Lifestyle

อิ่มเอมกับศิลปะบนผืนผ้าอันแสนวิจิตร กับ "Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels" นิทรรศการแสดงผ้าหายากนานาชาติ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อิ่มเอมกับศิลปะบนผืนผ้าอันแสนวิจิตร กับ "Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels" นิทรรศการแสดงผ้าหายากนานาชาติ 

 


จากเส้นไหมและขนสัตว์นำมาถักทอผสานเข้ากับจินตนาการก่อเกิดลวดลายสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ ผ้าทอจึงเป็นงานศิลป์ชั้นเลิศอีกทั้งในสมัยโบราณลวดลายบนผ้ายังบ่งบอกถึงฐานะทางสังคม ผ้าทอจึงกลายเป็นของสะสมล้ำค่าของเหล่านักสะสมผู้มีรสนิยมทั่วโลก เช่นเดียวกับ คุณรอล์ฟ วอน บูเรน ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีรสนิยมเป็นเลิศและมีสายตาที่เฉียบคมในการคัดสรรเฉพาะศิลปวัตถุชิ้นงามหายากจากทั่วโลก ได้สะสมผ้าทอโบราณจากทั่วโลกมากมาย โดยเฉพาะผ้าทอในแถบประเทศเอเชียซึ่งนับวันองค์ความรู้เทคนิคการทออันมีค่าเหล่านี้ใกล้

 


สูญหายและด้วยความตั้งใจที่อยากแบ่งปันงานศิลปะผ้าทอโบราณให้เหล่านักสะสมและคนรักงานฝีมือได้มีโอกาสชื่นชมและครอบครองศิลปวัตถุชิ้นงามเหล่านี้ จึงจัดงาน “Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels” นิทรรศการแสดงผ้าหายากนานาชาติ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่พัชมีนา (Pashmina Shawls) อายุกว่า 200 ปี สวยงามด้วยเทคนิคการทอแบบดั้งเดิมซึ่งมีความซับซ้อน ในปัจจุบันความรู้นี้ได้สูญหายไป, ผ้าโอบิ (Obi) หรือผ้าคาดเอวในชุดกิโมโนของ อาจารย์เกนเบ ยามากูจิ (Genbei Yamaguchi) ปรมาจารย์แห่งโอบิญี่ปุ่น ผู้นำงานศิลปะชั้นสูงที่ซึมซับหัตถกรรมญี่ปุ่นโบราณผสมผสานกับเทคนิคการดัดแปลงศิลปะยุคโมเดิร์น นอกจากนี้ภายในงานยังจัดแสดง กระเป๋าคอลเลกชั่น Woven Jewels ซึ่งนำผ้าโอบิของญี่ปุ่น, ผ้าบาติกของมาเลเซีย ผสานเทคนิคการปักลายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผ้าส่าหรีของอินเดีย มาดีไซน์เป็นกระเป๋าใบงาม โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ลักขณา คุณาวิชยานนท์ รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการในครั้งนี้ ผู้สนใจสามารถนัดหมายเพื่อเข้าชมได้ที่เบอร์ 089-667-6077 ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ แกลลอรี่ พระราม 3 


คุณรอล์ฟ วอน บูเรน เผยถึงความหลงใหลในความงามของสิ่งทอว่า สิ่งทอที่เกิดขึ้นจากความอุตสาหะ จินตนาการของช่างทอ สะท้อนให้เห็นทั้งวิถีชีวิต อารยธรรม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศเรียกว่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และด้วยลักษณะของงานทำให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศ
แถบเอเชีย  เพื่อแสวงหาช่างฝีมือและวัสดุหายากมารังสรรค์เป็นเครื่องประดับ ของแต่งบ้าน จึงได้พบกับช่างทอผ้ามากฝีมือและเริ่มสะสมหัตถศิลป์ผ้าทอมือจากประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีความประณีตและการออกแบบลายผ้าที่น่าทึ่ง โดยเริ่มสะสมตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา หรือเมื่อ 56 ปีก่อน และอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้เห็นความสวยงามของงานศิลปหัตถกรรม


ผ้าคลุมไหล่พัชมีนา (Pashmina) จากแคชเมียร์ ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ของสะสมที่นำมาแสดงของคุณรอล์ฟมีอายุกว่า 200 ปี ผ้าแต่ละผืนรวมความมหัศจรรย์ของเทือกเขาหิมาลัยโดยการนำขนแพะชั้นในสุดซึ่งมีความนุ่มละเอียดมากและเป็นแพะที่อาศัยอยู่ในระดับความสูง 4,300 เมตรขึ้นไป มาถักทอเส้นใยแนวทแยง ความซับซ้อนของลวดลาย การจัดเรียงสีอย่างพิถีพิถัน ซึ่งย้อมด้วยสีธรรมชาติจากหญ้าฝรั่น ปรากฏเป็นความงดงามที่ตกผลึกและมอบความอบอุ่นแก่ผู้ครอบครองมาหลายศตวรรษ แต่เป็นที่น่าเสียดายในปัจจุบันองค์ความรู้ในการทอผ้าชนิดนี้ค่อยๆ เลือนหายไป 


 
ผ้าคลุมไหล่พัชมีนาของสะสมของคุณรอล์ฟถูกเก็บรักษาไว้ในห้องที่ควบคุมแสงสว่างและความชื้น โดยเปิดแอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาอุณหภูมิของห้องให้คงที่รวมถึงการดูแลความสะอาดของห้องเพื่อป้องกันแมลงที่อาจจะกัดกินผ้า ทั้งนี้ผ้าคลุมไหล่พัชมีนาของสะสมของคุณรอล์ฟที่นำมาจัดแสดง โดดเด่นด้วยลาย โบเทธ์ (Boteh) หรือเรียกว่าลายเพสลีย์ (Paisley) หรือลายลูกน้ำ อันโด่งดังในโลกแฟชั่นจนถึงปัจจุบัน ลายโบเทธ์ มีต้นกำเนิดจากเปอร์เซีย หมายถึง ดอกไม้ หรือ ช่อดอกไม้ใบไม้ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความเป็นนิรันดร์ ต่อมาลายโบเทธ์ได้เผยแพร่เข้าสู่อนุทวีปอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ซึ่งเป็นยุคของจักรวรรดิโมกุล นิยมนำไปทอเป็นลวดลายบนผ้าคลุมไหล่ ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมในชนชั้นสูงและขุนนาง จากนั้นช่วงกลางศตวรรษที่ 17 หรือยุคล่าอาณานิคม ลายโบเทธ์ได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศในแถบยุโรปและกลายเป็นลวดลายยอดฮิตตลอดกาลในโลกแฟชั่น

                   

1. 19th Century ‘Jamawar’ Kashmir Shawl Fragment with Linear Alternating Boteh Motifs ผลิตขึ้นใน ค.ศ.1850 (พ.ศ. 2393)
2. 19th Century ‘Jamawar’ Kashmir Shawl Fragment, with Linear Boteh in the Center and Elongated Motifs at the Borders ผลิตขึ้นใน ค.ศ.1850 (พ.ศ. 2393)
3. 19th Century ‘Jamawar’ Kashmir Shawl, with Boteh Motifs with Orange Border ผลิตขึ้นใน 
ค.ศ.1860 (พ.ศ. 2403)
                   
 


4.  19th Century 'Jamawar' Kashmir Shawl, with Boteh Motifs with Orange Border ผลิตขึ้นใน ค.ศ.1850-1860 (พ.ศ. 2393 - 2403)
5. 19th Century 'Jamawar' Kashmir Shawl, with Abstract Spear Shaped Motifs and Black Borderผลิตขึ้นใน ค.ศ.1870 (พ.ศ. 2413)
6. 19th Century 'Jamawar' Kashmir Shawl Fragment, with Bent-Tip and Spear Form Boteh Motifsผลิตขึ้นใน ค.ศ.1890 (พ.ศ. 2433)


ผ้าโอบิ (Obi) หรือ ผ้าคาดเอวในชุดกิโมโน ที่นำมาจัดแสดงเป็นของ อาจารย์เกนเบ ยามากูจิ ปรมาจารย์แห่งโอบิญี่ปุ่น ทายาทรุ่นที่ 10 ของ คอนดายะ เกนเบ (Kondaya Genbei) โรงงานผู้ผลิตผ้าทอโอบิมากว่าสามศตวรรษ แห่งเมืองเกียวโต มาจัดแสดงเพื่อให้นักสะสมผ้าโบราณหายากและคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสชมความอัศจรรย์ความงดงามที่ประเมินมูลค่ามิได้ ประกอบกับแนวทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะของเกนเบ กับ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ มีความคล้ายคลึงกันคือ นำหัตถศิลป์โบราณและวัสดุจากธรรมชาติผสมผสานเข้ากับงานดีไซน์แบบร่วมสมัย กลายเป็นงานศิลปะที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน ให้กลับมาเป็นที่ยอมรับและชื่นชมของยุคสมัยศตวรรษที่ 21 


อาจารย์เกนเบ ยามากูจิ ได้ศึกษาเส้นใยโบราณ เทคนิคการทอโบราณจากชิ้นงานต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์และนำมาทดลองปรับใช้ใหม่จนเกิดผลงานชิ้นเอกมากมาย อาทิ โอบิทอจากใยไหม, เส้นใยที่ผลิตจากเปลือกต้นเชอร์รี่, เปลือกหอยมุก, ยางต้นพลับ นอกจากนี้ยังคิดค้นวิธีบดหินลาพิส ลาซูลี (Lapis lazuli) เพื่อย้อมผ้าสีฟ้า รวมถึงผลงานเลื่องชื่อที่นับว่าเป็นเทคนิคการทอที่ยากที่สุด คือ ผ้าโอบิที่ทอจากขนนกยูง ซึ่งเป็นศิลปะการทอที่ใกล้สูญหาย  


7. TORYUMON Obi - 'A Gateway to Success' โอบิผืนนี้ได้นำเทคนิคศิลปะแลคเกอร์มารังสรรค์เป็นลวดลายปลาคาร์ฟสีทองว่ายทวนน้ำ ซึ่งตามความเชื่อของญี่ปุ่น ปลาคาร์ฟสามารถว่ายทวนน้ำไปถึงประตูมังกร อีกทั้งยังสามารถแปลงร่างเป็นมังกรได้ ปลาคาร์ฟจึงเป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อในเรื่องของความเพียรพยายาม 
8. Dance of the Dragon โดดเด่นด้วยลายมังกรสีทอง กำลังแหวกว่ายบนท้องฟ้าอย่างอิสระ โดยโอบิผืนนี้ใช้เทคนิคการทอแบบนิชิจิน โอริ (Nishijin-ori) เป็นวิธีการทอแบบดั้งเดิม ซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15 นับเป็นศิลปะหัตถกรรมชั้นสูงที่หาชมได้ยาก
9. "KOZATSUZU, Hybridization" by Fuyuko Matsui โอบิผืนนี้ได้สะท้อนความงามของกล้วยไม้ โดยเป็นภาพวาดของจิตรกรสาวชาวญี่ปุ่น ฟุยุโกะ มัทซุย (Fuyuko Matsui) เส้นไหมแต่ละเส้นถูกถักทอขึ้นเป็นดอกไม้แสนสวย พื้นหลังใช้วิธีการทอแบบฮิกิ บาคุ (Hiki-Baku) โดยใช้ Gold Foil หรือ ทองคำเปลว


     
 


10. KOI at TORYUMON A Carp ลวดลายปลาคาร์ฟสีทองทำจากทองคำเปลว กำลังแหวกว่ายในน้ำบน
ผ้าโอบิผื้นนี้ถูกถักทอขึ้นอย่างประณีต โดยคลื่นใช้เทคนิคการทอแบบฟูซึ (Fu-tsu) ซึ่งทำให้เกิดมิติของลวดลายอย่างน่าอัศจรรย์
11. Pegasus ลวดลายเพกาซัสสีทองบนผ้าโอบิผืนนี้ทำจากทองคำเปลว พื้นหลังทอด้วยเทคนิคฮิกิ บาคุ (Hiki-Baku) โดยได้แรงบันดาลใจจากลวดลายบนขวดน้ำโบราณทำจากทองแดง เมื่อประมาณ 1300 ปี ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในวัดโฮรีวจิ เมืองอิการูงะ จังหวัดนาระ ประเทศญี่ปุ่น 
12. Peacock โอบิผืนนี้นับเป็นสุดยอดงานศิลปะของอาจารย์เกนเบ ด้วยเทคนิคการทอที่ซับซ้อนและยากที่สุดด้วยการใช้ไหมทองและเงินถึง 10 ชนิด โดยช่างฝีมือที่เหลือเพียงคนเดียวในโลกที่สามารถทอผ้าด้วยเทคนิคพิเศษนี้และปัจจุบันได้เกษียณอายุแล้ว นอกจากนี้ยังใช้เงิน ทองคำเปลว ที่มีอายุประมาณ 100 ปี ซึ่งทำให้เกิดมิติของสีที่แตกต่างกันในการทอ เกิดเป็นลวดลายขนนกยูงแสนวิจิตรซึ่งหาไม่ได้อีกแล้ว

              
    


เสื้อคลุมฮาโอริ (Haori) หรือ เสื้อตัวนอกสุดของชุดกิโมโน ที่นำมาจัดแสดงทั้ง 4 ชุด จากแบรนด์ NOBLE SAVAGE ล้วนเป็นผลงานชิ้นเอกของ อาจารย์เกนเบ ยามากูจิ ซึ่งเป็นดีไซน์ที่เป็นที่นิยมของกลุ่ม KABUKI-MONO (คาบุกิโมโน) เมื่อประมาณ 250 ปีก่อน โดยผสาน 2 เทคนิคการย้อมสี คือ Tenasen (เทนนะเซน) เป็นการพิมพ์สกรีน,  Hikisome (ฮิกิโซเมะ) ย้อมพื้นผิวทั้งหมดด้วยแปรง 


โดยลายแรก  13. YABURE KOSHI สีขาวและสีดำ 14. Maria Magdalena โดดเด่นด้วยลายภาพวาดของ การาวัจโจ (Caravaggio) ซึ่งเป็นจิตรกรคนสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ผลงานของเขาได้แผ่อิทธิพลต่อวงการจิตรกรรมของอิตาลีที่เป็นช่วงปลายยุคเรอเนสซองส์และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นของยุคบาโรก 
15. Andromeda เด่นด้วยลายยอดนิยมของชุดยูกาตะสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง

    

สำหรับ กระเป๋าคอลเลกชั่น Woven Jewels ทางโลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ ได้นำความงดงามของศิลปะ
ผ้าทอหลอมรวมกับดีไซน์สมัยใหม่ ประดับด้วยวัสดุจากธรรมชาติอันเป็นจิตวิญญาณของแบรนด์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์งานหัตถกรรมทอผ้าให้คงอยู่
                   
     

16. Antique Japanese Obi Textile Handbag กระเป๋าผ้าไหมโอบิของญี่ปุ่นจากยุคเอโดะ ลวดลาย
ต้นซากุระ ประดับเพชร ด้ามจับทำจากไม้ดำแกะสลัก
17. Japanese Cloud Handbag with Silver Handle กระเป๋าใบนี้ทำจากผ้าญี่ปุ่นโบราณปักลายเมฆอย่างประณีต อายุประมาณ 80-100 ปี ประดับลูกปัดหินคาลซิโดนี (Chalcedony) ด้ามจับทำจากเงินแท้รมดำ
18. Embroidery Handbag with Butterfly and Diamond กระเป๋าที่ผสานความงามของ 2 วัฒนธรรมไทย-มาเลเซีย คือ นำผ้าบาติกจากประเทศมาเลเซียและงานปักจากช่างฝีมือชั้นสูงของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 
มาดีไซน์เป็นกระเป๋าใบเก๋ ประดับด้วยเพชร มุก และผีเสื้อเงินชุบทอง

         

19. Japanese Handbag with Pink Cobalt Calcite Diamond กระเป๋าถือใบนี้งดงามด้วยผ้าไหมญี่ปุ่นอายุกว่า 100 ปี กรอบทำจากเงินแท้รมดำ ตัวล็อคประดับด้วยหินแคลไซต์ (Calcite) สีชมพู ซึ่งช่วยทำให้จิตใจสงบ 
เพิ่มเติมความหรูหราด้วยการประดับเพชร, บุษราคัม, ทัวร์มาลีนสีชมพู และ ลูกปัดอาเกตสีดำ เป็นหินที่นำโชค
ด้านชัยชนะ การแข่งขัน


นอกจากนำผ้าไหมโอบิจากญี่ปุ่นและผ้าบาติกของมาเลเซียผสานเทคนิคงานปักของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ของเมืองไทยมาดีไซน์เป็นกระเป๋าแล้วทางโลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ ยังนำ "ส่าหรี" ผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ความงดงามของประเทศอินเดียมาครีเอทเป็นกระเป๋าที่งดงามน่าครอบครอง 20. Antique Indian ‘Zari’ Saree Handbag with a Red Coral Sunflower โดดเด่นด้วยผ้าสาหรีโบราณ สะท้อนศิลปะการทอที่ซับซ้อนซึ่งทำจากทองคำหรือเงิน ประดับด้วยปะการังสีแดง (Red Coral) แกะสลักเป็นรูปดอกทานตะวัน เพิ่มความคลาสสิกด้วยกรอบกระเป๋าและด้ามจับไม้ไผ่ ประดับเพชร พลอยซาวอไรต์ (Tsavorite) สีเขียว และลูกปัดหิน
นัดหมายเพื่อเข้าชม ความอัศจรรย์ของผ้าทอมือโบราณ Lotus Arts de Vivre : Woven Jewels 
ได้ที่เบอร์ 089-667-6077 ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ โลตัส อาร์ต 
เดอร์ วีฟว์ แกลลอรี่ พระราม 3 และติดตามได้ที่ www.lotusartsdevivre.com, Instagram @lotusartsdevivre 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ