Lifestyle

ไขข้อกังวลใจ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขข้อกังวลใจ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล คอลัมน์...  อินโนสเปซ  โดย...  บัซซี่บล็อก

 

 

 

          จำได้ว่าช่วงปลายปี 2561 หนึ่งในหัวข้อข่าวที่ยึดครองพื้นที่สื่อทั้งดั้งเดิม และสื่อใหม่มาแรงอย่างออนไลน์ และโลกโซเชียล ก็คือ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่สามารถฝ่าแรงต้านและกระแสความไม่เข้าใจมาได้ทีละด่าน ตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกก่อนส่งท้ายปี มาสู่วาระ 2 และ 3 ในปีนี้ จนประกาศในราชกิจจจานุเบกษา เมื่อพฤษภาคม 2562 ในโอกาสเกือบครบรอบ 1 ปีของการเกาะติด 2 กฎหมายสำคัญในยุคดิจิทัลนี้ มาตามความเคลื่อนไหวในสนามจริงของการบังคับใช้ โดยเฉพาะในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน

 

 

 

ไขข้อกังวลใจ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

 

 

          โดยในเวทีเสวนา “ไขข้อกังวลใจ ความเชื่อมั่นการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล คำยืนยันจากภาครัฐและภาคธุรกิจ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัมมนา “Cyber Security and Data Privacy 2020 ธุรกรรมปลอดภัย ประชาชนมั่นใจข้อมูลไม่รั่ว” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอี) สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมส่งเสริมและพัฒนาความรู้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไทย และนิตยสาร CIO World&Business เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเชิญผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ ธนาคาร ประกันภัย และเอกชนรายใหญ่เข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมอง

 

 

 

ไขข้อกังวลใจ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

 


          หนึ่งในความน่าสนใจที่อยากหยิบยกขึ้นมาบอกเล่า ก็คือ มุมมองจากผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ระดับโลก เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเสพติดการช้อปปิ้งออนไลน์ ด้วยความที่ซื้อง่าย-ขายคล่อง-จ่ายเงินสะดวกผ่านโทรศัพท์มือถือที่อยู่ติดตัวแทบ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ประเทศไทย กลายเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่โต “แรง” สุดในอาเซียน และคาดว่าสิ้นปี 2562 ตัวเลขการโตจะทะยานถึง 12% มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ก็บอกอีกว่า ที่ผ่านมาก็เห็นตัวเลขผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปีมาโดยตลอด

 



          ความเฟื่องฟูของอีคอมเมิร์ซ ในอีกมุมหนึ่งก็คือ การที่ประชาชนคนซื้อสินค้าออนไลน์อย่างเราๆ ต้องยอมให้ข้อมูลส่วนตัวหลายๆ อย่างกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั่นเอง

 

 

 

ไขข้อกังวลใจ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

 


          นายกิตติพงษ์ หยู รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ระดับโลก ได้คลายข้อกังวลใจให้กับนักช็อปออนไลน์ผ่านเวทีเสวนาฯ ว่า การเก็บข้อมูลของผู้ซื้อ จะจัดเก็บแต่ข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น โดยก่อนที่ลูกค้าจะสมัครเข้ามาบนแพลตฟอร์มของลาซาด้า ก็มีการแจ้งลูกค้าก่อนอยู่แล้วว่า ข้อมูลที่จะเก็บมีอะไรบ้าง และจะนำไปใช้ทำอะไร ซึ่งจะเก็บแต่ข้อมูลจำเป็น อย่างเช่น ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ เพราะต้องใช้เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าไปถึงมือผู้รับปลายทาง ทำให้เกิดธุรกรรมการขายของออนไลน์ มิเช่นนั้นก็จะติดต่อกันระหว่างผู้ซื้อ/ผู้ขายไม่ได้ ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้


          นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้น ก็อาจมีข้อมูลอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลพฤติกรรมบางส่วนของลูกค้า เพื่อที่ว่าเมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการบนลาซาด้า ก็จะได้เห็นสินค้าที่ต้องการซื้อมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าผู้หญิงก็อยากเห็นสินค้าหมวดเครื่องสำอางมากกว่าเมื่อเทียบกับลูกค้าผู้ชาย เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูลที่มองหาจริงๆ และได้รับประสบการณ์ช็อปปิ้งออนไลน์ที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล

 

 

ไขข้อกังวลใจ การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

 


          ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซส่วนใหญ่ ก็จะมีการมาตรการขอความยินยอมจากลูกค้าในการจัดเก็บข้อมูลข้างต้นอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีการเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ก็จะมีการแจ้งให้ลูกค้าทั้งปัจจุบันและลูกค้าใหม่รับทราบ


          ส่วนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการประกาศออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายที่ทำอยู่แล้ว ไม่ต่างกันเท่าไร แต่ทั้งนี้ก็ได้จัดตั้งทีมเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย


          อีกมุมมองน่าสนใจจากเวทีเดียวกัน เป็นของ ไมเคิล เชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด ผู้ทำธุรกิจการจัดเก็บข้อมูล ด้วยฐานธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการชั้นนำสำหรับแพลตฟอร์ม ซีอาร์เอ็ม พรีวิลเลจ ที่มีแบรนด์ต่างๆ เข้ามาใช้บริการเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายด้วยการตลาดดิจิทัลอย่างมีประสิทธิผล


          “จากประสบการณ์เท่าที่ดูสาระกฎหมาย และเป็นผู้ใช้งาน ปัจจุบันเรามีข้อมูลกว่า 60 ล้านคน หรือเกือบเท่าจำนวนประชากรในประเทศไทย พบว่าที่น่ากลัวมากสุดคือ แฮ็กเกอร์ที่เป็นคนใน ไม่ใช่บุคคลภายนอก เพราะหลายองค์กรคนที่มีสิทธิ์เข้าไปดูข้อมูลก็คือ บุคลากรที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ทำอย่างไรไม่ให้คนเหล่านั้นเอาข้อมูลออกไปจากระบบได้ ขณะที่ การป้องกันภายนอกมักมีระบบป้องกันความปลอดภัยข้อมูลกันอย่างเข้มแข็ง”


          เขาบอกด้วยว่า ตัวเองไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องกฎระเบียบการกำกับดูแลเท่าไหร่ เพราะโลกโซเชียลทุกวันนี้ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ลูกค้าทุกคนต้องยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อจะใช้เฟซบุ๊กต่อได้ฟรี โดยที่แทบไม่มีผู้ใช้งานรายใดเข้าไปอ่านรายละเอียดก่อนกดคลิกรับเงื่อนไข ขณะที่ เฟซบุ๊ก ก็มีรายได้หลักจากค่าโฆษณา ดังนั้น ย่อมจำเป็นที่ต้องขายข้อมูลไปให้ธุรกิจเหล่านั้น รวมทั้งแทบทุกธุรกิจและบริการในไทย ลูกค้าก็จำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อการใช้บริการนั้นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น บริการทางการเงิน หรืออื่นๆ


          ขณะที่ กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร บอกเล่าถึงการให้ความสำคัญกับการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้เกิดในวงกว้าง ทั้งนี้จากรายงาน Global Risks Report 2019 ของ World Economic Forum นั้น การโจมตีทางไซเบอร์และการจารกรรมข้อมูลถูกจัดอันดับให้อยู่ 1 ใน 5 อันดับแรกของความเสี่ยงทั่วโลก ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ ความมั่นคงของประเทศชาติ เสถียรภาพระหว่างประเทศ ความเป็นส่วนตัว และโอกาสการจ้างงาน


          นอกจากนี้ ในการจัดอันดับ Global Cyber Security Index 2018 (GCI) หรือดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โลก โดย ITU ยังพบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมอยู่ในอันดับที่ 35 ซึ่งลดลงจาก 2 ปีก่อนหน้า ที่อยู่ในอันดับที่ 20 โดยที่ในหลายๆ ประเทศได้มียุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีแผนในระดับชาติ มีการจัดตั้งทีมรับมือและกฎหมายเฉพาะเพื่อต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ