Lifestyle

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่ คอลัมน์... อินโนสเปซ โดย... บัซซี่บล็อก

 

 

          แม้ผ่านมาแล้วร่วม 2 สัปดาห์ของเหตุการณ์ “กราดยิงโคราช” แต่ร่องรอยความสูญเสียและความเสียใจยังไม่จางหายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรวมถึงกระแสเรียกร้องของสังคมส่วนใหญ่ที่สะท้อนผ่านช่องทางโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม ขอให้สื่อทบทวนตัวเองเกี่ยวกับบทบาทการทำงานว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการคิดใหม่-ทำใหม่

 

 

          ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ “ถูกลืม” ไปในระยะเวลาสั้นๆ อย่างที่เป็นมากับหลายข่าวดังในอดีต ก็เพราะความแรงของ 2 องค์ประกอบสำคัญในยุคการสื่อสารตรงเป้าหมายในยุคโซเชียลครองโลก คือ เรื่องราว (สตอรี่) และเนื้อหา (คอนเทนต์) ทั้งของตัวเหตุการณ์เอง และวิธีการนำเสนอของสื่อ จนปลุกกระแสความสนใจให้แผ่เป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

 

 

 

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่

 


          โดยในช่วงคาบเกี่ยวของการเกิดเหตุการณ์#กราดยิงโคราช วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์และโซเชียล มียอดการโพสต์หัวข้อนี้ถึง 1.2 ล้านข้อความ ภายใน 24 ชั่วโมง และมีการแชร์ต่อมากถึง 66 ล้านครั้ง (ข้อมูลจากบริษัท ไวท์ไซท์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าชั้นนำของประเทศไทย)


          ข้อมูลข้างต้นนี้กระตุ้นให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกและรับมือสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกหรือผลกระทบด้านจิตใจจากการเสพสื่อแบบไร้ทิศทางและสับสนเพราะมีช่องทางสื่อให้เลือกมากเกินไป ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ใต้สังกัดสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์อิสระ โดยคาดหวังจะที่สร้างให้สื่อทุกรูปแบบเหล่านี้ทำงานอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันอย่างยุติธรรมและไม่มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้ใด

 

 

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่

 


          จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง “รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting - สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี-ออนไลน์” ร่วมกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อต้นสัปดาห์

 



          ในงานนี้ผู้บริหารของไวท์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมที่เก็บรวบรวมด้วยวิธีการ social listening พบว่าเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ประมวลภาพการทำงานของตำรวจ (เพจอีจัน), เรียกร้องให้ไม่นำเสนอชื่อคนร้าย (เพจณอน บูรณะหิรัญ), ประมวลภาพความเสียใจของญาติผู้เสียชีวิต (เพจอีจัน), รายงานด่วนวิสามัญคนร้าย (เพจอีจัน) และภาพวิดีโอนาทีวิสามัญคนร้าย (เพจเฟซบุ๊กข่าวช่อง 7) ตามลำดับ ซึ่งจากการจัดอันดับครั้งนี้เห็นได้ว่ามีสื่อกระแสหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ


          ส่วนกระแสสังคมที่มีต่อสื่อกระแสหลัก แฮชแท็ก#กราดยิงโคราช พบมากสุด แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับสื่อได้แก่ คำว่า#สื่อไร้จรรยาบรรณ ขณะที่สื่อกระแสหลักที่ได้รับการปฏิสัมพันธ์บนเฟซบุ๊กมากสุดได้แก่ ไทยรัฐ ข่าวสด ช่อง 8 ช่องวัน ช่อง 7 และช่องอัมรินทร์ 34

 

 

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่

 


          และเมื่อเจาะลึกโครงสร้างกลุ่มข้อความแสดงความเห็น (คอมเมนต์) จำนวน 60,000 ข้อความที่มีต่ออินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลบนสื่อโซเชียล พบว่า ประชาชนติดตามเรื่องบนสื่อสังคมออนไลน์กันจำนวนมาก โดยไม่ได้แยกสื่อไหนเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นของตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง


          นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวในเวทีระดมความคิดเห็น ว่าภูมิทัศน์สื่อออนไลน์กลายเป็นหลักในปัจจุบัน เพราะอินเทอร์เน็ตเข้าถึงคนทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นมีโจทย์ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะดูแลการบริหารจัดการสื่ออย่างไร โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่าควรมีการแบ่งกลุ่มเป็นสื่อกระแสหลัก และสื่อออนไลน์ เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนถึง 60% ที่เสพสื่อกระแสหลักผ่านออนไลน์ เนื่องจากสื่อกระแสหลักยุคนี้ก็ทำสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย


          ในส่วนของสื่อออนไลน์ ที่ผ่านมาสมาคมพยายามสนับสนุนให้มีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวเช่นเดียวกับที่สื่อหลักได้ทำหน้าที่เพื่อให้ทำเนื้อหาที่เน้นความถูกต้องมากกว่าถูกใจ เพราะยุคนี้ทุกคนสามารถเป็นสื่อออนไลน์ได้แต่ก็ไม่มีกระบวนการกลั่นกรองที่เหมาะสม


          อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจากพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการคัดกรอง (Screen) ข้อมูลนำเสนอบนสื่อออนไลน์ได้อย่างหมาะสม โดยจะครอบคลุมถึงการคุ้มครองการนำวิดีโอจากช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไปเสนอเป็นสื่อออนไลน์ แล้วทำให้ผู้ที่อยู่ในวิดีโอเสื่อมเสีย ผู้ที่เสียหายก็สามารถฟ้องร้องต่อสื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่ได้ โดยจะมีการลงโทษกันในต่างกรณี เช่น เอาไปโพสต์ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ผู้เสียหายก็จะสามารถฟ้องร้องได้ทั้ง 2 ช่องทางนั้น ช่องทางละ 5 แสนบาท เป็นต้น ดังนั้นน่าจะช่วยเพิ่มระดับให้สื่อออนไลน์มีความรับผิดชอบมากขึ้น


          ขณะที่ นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) บอกว่า ประเด็นสำคัญที่พูดกันบนเวทีนี้ คือ เนื้อหา (คอนเทนต์) เป็นการทำสงครามของสื่อเพื่อแย่งผู้ชม และเนื้อหาก็คืออาวุธของสงครามครั้งนี้เพื่อให้ได้คนดูแยะกว่า (Popularity) โดยคาดหวังการดึงดูดเงินโฆษณาเข้าช่อง ซึ่งสมัยก่อนจะไปตกอยู่กับ 2 ช่องที่มีรายการได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก บางครั้งได้เรตติ้งสูงถึง 20 อย่างไรก็ตามสื่อทีวีไทยปัจจุบันมีถึง 17 ช่อง เรตติ้งจึงกระจายกันไป แม้จะได้รับความนิยมก็ยังได้แค่เลขหลักเดียว ทำให้เกิดการกระจายโฆษณาไปหลายช่อง เพื่อกระจายจับกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันต้องเป็นรายการที่ไม่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบด้วย


          “ดังนั้นยุคนี้เรตติ้งไม่ใช่เหตุผลเพราะตัวคอนเทนต์จะถูกนำมาพิจารณาด้วยเพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์แบรนด์


          ควรเรียนรู้จากบทเรียนเหตุการณ์นี้ว่าแค่ไหนที่ทำได้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ควรมีการขีดเส้นว่าอะไรไม่ควรทำ เพราะสังคมจะเป็นเสียงสะท้อนผ่านแฮชแท็ก หรือคอมเมนต์ที่ออกมาผ่านโซเชียล ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น”


          นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การจัดเวทีระดมความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันในการดูแลและจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยและนำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติในอนาคตในการรับมือและวางกฎระเบียบของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันพระราชบัญญัติหลายฉบับยังไม่ครอบคลุมแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ


          ทั้งนี้เขายังนำเสนอระหว่างการระดมความคิดเห็นว่า ในกรณีสถานการณ์วิกฤติอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา ควรมีการแต่งตั้งให้มีผู้บัญชากการและผู้บัญชาการด้านการสื่อสาร เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนสนใจอยากรู้ อยากติดตามข่าวสาร แต่เลือกไม่ถูกเพราะมีสื่อหลากหลาย นอกจากนี้รัฐควรประกาศช่องทางชัดเจน เช่น ให้สื่อกระแสหลักที่เป็นช่องของรัฐ เป็นช่องหลักในการกระจายข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้ว โดยช่องอื่นๆ มาเอาข้อมูลจากที่นี่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และทุกคนต้องตระหนักว่า การที่เอาข้อมูลจากคนอื่นมาเผยแพร่ต่อต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งแนวทางนี้สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์วิกฤติในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ