Lifestyle

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เที่ยวสามพรานสัมผัสบรรยากาศแบบวิถีไทย

          ย้อนไปในปี 2505 “สวนสามพราน” ถูกยกให้เป็นแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวสำคัญของนครปฐม สถานที่ร้อยเรื่องความเป็นวิถีไทยไว้ให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสที่มีทั้งบ้านพักแบบไทยๆ มีหมู่บ้านไทย ที่เปิดให้ชมการแสดงวิถีวัฒนธรรม ประเพณี การละเล่นต่างๆ ผ่านโรงละคร ไม่เว้นแม้การโชว์ความสามารถของช้างแสนรู้

 

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

สวนสามพราน

           ...มาถึงปี 2562 ก้าวสู่ปีที่ 58 ของสวนสามพราน ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ มีการปิดหมู่บ้านไทย พร้อมปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในใหม่ให้เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับทุกคนภายใต้วิสัยทัศน์สร้างระบบอาหารยั่งยืน สู่เป้าหมายการมีชีวิตที่สมดุลเดินตามโมเดลการดำเนินธุรกิจเกื้อกูลสังคม หรือ “สามพรานโมเดล” หลังจากได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 ที่สวนสามพรานเริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรในนครปฐม และจังหวัดข้างเคียง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านการขับเคลื่อนสามพรานโมเดลภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          นับจากจุดเริ่มต้นที่ว่าโรงแรมต้องการหาผลิตผลทางเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้แขกผู้มาพัก และเมื่อหันมามองดูชุมชนโดยรอบมีอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่มีเกษตรกรรายใดที่ผลิตพืชผักแบบอินทรีย์ หนำซ้ำต้องเผชิญปัญหาขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรมีหนี้สิน สุขภาพแย่ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง

         

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

อนัฆ-อรุษ-อรรจน์ นวราช         

          “การที่จะไปเปลี่ยนให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี เราไปพูดถึงเรื่องรายได้กับเกษตรกรก่อน เพราะเราเห็นว่าเขาเป็นหนี้ เราบอกว่าถ้าคุณหยุดใช้สารเคมีเราจะซื้อวัตถุดิบ เราไม่รอให้เขาได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพราะนานเกินไปต้องใช้เวลาถึงปีครึ่ง เราต้องซื้อใจเขาให้ได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้เริ่มจากเกษตรกรหนึ่งคนสองคน เมื่อทำได้ ขายได้ เอาคนเหล่านี้เป็นต้นแบบ เพื่อให้เกษตรกรรายอื่นเรียนรู้ ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลง สุดท้ายเขาปลดหนี้ได้ มีสุขภาพที่ดีตามมา” อรุษ นวราช ผู้บริหารสวนสามพราน และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะผู้ริเริ่มขับเคลื่อนสามพรานโมเดล บอกเล่าจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับเกษตรกร

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

แปลงผักในฟาร์ม

          ปัจจุบันสามพรานโมเดล มีสมาชิก 16 กลุ่ม 180 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียง และมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอด 9 ปีที่ทำมาพิสูจน์ให้เห็นว่า การผลิตพืชผักทางการเกษตรโดยไม่ต้องใช้สารเคมีทำได้จริง ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรปลดหนี้ได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมดี เกิดสังคมแห่งการเกื้อกูล บทพิสูจน์เหล่านี้นำมาสู่โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่ส่งผลให้สวนสามพรานกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และได้เป็นผู้นำร่วมการเปลี่ยนแปลงท่องเที่ยวยั่งยืน และองค์ความรู้เหล่านี้ได้ถูกรวบรวมไว้ใน “สามพราน โมเดล อคาเดมี” ที่พร้อมจะแบ่งปันให้ผู้คนที่สนใจตลอดเวลา

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

นักท่องเที่ยวที่แวะมาเที่ยวที่สามพราน

         “เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวมาดูการแสดงมาดูครั้งเดียวนักท่องเที่ยวอาจไม่กลับมาอีก แม้เราเปลี่ยนแปลงแต่ความเป็นไทย วัฒนธรรมประเพณียังคงอยู่ นักท่องเที่ยวที่มาไม่ได้เพียงมาชมความเป็นไทย แต่ได้มาลงมือทำด้วย มาเข้าใจความเป็นไทยได้มากกว่าการแสดง ซึ่งวิถีอินทรีย์ คือการกิน อยู่ การดูแลสุขภาพ และการทำเกษตรแบบไทยคือไม่ใช้สารเคมี ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน" อนัฆ นวราช ผู้จัดการทั่วไป บอกเล่า

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

สัมผัสวิถีชาวนาในปฐมออร์แกนิกวิลเลจ

          บนพื้นที่ 130 ไร่ของสวนสามพราน ได้ปักหมุดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจทุกจุด โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ เริ่มจาก ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม สวนเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล (IFOAM EU และ CANANDA) ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตรงข้ามโรงแรม มีเนื้อที่ 30 ไร่ เดิมทีเป็นสวนผลไม้ของชาวสวน แต่ได้ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ลงจากท่าเรือเดินบนสะพานไม้ ไม้เก่าที่รื้อจากโรงละครในหมู่บ้านไทยเดิมนำมาใช้ประโยชน์ ที่นี่เปิดให้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น เช่น การเตรียมดิน การทำชีวภัณฑ์ต่างๆ การปลูกผัก และได้ทดลองนำวัตถุดิบในฟาร์มมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ไข่เค็มพอกโคลน คั่วชาสมุนไพร น้ำส้มสายชูจากกล้วย และกิจกรรมตามฤดูกาลอื่นๆ

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

ย้อมผ้าด้วยธรรมชาติ

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

เตรียมวัตถุดิบทำแป้งร่ำ

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

เด็กๆ สนุกกับกิจกรรมสไลเดอร์โคลน 

          โซนปฐมออร์แกนิกวิลเลจ  หรือ “หมู่บ้านปฐม” ที่ปรับเปลี่ยนศูนย์แสดงวัฒนธรรมไทย (หมู่บ้านไทย) มาเป็นหมู่บ้านแปรรูปสินค้า อินทรีย์ตามวิถีชีวิตแบบไทย ที่ยึดหลักปัจจัย 4 ผ่านการทำกิจกรรมตามเส้นทางวัตถุดิบ มีกิจกรรมให้เลือกทำมากกว่า 12 ฐาน เพื่อเรียนรู้ระบบอาหาร ตั้งแต่การทำปัจจัยการผลิต ผลิต แปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย เช่น ทำนา สีข้าว ฝัดข้าว ทำขนมครก ทำสครับข้าว ทำฮอร์โมนหน่อกล้วย รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์หัตถศิลป์ ทอผ้า สาวไหม ปั้นดิน สานปลาตะเพียนฯลฯ โซนตลาดสุขใจ จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ทุกวันเสาร์อาทิตย์ จะมีเกษตรกรมาขายผักผลไม้ตามฤดูกาลค่อนข้างหนาตา ส่วนวันธรรมดาจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ ตลาดแห่งนี้ปลอดกล่องโฟม และเน้นลดการใช้พลาสติก ดังนั้นการมาตลาดสุขใจจึงต้องตระเตรียมถุงผ้า ภาชนะต่างๆ มาใส่อาหารสดกลับไปบ้าน

         และโซน ออร์แกนิก คาเฟ่ ร้านกาแฟเรือนกระจกตกแต่งสไตล์ไทยโมเดิร์น มองเห็นธรรมชาติแบบ 360 องศา นอกจากกาแฟแล้วยังจำหน่ายขนมไทยโฮมเมด ปรุงสดใหม่ทุกวัน ใช้วัตถุดิบออร์แกนิก มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เช่นกัน 

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน  

เปิดพื้นที่แรงบันดาลใจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

ปลูกผักในเปลือกไข่

          “วิถีอินทรีย์ คือ การกินอยู่ คือ เรื่องเดียวกัน ข้อสำคัญเกื้อกูล ในอดีตสังคมไทยเป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน แต่สมัยนี้คนอยู่แยกกัน แต่เรามาปรับตัวรูปแบบของการเกื้อกูลให้อยู่บนฐานการค้าที่เป็นธรรม ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาช่วยกันอย่างเดียว สักวันจะเบื่อ หมดแรงและหมดทุน แต่เราบอกว่านี่คือความยั่งยืน มีการค้าที่เป็นธรรม คือสิ่งที่ต่างประเทศพูดถึง คือ อนาคตของเรา เมื่อทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบอาหารอินทรีย์ คือ ผู้มามีส่วนร่วม จริงๆ ตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9” อรุษ ให้ทัศนะกับบทบาทอีกด้านในฐานะกรรมการผู้จัดการสวนสามพราน

          สนใจชมฐานกิจกรรมที่เป็นผลมาจากการทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในงาน “สังคมสุขใจ” ได้ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคมนี้ สอบถาม ข้อมูลโทร.0-3432-2588-93 หรือเว็บไซต์ www.suansampran.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ