Lifestyle

ความสำคัญที่นึกไม่ถึงของ เอ็นก้นกบ (Sacrotuberous Ligament)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความสำคัญที่นึกไม่ถึงของ เอ็นก้นกบ (Sacrotuberous Ligament) คอลัมน์...  เสียงเตือนจากร่างกาย

 

 

  
          สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านฉบับนี้ ผู้เขียนขอแชร์เรื่องของเส้นเอ็นที่มีความสำคัญมากๆ อีกเส้นหนึ่ง เนื่องจากเอ็นตัวนี้เป็นเสมือนสะพานเชื่อมร่างกายส่วนบนและส่วนล่างเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการทำงานและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ราบรื่น คล่องแคล่ว เป็นศูนย์กลางซึ่งส่งผลกระทบทั้งการยืน เดิน นั่ง และนอน ฯลฯ ในหลักกลไกการเคลื่อนไหว (Arthrokinematics movement) เอ็นตัวนี้จะเป็นตัวกลางในการส่งผ่านแรงจากร่างกายช่วงล่าง ขึ้นสู่ช่วงบน (Ground Reaction Force) และส่งผ่านแรงจากน้ำหนักตัวลงมาสู่ช่วงล่างของร่างกาย นั่นหมายความว่า หากมีปัญหาใดเกิดขึ้นกับเอ็นส่วนนี้ก็จะทำให้เป็นปัญหา คือเกิดความผิดปกติกับทั้งร่างกายของเราได้ค่ะ

 

 

          เอ็นที่เราพูดถึงอยู่นี้มีชื่อว่า Sacrotuberous Ligament หรือ “เอ็นก้นกบ” นั่นเอง เอ็นก้นกบนี้จะขึงตั้งแต่ล่างสุดของกระดูกกระเบนเหน็บ ลากผ่านเฉียงออกด้านนอก และมาเกาะที่ปุ่มกระดูกก้นย้อยของก้นทั้งสองข้าง (Sitting Bone/ Ischial Tuberosity ) - ส่วนล่างของเอ็นตัวนี้จะเชื่อมต่อกับเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง คือ Biceps femoris muscle (เป็นส่วนหนึ่งของ Hamstring m.) ปลายสุด ของกล้ามเนื้อ Biceps femoris ไปเกาะที่ใต้เข่าส่วนหน้าแข้ง (Head of Fibula) - ส่วนบนของเอ็นก้นกบนี้ จะเชื่อมต่อเข้ากับเส้นเอ็นที่ขึงกระดูกเชิงกรานเข้ากับกระดูกสันหลังและเชื่อมต่อไปยังกล้ามเนื้อหลังมัดลึก (Erector spinae muscle) ตลอดแนวกระดูกสันหลังของเราจนไปถึงศีรษะเลยค่ะ


          ด้วยจุดเกาะและจุดเชื่อมต่อของเอ็นก้นกบนี้ ท่านผู้อ่านคงพอนึกออกแล้วนะคะว่า เอ็นก้นกบนี้สามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกายของเราได้ทั้งร่างจริงๆ


          หน้าที่หลักของเอ็นส่วนนี้คือให้ความมั่นคงกับข้อต่อเชิงกรานและหลังช่วงล่าง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นคงของกระดูกสันหลัง เป็นเอ็นที่หนา-ใหญ่ และมีความเหนียวแข็งแรงมาก แต่ไม่ว่าจะแข็งแรงมากเพียงใด ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ที่มักทำให้เรามีอิริยาบถในท่าที่ผิด เล่นกีฬาหนักเกิน นั่งเยอะเกิน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็เลยส่งผลให้ส่วนที่แข็งแรงนี้บาดเจ็บและเป็นปัญหาให้กับร่างกายได้ค่ะ

 



          ปกติเส้นเอ็นก้นกบนี้ไม่ค่อยบาดเจ็บโดยตรงจากตัวเขาเอง แต่การบาดเจ็บที่เกิดขึ้น มักเกิดจากส่วนอื่นที่มากระทบบ่อยๆ จนตัวเอ็นนี้หนาตัวขึ้นและบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะเรื้อรังและลุกลามไปที่หลังในที่สุด


          มาดูกันค่ะว่า เส้นเอ็นก้นกบนี้บาดเจ็บจากเหตุใดได้บ้าง


          การตึงตัว เกร็งตัว หรือแน่นมากไปของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring muscle) ด้วยจุดอ่อนของกล้ามเนื้อมัดนี้ มักจะยึดแน่นมากกว่าปกติ เพราะต้องใช้งานหนัก เส้นใยกล้ามเนื้อหนาแน่น จึงหดสั้น และเป็นแรงกระชากไปที่เอ็นก้นกบได้ง่าย เมื่อมีการใช้งานซ้ำๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นกีฬาหนักๆ แต่ไม่ได้วอร์มกล้ามเนื้อ ไม่มีการยืดเหยียด เส้นใยกล้ามเนื้อจึงหดรั้งไปเรื่อยๆ จนเกิดแรงตึงตัว กระทบต่อเอ็นก้นกบได้


          การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก้น (Gluteus muscle group) โดยปกติแล้วกล้ามเนื้อก้นเป็นตัวให้เชิงกรานวางตัวอยู่ในภาวะที่สมดุล ไม่คว่ำหน้า-หลังมากไป เพื่อรักษาความโค้ง-แอ่นของหลังให้อยู่ในสมดุล เสมือนให้ความมั่นคงของเชิงกรานร่วมกับเอ็นก้นกบ แต่หากกล้ามเนื้อก้นอ่อนกำลังมักทำหน้าที่ได้ไม่ดี ความหนักทั้งหมดก็จะไปกระทบต่อเอ็นก้นกบ ทำให้เอ็นก้นกบต้องทำงานหนัก และบาดเจ็บในที่สุด


          ความผิดปกติของโค้งกระดูกสันหลังไม่ว่าจะแอ่นมากกว่าปกติ หรือหลังราบแบน ไม่มีโค้งหลังก็มักทำให้กล้ามเนื้อหลังเกร็งตัว น้ำหนักโหลดที่ข้อต่อหลังและสะโพกมากกว่าปกติ และส่งผลกระทบต่อเส้นเอ็นก้นกบได้เช่นเดียวกัน


          ที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อถือเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เส้นเอ็นก้นกบบาดเจ็บได้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก ที่ร่างกายคนเรา สร้างขึ้นด้วยความสมดุล-แข็งแรงมาตั้งแต่ต้น แต่เรามักทำร้ายตัวเองด้วยการใช้ร่างกายที่ผิด...ใช้มากเกินจำเป็น จนก่อให้เกิดความเสียหายกับร่างกาย จนบางครั้งไปถึงขั้นยากจะเยียวยา จริงอยู่ที่ร่างกายเรามีความเสื่อมเป็นธรรมดา... แต่ทำอย่างไรให้เราสามารถประคับประคองร่างกายนี้ไม่ให้เป็นโรคร้ายแรงและทุกข์มากเกินไป..การมีความรู้และสังเกตความเปลี่ยนแปลงในร่างกายตนเอง ฟังเสียงสัญญาณเตือนของร่างกายจะทำให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถหาวิธีแก้ไข ป้องกันไม่ให้รุนแรงได้


          การรู้เท่าทัน และรู้จักดูแลร่างกายให้แข็งแรง ถือเป็นการดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมค่ะ.. อาจไม่ง่ายที่จะสร้างวินัยให้ตัวเองในการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ยากเกินจะทำได้ค่ะ ไว้ฉบับหน้าจะมาเล่าว่าเมื่อเอ็นก้นกบเกิดบาดเจ็บ ร่างกายของเราจะฟ้องด้วยสัญญาณอะไรบ้างนะคะ...


          ฟรี รับการตรวจความสมดุลของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลัง-เชิงกราน สำหรับ 15 ท่านแรกที่ส่งชื่อและเบอร์โทรศัพท์มาที่ Line: @ariyawellness หรือ โทร.09-2326-9636


          ***ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 09-2326-9636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ