Lifestyle

ระวัง... "โรคงูสวัด" โรคเก่าที่กลับมาใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ช่วงนี้จะพบคนไข้มาปรึกษาเรื่อง ตุ่มน้ำ ที่ผิวหนัง เป็นกลุ่ม ๆ เรียงกันเป็นแนว อยู่หลายคน จนเริ่มสงสัยว่างูสวัดมีการระบาดหรือเปล่า แต่งูสวัดเป็นโรคที่อยู่ในตัวผู้ที่เป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อร่างกายภูมิตก อ่อนแอพักผ่อนน้อยเครียดไม่ออกกำลังกายงูสวัดถึงออกมาได้

เพราะฉะนั้นจึงบอกว่ามีการระบาดคงไม่ถูกต้องนัก เลยมาค้นข้อมูลการเกิดโรคนี้ทำให้พบว่า ตัวเลขจากสำนักงานระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์โรคงูสวัดในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป สอดคล้องกับข้อมูลจากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่จัดให้โรคงูสวัดเป็น 1 ใน 3 โรคติดเชื้อที่สำคัญร่วมกับไข้หวัดและปอดบวม  โดยพบได้ราวร้อยละ 20-30 ในประชาชนทั่วไป และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี  และข้อมูลจากสถาบันโรคผิวหนังพบผู้ป่วยงูสวัด ปีละประมาณ 1,000 คน  เรามารู้จักข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้กันดีกว่า

 


"งูสวัด" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus : VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อร่างกายได้รับเชื้อชนิดนี้มาครั้งแรก จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสบางส่วนจะไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาท เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัสจะออกมาจากปมประสาทมาทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง  


อาการของงูสวัดมี  3 ระยะ คือระยะแรกจะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อย ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายบริเวณที่กำลังจะมีผื่นขึ้นเพราะเส้นประสาทเกิดการอักเสบ  ในระยะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นงูสวัด บางคนจะรู้สึกเสียวแปล็บๆ ตามผิวหนัง  หรือปวดศีรษะอย่างมากบางคนคิดว่า ตัวเองเป็นไมเกรน  ถ้าเป็นที่เส้นประสาทตา จะปวดตา ตาแดง ถ้าเป็นเส้นประสาทหูอาจจะปวดในรูหู จนกระทั่งมีผื่นออกมาเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งจะมีผื่นและเป็นตุ่มแดงขึ้นก่อนและกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส และระยะ 3 จะมีการเรียงตัวของผื่นตามแนวเส้นประสาท เส้นประสาทที่พบบ่อยจะเป็นบริเวณ ลำตัวข้างใดข้างหนึ่ง บริเวณใบหน้า เป็นต้น และโดยปกติของคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะเกิดจากโรคตามแนวเส้นประสาทเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น 


"โรคงูสวัด" ติดต่อกันได้จากการหายใจหรือสัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโดยตรงได้เช่นกัน โดยหากผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปแล้วยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน อาการที่แสดงออกมาก็จะเป็นเพียงโรคอีสุกอีใส  แต่หากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้ก็อาจจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายและแสดงอาการเป็นงูสวัดต่อไป เมื่อผู้รับเชื้อมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติ ดังนั้นถ้าเป็นงูสวัดควรหลีกเลี่ยงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์และเด็กที่ยังไม่เคยหรือได้รับวัคซีนอีสุกอีใส ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาทิ ผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมะเร็ง มีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคได้ทั้ง 2 ข้างของแนวเส้นประสาท แต่แนวเส้นประสาทเราจะไม่ได้ชนกันเป็นวงรอบตัว ทำให้ความเชื่อที่ว่าถ้าเป็นงูสวัดพันรอบตัวแล้วจะต้องเสียชีวิต จึงไม่เป็นความจริง ส่วนตำแหน่งที่น่ากลัวของการป่วยโรคงูสวัด คือ บริเวณแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้า เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นถ้ามีผื่นรอบตาจะต้องตรวจภายในดวงตาด้วย ในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและผู้สูงอายุ ภายหลังจากที่หายจากอาการของโรคแล้ว บางครั้งอาจจะมีอาการปวดแปล๊บๆเหมือนไฟช็อตอีกด้วย เรียกว่า post herpetic neuralgia ซึ่งเป็นอาการที่ทรมานมาก อาการอาจจะหายในเวลาเป็นเดือน เป็นปี หรืออาจจะตลอดชีวิตได้ การรักษาบางครั้งหายยากมาก ยาที่รับประทานอาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงมาก ทำให้เสียคุณภาพชีวิตจึงเป็นที่มาของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด อาการปวดเส้นประสาทพบได้ถึงร้อยละ 70-80 ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป


กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัด ก็คือทุกคนที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสเพราะเชื้อไวรัสไม่ได้หายไปไหน แต่จะซ่อนตัวอยู่ในร่างกายเราไปตลอดชีวิต แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นงูสวัดมีดังนี้ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะภูมิต้านทานต่าง ๆ เริ่มเสื่อมถอยลง เปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสเข้าโจมตีร่างกายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่ ที่ชอบท่องเที่ยว อาจส่งผลให้นอนหลับไม่ตรงเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือต้องอยู่ในสถานที่ ที่ไม่สะอาดถูกสุขอนามัย ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะให้เกิดโรคง่ายขึ้น ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เครียด นอนไม่ค่อยหลับ  รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ค่อยออกกำลังกาย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด เป็นต้น
    

"โรคงูสวัด"เป็นโรคที่ไม่อันตราย สิ่งที่ห้ามคือการไปพ่นยาที่ใช้ในการเป่าเนื่องจากอาจติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม และไม่ควรทานยาเขียวให้ขับออกหรือการใช้เสลดพังพอน สำหรับอาหารไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษ แต่ต้องรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขลักษณะ ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หลีกเลี่ยงของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มเติมได้ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 
    

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด  ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการสำแดงของโรคงูสวัด โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี  2006 โดยวัคซีนนี้มีความเข้มข้นสูงกว่าวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสถึง 14 เท่า ดังนั้นหากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แต่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแทน   นอกจากนี้ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ถึงแม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคงูสวัดได้ เพียงแต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเพราะผู้ป่วยสูงอายุ จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ระยะเวลาของอาการก็จะยาวนานหลายเดือน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่ายอีกด้วย การป้องกันไม่ให้เกิดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

ผศ.พญ.สุวิรากร  ธรรมศักดิ์ 
ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ