆ ล้างแล้วล้างอีก ส่วนใหญ่จะพบอาการย้ำคิดร่วมกับย้ำทำ โดยพบร้อยละ 80 โดยที่เหลืออีกร้อยละ 20 มีแต่อาการย้ำคิด  ซึ่งพฤติกรรมที่มักจะเป็นและสังเกตได้ชัดก็มีดังต่อไปนี้

 

อาการย้ำคิด

• กลัวความสกปรกมากกว่าปกติ กลัวติดเชื้อโรคจากการหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งต่างๆ

 

• เกิดความไม่สบายใจทันทีถ้าเห็นความไม่เป็นระเบียบ สิ่งของที่จัดไม่เท่ากัน ไม่เรียบร้อย ไม่สมดุล

 

• วิตกกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น คิดว่าลืมปิดเตาแก๊ส ลืมล็อคประตูหรือเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

 

• มีความคิดยึดติดหรือเชื่ออย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหรือเรื่องเพศ

 

อาการย้ำทำ

• ล้างมือบ่อย ๆ แบบเกินความจำเป็นหรือทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ แบบซ้ำ ๆ

 

• ตรวจความเรียบร้อยซ้ำ ๆ อย่างการไปปิดแก๊ส ล็อคประตู เดินไปดูแล้วดูอีก เดินเข้าเดินออก

 

• จัดระเบียบหรือจัดสิ่งของต่าง ๆ แบบที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ต้องหันไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด

 

• มักจะต้องทำทุกสิ่งให้ครบตามจำนวนที่ตนเองกำหนดไว้

 

• ชอบเก็บสะสมสิ่งของมากเกินความจำเป็น

 

อาการ"ย้ำคิด ย้ำทำ"ยังมีความแตกต่างจากอาการโรคจิต เพราะคนที่มีอาการ"ย้ำคิด ย้ำทำ"ยังมีความเข้าใจ มีเหตุและผล สามารถอยู่กับความเป็นจริงได้ แต่ถ้าหากว่าอาการมันรุนแรงขึ้นมากๆ ก็อาจเข้าใกล้อาการของโรคจิตได้เช่นกัน 

 

ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ปัจจุบันนี้ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทาและควบคุมอาการอยู่เช่นกัน รวมถึงการรักษาโดยการบำบัดด้วย

 

ซึ่งการใช้ยานั้นโดยปกติยาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วย"โรคย้ำคิด ย้ำทำ"นี้มักจะใช้ยาในกลุ่มแก้โรคซึมเศร้าซึ่งก่อนรับยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ พูดคุยอย่างละเอียดเสียก่อน

 

เช็กตัวเองอย่างไรใช่"โรคย้ำคิด ย้ำทำ"หรือไม่

ถ้าคุณคิดว่าไม่แน่ใจว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำๆ นี่ใช่โรค OCD หรือเปล่า ให้ลองพิจารณาดูว่าหากการย้ำคิดย้ำทำนั้นเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน สร้างความวิตกกังวล ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและหยุดคิดไม่ได้ หรืออาจทำให้เกิดผลกระทบทางร่างกายเช่น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไปหรือล้างมือบ่อยเกินไปจนเริ่มมีปัญหาทางผิวหนัง

 

และที่สำคัญอาการ"ย้ำคิด ย้ำทำ"มักจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นไปกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1ชั่วโมงในหนึ่งวันด้วย

 

ป้องกันตนเองจาก"โรคย้ำคิด ย้ำทำ"ได้อย่างไร

เบื้องต้นแนะนำรีบไปพบแพทย์และหาทางรักษา หากจำเป็นต้องรักษาควรมีความอดทนกับการเข้ารับการบำบัดและฝึกตัวเอง

 

การรักษาไม่ควรใจร้อนเพราะอาการของ"โรคย้ำคิด ย้ำทำ"มักจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาจไม่เร็วอย่างที่คิดแต่จำเป็นต้องบำบัดดูแลเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีการลดความรุนแรงที่สามารถทำเองได้ด้วย เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนั้น ๆ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ

 

ถึงแม้ "โรคย้ำคิด ย้ำทำ"จะไม่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิตแต่ก็กระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือสร้างความรู้สึกรำคาญได้มากทีเดียว

 

ผู้ป่วย"โรคย้ำคิด ย้ำทำ"สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อลดความรุนแรงของโรคลงได้ ด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง หรือรับการบำบัดจากนักจิตบำบัด อาการย้ำคิด ย้ำทำก็จะทุเลาลง และควบคุมได้

 

ขอบคุณที่มา : รพ.เปาโล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ