Lifestyle

จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ยุคนี้เราอาจจะไม่มีอำนาจมากที่จะไปตามจับกุมใคร แต่สิ่งที่ดูแล้วเห็นผลจริงคือการช่วยกันขุดหลักฐานแล้วแชร์สิ่งที่ถูกต้อง..."

       เรื่องเล็กๆ อย่าง “การโกงตาชั่งผลไม้ในตลาด” หรือ “แท็กซี่โกงค่าโดยสาร” ที่หลายคนมองเป็นเรื่องธรรมดาจนเคยชิน อีกทั้งการรับรู้ข่าวสารจากเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ที่พูดถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้างแล้วสังคมยังนิ่งเฉย จุดประกายให้ อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ “ต้า พาราด็อกซ์”  ศิลปินขวัญใจวัยโจ๋ ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อปลุกกระแส “สังคมไม่ทนคนโกง” พร้อมสนับสนุนแคมเปญ #ไม่ทนคนโกง “NO MORE CORRUPTION ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส” ที่บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด จับมือพันธมิตรหลายภาคส่วนจัดขึ้น หวังสร้างตระหนักรู้ ความเข้าใจและแนวความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการไม่ทนต่อการทุจริต โดยตัวเขาเองนอกจากจะเป็นแนวร่วมสำคัญแล้วยังใช้ความสามารถในฐานะศิลปินแต่งเพลงที่มีเนื้อหารณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นช่วยเป็นกระบอกเสียงส่งไปถึงสังคมอีกแรง

          จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

“ต้า พาราด็อกซ์”  

       จุดสำคัญที่นักร้องหนุ่มวัย 43 ปีคนนี้ “โฟกัส” ก็คือการโกงหรือทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ ไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องการเมือง อย่างตัวเขาเองเคยโดนโกงจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นโครงสร้างใหญ่ ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดียน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสังคมได้หากรู้จักนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อาจจะผ่านบทเพลงหรือสื่อใดๆ เพื่อเผยแพร่การต่อต้านการโกงให้คนทั่วไปได้ฉุกคิด สะท้อนใจ หรือกระตุ้นจิตสำนึกว่าไม่ควรยอมเรื่องนี้อีกต่อไป 

      "อย่างผมเป็นศิลปินก็ช่วยได้ในการสื่อสารผ่านเพลง เลยแต่งเพลงที่ชื่อว่า “ซื่อ ซื่อ” เพื่อร่วมรณรงค์ ซึ่งที่มาของเพลงนี้ตอนแรกมันตลกมาก ผมไปกินข้าวร้านข้าวต้ม แล้วมีเมนูไข่เจียว เขาก็จะมีนิคเนมเรียกชื่อเมนูนั้นว่า “ซื่อ ซื่อ” ฟังดูตลกดี แล้วอยู่ดีๆ ก็นึกถึงว่าถ้าเราทำเพลงต้านคนโกงจะนึกถึงอะไร เลยนึกถึงคำนี้ซึ่งความหมายตรงข้ามกับการโกง ฟังดูก็เหมือนชื่อยอดมนุษย์ นึกถึงเอ็มวีอยากจะทำหนังยอดมนุษย์เก่าๆ เหมือนเป็นหนังแซว ก็เลยตัดสินใจทำหนังยอดมนุษย์สู้กับคนโกงดีกว่า เอ็มวีตัวนี้ก็เหมือนยอดมนุษย์ที่ชอบวิ่งเข้าไปชาร์จพวกคนโกง แล้วตอนท้ายของเอ็มวีก็ส่งมอบหน้ากากให้คนทุกเพศทุกวัยได้ ซึ่งทุกคนสามารถออกมาเป็นยอดมนุษย์ปราบคนโกงได้ในวิถีทางของตัวเอง" ผู้ให้กำเนิดยอดมนุษย์ "ซื่อ ซื่อ" เผย

จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

    “ต้า พาราด็อกซ์” บอกว่าอยากให้มิวสิกวิดีโอเพลงนี้สื่อสารไปถึงกลุ่มคนรุ่นไหม่ ขณะเดียวกันก็ส่งถึงคนรุ่นเก่าๆ ด้วย เพราะในเนื้อหาจะมียอดมนุษย์ยุคเก่าอย่างพวก “ไอ้มดเอ็กซ์” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนต้องไม่นิ่งเฉยกับการโกงหรือทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ติดตามเนื้อร้องที่ว่า...“ซื่อ ซื่อ คนโกง เราจะไม่ทน ซื่อ ซื่อ คนโกง เราจะไม่ยอมมม...”

จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

     แท้จริงแล้วการเป็นปฏิปักษ์กับ “เรื่องโกง” ของ “ต้า พาราด็อกซ์” ใช่ว่าจะเพิ่งผุดขึ้นในยุคนี้ ทว่าการสำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บ่มเพาะให้เขาเป็น “พ่อพิมพ์” มีหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้ดำเนินชีวิตเป็นคนดีของสังคม หรือ “โตไปไม่โกง” นั่นเอง

      จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

     “ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมเคยเป็นครูสอนเด็กชั้นประถมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จริงๆ เรื่องของการปลูกฝังไม่ให้ทุจริตนี้โครงสร้างของโรงเรียนทุกโรงเรียนก็จะมีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว สมัยที่ผมสอนหนังสือก็จะมีเรื่องโตไปไม่โกง จะรณรงค์ให้เด็กๆ เรียนรู้พฤติกรรมนั้น เพียงแต่ว่าผมสอนเด็กประถมวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ และคอมพิวเตอร์ก็จะแทรกซึมไปกับเรื่องยิบย่อย มันอาจจะไม่ได้เห็นผลมากมาย มายุคนี้ทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงเข้าใจง่ายก็เลยทำเป็นเอ็มวียอดมนุษย์ ดูง่ายๆ เด็กลุกขึ้นมาดูแล้วมีความอยากที่จะทำแบบยอดมนุษย์ น่าจะเป็นเรื่องที่แทรกซึมไปได้ง่าย” ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นกล่าวพร้อมเสริมว่า ตอนสอนเด็กเล็กๆ เวลาพวกเขาได้ฟังเรื่องปราบโกงแน่นอนว่าจะตั้งใจที่จะไม่โกง เด็กๆ ก็เหมือนผ้าขาว แต่พอโตขึ้นแล้วไปอยู่ในวังวนที่ทำให้เกิดความสับสนก็อาจจะมีนอกลู่นอกทางได้ 

     นั่นสะท้อนว่าหากโครงสร้างของสังคมเรื่องไม่เห็นด้วยกับการโกงแข็งแรง มีคนดีมากกว่าคนโกงสังคมก็จะดี แต่หากมีคนโกงเป็นลูกพี่หรือมีจำนวนมากกว่าคนดี ก็อาจจะทำให้คนดีไขว้เขวเดินตามทางที่ผิดได้ ซึ่งบางมุมเป็นเรื่องของบุญคุณที่ต้องตอบแทน หากมีการอุดรอยรั่วเสียแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

       แต่การปราบโกงบางครั้งอาจนำมาซึ่งภัยร้ายหรืออยู่ในมุมมืดที่ยากจะสาวถึง เป็นเหตุให้ไม่มีใครอยากเอามาเป็นธุระ       หรือช่วยเป็นหูเป็นตา  เรื่องนี้ “ต้า” มองว่า ในยุคนี้ที่การทำอะไรแล้วได้ผลจริงๆ เป็นรูปธรรมก็คือ “การมีโลกโซเชียล” ที่มีการช่วยกันแชร์ ช่วยกันแสดงความรู้สึกนึกคิด สอดส่องเป็นหูเป็นตา อาจจะไม่ได้มีเพาเวอร์ที่จะไปจับคนโกงโดยตรง แต่การพบหลักฐานแล้วแจ้งเรื่องราวในโลกโซเชียลอย่างถูกวิธี ก็สามารถเชื่อมโยงไปถึงคนหมู่มากหรือสื่อมวลชนที่จะช่วยตีแผ่อีกทอดหนึ่ง แล้วคนมีอำนาจมารับเรื่องโดยตรง เชื่อว่าความลับนั้นก็อาจจะปิดไม่อยู่ กระแสสังคมจะทำให้อำนาจอิทธิพลอยู่ยาก    

    “ผมมองว่าการโกงจะยากขึ้น เพราะอย่างที่บอกว่าโลกนี้มันเร็วมาก แล้วก็มีสื่อหรือช่องทางที่สามารถเก็บหลักฐานได้ง่าย ถ่ายปุ๊บแชร์ปั๊บ แต่อันนี้ก็มีดาบสองคมเหมือนกัน คือต้องฟังข้อมูลที่มันไม่เป็นข่าวปลอม ตรวจสอบก่อน ก็จะทำให้การโกงยากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าต้องให้กฎต่างๆ มีช่องว่างน้อยที่สุด ไม่อย่างนั้นมันจะค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ แล้วจะตามแก้ทีหลังยาก อยากฝากทุกคนให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ยุคนี้เราอาจจะไม่มีอำนาจมากที่จะไปตามจับกุมใคร แต่สิ่งที่ดูแล้วเห็นผลจริงคือการช่วยกันขุดหลักฐานแล้วแชร์สิ่งที่ถูกต้อง หรือแค่ตั้งคำถามก็ได้เพื่อกระตุ้นให้มีการสืบค้นต่อ” 

จิตสำนึกต้าน "โกง" ฉบับ "ต้า พาราด็อกซ์"

    ทั้งนี้หนุ่มหน้าตี๋ นักร้องนำวงพาราด็อกซ์ เจ้าของเพลงฮิตตลอดกาล “ฤดูร้อน” ฝากทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะก็จะมุ่งทำในสิ่งที่ถนัดต่อไป นั่นคือผลิตสื่อออกมากระตุ้นเตือน เพราะไม่เช่นนั้นสักพักสังคมก็อาจจะลืมเรื่องนี้ และอยากให้ทุกคนออกมาช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งให้สังคมด้วยวิธีการใหม่ๆ เช่นกัน... 

+++++++++++++

เรื่อง/ชาญยุทธ ปะวะขัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ