ข่าว

เช็กให้ดี "ตาขี้เกียจ" ก่อนลูกมองไม่เห็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคน มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรค"ตาขี้เกียจ"ในเด็ก ว่ามันคืออะไร มาลองเช็กอาการกันดู ก่อนที่ลูกจะมองไม่เห็น

"โรคตาขี้เกียจ"(Lazy Eye) เชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน อาจจะไม่คุ้นหู จนทำให้ไม่ทราบว่า ร้ายแรงได้ถึงขนาดที่ลูกอาจสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต และปัจจุบันโรคตาขี้เกียจในเด็ก พบมากถึง 3 – 5% เพราะฉะนั้น การพาลูกน้อย ไปตรวจเช็กสายตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ คือสิ่งสำคัญที่ไม่เพียงช่วยป้องกันความผิดปกติทางสายตา ยังสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาให้หายขาดได้ แต่เราจะมีวิธีสังเกตอย่างไรว่า ลูกน้อยของเรา เข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจแล้ว มาเช็กกันเลย

 

เช็กให้ดี "ตาขี้เกียจ" ก่อนลูกมองไม่เห็น

ตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คือ การที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นได้ไม่ดีเท่าอีกข้างหนึ่ง หรือข้างหนึ่งเห็นไม่ชัด อีกข้างหนึ่งเห็นชัดปกติ ซึ่งดวงตาข้างที่มองเห็นไม่ชัด  เกิดจากการสูญเสียพัฒนาการการมองเห็น เรียกว่า ตาขี้เกียจ โดยปกติพัฒนาการการมองเห็นในเด็ก จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึง 7 ขวบ หลังจากนั้นจะหยุดพัฒนา ดังนั้น ถ้ารักษาไม่ทันปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป เจ้าตัวเล็กอาจสูญเสียการมองเห็นในระยะยาว

หากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตเห็นว่า ลูกน้อย มีสายตาไม่เท่ากัน เช่น สายตาสั้นของตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ข้างหนึ่ง 0 อีกข้างหนึ่ง 300 หากไม่ได้สวมแว่นตา เด็กจะไม่รู้ว่าตาอีกข้างหนึ่งที่ไม่ได้สวมแว่น มองเห็นไม่ชัด ดังนั้น พัฒนาการของดวงตาจึงไม่เท่ากัน  

อีกข้อที่ควรสังเกต คือ ตาเข ตาเหล่ โดยปกติมนุษย์มีดวงตาตรง และรวมภาพเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นหากตาเข หรือตาเหล่ แสดงว่ากล้ามเนื้อตาผิดปกติ มีทั้งการเขเข้า เขออก เขขึ้น เขลง หากปล่อยไว้นานจะส่งผลต่อพัฒนาการการมองเห็น

สุดท้าย เกิดจากโรคอี่น ๆ ทางตาที่บดบังการมองเห็น เช่น ต้อกระจกในเด็ก แผลที่กระจกตาในเด็ก หนังตาตกตั้งแต่กำเนิด ตาตกข้างเดียว ล้วนทำให้พัฒนาการการมองเห็นไม่ดี ไม่เกิดการพัฒนาและกลายเป็นตาขี้เกียจ

 

เช็กให้ดี "ตาขี้เกียจ" ก่อนลูกมองไม่เห็น

ส่วนวิธีการป้องกันตาขี้เกียจในเด็กที่ดีที่สุดคือ การพามาตรวจเช็กสายตากับจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และพามาตรวจเช็กเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เว้นแต่ในกรณีที่คุณแม่คลอดก่อนกำหนด จะต้องตรวจเช็กตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ เพื่อเช็กในเรื่องต้อกระจก และตาเข ตาเหล่ ส่วนในช่วง 3 – 5 ขวบ เมื่อเด็กเริ่มไปโรงเรียนและใช้สายตา หากมาตรวจเช็กแล้วพบว่าสายตาผิดปกติในช่วงนี้จะได้รักษาได้ทันท่วงที เช่น พบว่าสายตาสั้นจะได้ใส่แว่นสายตา เป็นต้น

แล้วถ้าหากว่าลูกน้อยเป็นโรคตาขี้เกียจแล้ว จะมีวิธีรักษาอย่างไร

1. วัดการมองเห็นในเด็กเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจ

2. รักษาโดยปิดตาดีให้หยุดพัฒนา กระตุ้นตาข้างที่เสียให้พัฒนาทัน ระยะเวลาในการปิดตาขึ้นอยู่กับอายุเด็ก

3. เด็กสายตาสั้นต้องใส่แว่น

4. เด็กตาเขต้องผ่าตัดให้ตรง

5. ตรวจเช็กติดตามอาการต่อเนื่อ

เมื่อรู้ต้นสายปลายเหตุแล้ว คุณพ่อคุณแม่ ก็ควรหมั่นเช็กดูสายตาของลูกน้อย หากสงสัยว่าเข้าข่าย เป็นโรคตาขี้เกียจ ก็ควรพามาตรวจทันที ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด เพราะยิ่งมาช้า ยิ่งรักษายาก หรือรักษาไม่ได้ เลยทีเดียว

ที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ