Lifestyle

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่

      สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีโอกาสด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทรงริเริ่ม “แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร สุขภาพอนามัย การศึกษา สหกรณ์ การงานอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหา “ทุพโภชนาการ” 

      กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

      กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

     โดยในปี 2523 มีพระราชดำริให้ทดลองทำโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว ภายใต้ชื่อ “โครงการอาหารกลางวันเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” เป็นโครงการทดลองในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 3 แห่ง และต่อมาได้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” เพราะมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

      ตลอดระยะเวลา 40 ปี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศได้สนองพระราชดำริโดยมุ่งพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนอย่างสมดุลรอบด้าน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีภาวะโภชนาการและสุขภาพดี มีความรู้ทางวิชาการ การงานอาชีพ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และขยายโครงการตามพระราชดำริสู่ชุมชนโดยรอบให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ดังเช่น “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ” ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียน ตชด.ในพื้นที่สีชมพู เป็นตัวอย่างโรงเรียนห่างไกลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการน้อมนำโครงการพระราชดำริ 8 โครงการ ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน, ส่งเสริมคุณภาพการศึกษา, นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ, ส่งเสริมสหกรณ์, ฝึกอาชีพ, ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน, อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร เข้าไปสนับสนุนการเรียนการสอนที่เอื้อทั้งกับโรงเรียน และชุมชนควบคู่กัน โดยครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

     โรงเรียน ตชด.ตำรวจบ้านแพรกตะคร้อ

      ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราษฎรบ้านแพรกตะคร้อละแวกใกล้เคียงซึ่งได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และสุขภาพอนามัยแก่เด็กและราษฎร จึงมีพระราชกระแสให้ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยผึ้ง ดูแลและช่วยเหลือ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

     พร้อมกันนี้กองกำลังการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 รับสนองพระราชกระแส และได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านแพรกตะคร้อ (สาขาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยผึ้ง”) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ” จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนทั้งหมด 265 คน หลังจากนั้นได้เสด็จฯ มาทรงติดตามงานโครงการพระราชดำริ อีกถึง 4 ครั้ง คือเมื่อปี 2548, 2551, 2556 และ 2561

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

    กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

  ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อะละมาลา

       ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อะละมาลา ครูใหญ่ รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ ซึ่งอยู่ที่นี่นาน 14 ปี เล่าว่า ตั้งแต่ปีแรกจนถึงวันนี้โรงเรียนมีการพัฒนาเรื่อยมาโดยเฉพาะด้านโครงการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุขหรือสุขภาพของเด็กๆ ที่มีปัญหาด้านโภชนาการ รวมถึงมี “สุขศาลาพระราชทาน” ที่ทำงานควบคู่กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแหล่งเรียนรู้และฝึกอาชีพที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างการทอผ้ากี่เอว, เรียนตัดผม และการแสดงทางวัฒนธรรม

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."           

 

      การทอผ้ากี่เอว

      กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

       เด็กรำกระทบไม้

       “จากการได้ดูแลงานด้านพยาบาลควบคู่การเรียนการสอน ทำให้รู้ปัญหาของเด็กทุพโภชนาการ ทั้งเด็กที่มีส่วนเกินและส่วนขาด คืออ้วนและผอมเกินไป จึงต้องทำให้สมดุลด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกายสำหรับเด็กน้ำหนักเกิน และเสริมสารอาหารในส่วนของเด็กผอม กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ มาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องนักเรียนที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย มีรับสั่งกับฝ่ายปกครองให้ดูแลเรื่องนี้ว่าสืบเนื่องจากสาเหตุใด มีการช่วยเหลืออย่างไร นอกจากนี้ยังทรงห่วงใยเรื่องสุขภาพเด็กๆ รวมถึงน้ำสะอาดในโรงเรียน รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเด็กที่อยู่ห่างไกลตามแนวตะเข็บชายแดน” ครูใหญ่ กล่าว

       กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

         บ้านแพรกตะคร้อ แม้จะอยู่ในเขตอำเภอหัวหิน แต่ก็อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งถึงโรงพยาบาลหัวหิน ทั้งที่อยู่ห่าง 90 กม.บางจุดยังเป็นถนนลูกรัง ปัจจุบันมี 339 ครัวเรือน ประชากรรวม 1,201 คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะหร่างราว 80 เปอร์เซ็นต์ บางส่วนไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ไม่ได้รับโอกาสในด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่ควรจะเป็น

         กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

     แปลงปลูกถั่วครกพันธุ์พระราชทา

     อีกปัญหาสำคัญของคนในพื้นที่นั่นคือการไม่พูดภาษาไทย ทำให้มีอุปสรรคทางการสื่อสาร ครู ตชด.จึงมีส่วนสำคัญในการสอนภาษาไทยให้นักเรียนในโรงเรียนเพื่อให้กลับบ้านแล้วไปสอนพ่อแม่ผู้ปกครองต่อ ซึ่งปัจจุบันพบว่าประชาชนในพื้นที่ที่ไม่รู้ภาษาไทยแทบไม่มีแล้ว

        กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."  

      กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

เลี้ยงหมูป่า

     ขณะที่การดำเนินโครงการตามพระราชดำริต่างๆ จากโรงเรียนไปสู่ชุมชนโดยรอบให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันหรือเศรษฐกิจพอเพียง นับว่าผลิดอกออกผลอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ปลูกพืชอายุสั้น อาทิ ถั่วครกพันธุ์พระราชทาน เพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อไก่, ถั่วอีโต้แดง, ฟักข้าว, พืชผักสวนครัว รวมถึงปศุสัตว์อย่างไก่ไข่ ปลาดุก และเลี้ยงหมูป่าที่ประชาชนในพื้นที่นิยมบริโภค เมื่อหมูออกลูกก็จะแบ่งให้ประชาชนไปเลี้ยง นอกจากจะนำมาทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนแล้ว ส่วนหนึ่งยังนำไปขายเพื่อตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนในโรงเรียน ทั้งนี้ทุกกิจกรรมครูผู้รับผิดชอบจะมอบหมายให้เด็กๆ มีส่วนร่วมรับผิดชอบตามความสนใจด้วย

         กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

ด.ญ.ผกามาศ เข็มกลัด และ ดญ.ฟาติฮะห์ หะยีนิมะ

     ด.ญ.ผกามาศ เข็มกลัด และ ด.ญ.ฟาติฮะห์ หะยีนิมะ นักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลแปลงผักฟักข้าวและถั่วอีโต้แดง ร่วมกล่าวเสียงใสที่ได้มีส่วนร่วมปลูกผักเพื่ออาหารกลางวันว่า ทุกวันบ่าย 2 ครึ่งจะมีหน้าที่มารดน้ำ ถอนหญ้าแปลงผัก เวลาได้กินพืชผักที่ปลูกเองรู้สึกอร่อยและปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้นำความรู้เรื่องการเกษตรไปบอกพ่อแม่เพื่อพัฒนาผลผลิตที่บ้านให้ดีขึ้น รู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้มาเรียนที่นี่ นอกจากได้ความรู้แล้วยังมีอาชีพติดตัวด้วย

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

        ส.ต.ท.กรวิชย์ เข็มกลัด และเด็กๆ

      ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน “ครู” ถือเป็นแกนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ โดยครู ตชด.ใช่เพียงครูผู้สอน หากยังต้องมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ ควบคู่กัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ตั้งโครงการ "คุรุทายาท” เพื่อกลับมาพัฒนาโรงเรียนพร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นต่อไป ซึ่ง ร.ต.ท.ประดิษฐ์ ครูใหญ่ กล่าวว่า แต่ละปีจะมีการคัดเลือกครูคุรุทายาท 80 คนที่ผ่านการเรียนและอบรมตามหลักสูตรเพื่อไปสอนในโรงเรียน ตชด.ทั่วประเทศ โดยแต่ละคนเคยเป็นนักเรียนโรงเรียน ต.ช.ด.ที่มีใจรักที่จะถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นน้อง

        กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

       ตัวอย่างคุรุทายาทที่ตกผลึกและได้เดินตามปณิธาน “ครูบอล” ส.ต.ท.กรวิชย์ เข็มกลัด วัย 22 ปี ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้รุ่นน้องมาได้ 2 ปีแล้ว เผยว่า เป็นศิษย์เก่าและเป็นนักเรียนทุนพระราชทานมีโอกาสได้ศึกษาต่อจนจบชั้นปริญญาตรีตามโครงการคุรุทายาท โดยเลือกเรียนวิชาชีพครู และมีความตั้งใจอยากกลับมาเป็นครูในพื้นที่เพื่อตอบแทนแผ่นดินเกิด

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระมิ่งขวัญแห่งการพัฒนา "เด็กพื้นที่ ตชด."

           “ผมสอนวิชาเลขและภาษาไทยเป็นหลัก แต่ก่อนเป็นครูต้องไปฝึกอีก 3 หลักสูตร คือหลักสูตรที่ปรับจากพลเรือนเป็นข้าราชการตำรวจ ถัดมาเป็นหลักสูตรตำรวจตระเวนชายแดน และหลักสูตรเตรียมความพร้อมการเป็นครู จริงๆ โครงการนี้ได้ไปเรียนต่อในเมืองซึ่งผมกลับมามองว่าคนส่วนใหญ่ทำงานระยะหนึ่งแล้วอยากกลับบ้านเกิด ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อยากกลับมาอยู่กับครอบครัว แล้วส่วนตัวมีความชอบอาชีพครู อยากถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ ซึ่งการเป็นครู ต.ช.ด.ไม่ใช่แค่สอนแต่ยังต้องขับเคลื่อนโครงการตามพระราชดำริด้วย อย่างผมเองรับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเรื่องปศุสัตว์ ซึ่งตอนเป็นนักเรียนที่นี่ก็เคยรับผิดชอบงานเลี้ยงไก่ไข่ ทำให้รู้และเข้าใจว่าการเป็นครู ตชด.โรงเรียนหยุดแต่เราหยุดไม่ได้ ต้องคอยติดตามงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กองทุนอาหารกลางวันสำหรับเด็กมีความยั่งยืน สนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน” ครูบอล กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

         พระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ที่แผ่ไปทั่วถิ่นไทย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยสืบไป

 +++++++++++++

เรื่อง/ชาญยุทธ ปะวะขัง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ