Lifestyle

Thaihealth Watch พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 2.4เท่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Thaihealth Watch พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 2.4เท่า ในรอบ10ปี โดยเฉพาะคนเมือง เปิดงานวิจัยพบ กินผักผลไม้ 4 ขีดต่อวัน ธัญพืชไม่ขัดสีลดความเสี่ยงได้ แพทย์เผย 3 สาเหตุ"พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค" แนะปรับพฤติกรรมการกิน

            จากการเสียชีวิตของ แชดวิก โบสแมน ผู้รับบทกษัตริย์ทีชาล่าใน “Black Panther” ที่เสียชีวิตด้วยวัย 43 ปี โดยบัญชี Twitter ของเขารายงานว่าเขาได้ต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะที่ 3 มากว่า 4 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4

 อ่านข่าว : คอหนังเศร้า "แชดวิก โบสแมน" นักแสดงนำ Black Panther เสียชีวิตแล้ว

           ล่าสุดข้อมูลของ Thaihealth Watch ได้รายงานสถานการณ์สุขภาพคนไทยพบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคลำไส้ใหญ่ 10 ปีย้อนหลังเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า โดยเฉพาะคนในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร และภาคกลางที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต

 

         ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า จากข้อมูลของ Thaihealth Watch ร่วมกับสำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ซึ่งได้รวบรวมสถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่างปี 2552 – 2561 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย

 

         โดยในปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561

 

        ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตกทม.ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า       

          ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จากรายงาน Food and Agriculture Organization and the World Health Organization (FAO/WHO) พบว่า การบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 4-6 ขีด ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

        โดยรายงานวิจัยด้านอาหารโภชนาการและการออกกำลังกายกับการป้องกันมะเร็ง (The Continuous Update Project : CUP) ตีพิมพ์ปี 2561 พบความสัมพันธ์ระหว่างธัญพืช ผักและผลไม้ต่อความเสี่ยงของมะเร็งพบว่า การบริโภคพืชที่เรียกว่า “โฮลเกรน” หรือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ และการบริโภคใยอาหารจากผักผลไม้อย่างน้อย 4 ขีดต่อวัน ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ลดความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินได้ ซึ่งกลไกการทำงานของใยอาหารยังช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีที่เจริญในลำไส้ใหญ่ ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ ช่วยเร่งการขับถ่าย ทำให้ไม่มีของเสียค้างในลำไส้

 

       นอกจากนี้ "การออกกำลังกาย" จะช่วยระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต

 

        รศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์หน่วยโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากความผิดปกติของผนังลำไส้ใหญ่ที่เกิดได้ทั่วไปในคนธรรมดา แต่มี 3 สาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค คือ
      1. พันธุกรรม เช่น มียีนผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง

      2. พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย และการกินอาหารบางชนิด

      3. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ของคนไทยที่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าตัวนั้นมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมากกว่าพันธุกรรม ทางตะวันตกมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้มากกว่าประเทศไทย

 

       แต่สำหรับประเทศไทยที่พบแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองน่าจะมาจากพฤติกรรมที่คล้ายกับทางตะวันตกมากขึ้นโดยเฉพาะการกินอาหารที่มีผักน้อย เน้นเนื้อและมีไขมันสูง รวมถึงภาวะอ้วนก็เพิ่มความเสี่ยง ซึ่งมีข้อมูลที่ชัดเจนจากหลายงานวิจัยพบว่า การทานผักจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรลดการกินเนื้อแดง เนื้อปิ้งย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค

 

       รศ.นพ.ม.ล.ทยา กล่าวอีกว่า การคัดกรองมะเร็งก็สามารถลดการเสียชีวิตจากมะเร็งได้ก่อนที่มะเร็งจะกลายพันธุ์มาจากติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งช่วงนี้ใช้เวลาหลายปี จึงเป็นช่วงที่แพทย์และผู้ป่วยอยากเจอให้เร็วที่สุดเพราะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ปัญหาคือระยะดังกล่าวไม่แสดงอาการ แม้แต่การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ช่วงต้นก็อาจจะไม่แสดงอาการ เพราะแม้จะมีเลือดออกบ้างแต่หากปนกับอุจจาระก็อาจจะไม่สังเกตเห็น หรือบางกรณีก็ไม่มีเลือดออก หลายคนจึงรู้ตัวเมื่อมีอาการเมื่อช่องลำไส้ตีบลง ซึ่งเมื่อถึงระยะนี้ก็จะรักษาให้หายยากกว่า     

         รศ.นพ.ม.ล.ทยา กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองก่อนมีอาการ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ญาติหรือคนในครอบครัวที่ห่างจากเรา 1 ขั้น เช่น พ่อแม่ พี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ หรือคนที่เคยเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มเสี่ยงปกติหรือคนทั่วไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ จึงควรตรวจคัดกรองในช่วงอายุ 50-70 ปี

 

        "ซึ่งการตรวจคัดกรองมีอยู่ 3 ทางเลือกคือ 1. การตรวจอุจจาระเพื่อหาสารปนเปื้อนหรือเลือด ซึ่งวิธีนี้ทาง สปสช.มีโครงการสุ่มตรวจประชาชนเพื่อคัดกรองมะเร็งแล้ว 2. การส่องกล้องเพื่อดูและตัดติ่งเนื้อ หรือ 3. การทำ CT Scan พิเศษส่วนลำไส้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้การปรับพฤติกรรมการกินมีความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในกลุ่มคนทั่วไป แต่ยังไม่สามารถลดความเสี่ยงเป็นสูญได้ จึงควรตรวจคัดกรองล่วงหน้าก่อนมีอาการด้วย” รศ.นพ.ม.ล.ทยา กล่าวในที่สุด

      Thaihealth Watch พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 2.4เท่า

     ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

     Thaihealth Watch พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 2.4เท่า

 

      Thaihealth Watch พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้น 2.4เท่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ