Lifestyle

รู้ทันเสี่ยงเลี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้ทันเสี่ยงเลี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร คอลัมน์...  ดูแลสุขภาพ 

 


 


          หนึ่งในมะเร็งที่ติด 1 ใน 10 มะเร็งที่คนไทยเป็นกันมากคือมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN) 2018 ระบุว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของการตายจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลกและมีอุบัติการณ์เป็นอันดับ 5 ของโรคมะเร็งทั้งหมด โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นการใส่ใจตรวจสุขภาพไม่ละเลยความผิดปกติที่มาเยี่ยมเยือนร่างกาย และรู้เท่าทันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารคือสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ

 


          ๐ รู้จักมะเร็งกระเพาะอาหาร
          กระเพาะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหารมีหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารก่อนที่จะเคลื่อนต่อไปที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) เกิดขึ้นจากเซลล์เยื่อบุผิวด้านในกระจายมายังเยื่อบุผิวด้านนอก สามารถเกิดขึ้นหลายลักษณะ ได้แก่ เยื่อบุกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกระเพาะอาหาร มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย


          ๐ ตัวการมะเร็งกระเพาะอาหาร


          ตัวการที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายปัจจัย ได้แก่
          1.การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori. (H.pylori) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียตัวนี้เมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารจะสร้างสารพิษทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็ก ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด


          2.การอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารจากอาหารที่กระตุ้นการอักเสบ ได้แก่ อาหารที่มีสารกลุ่ม Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) ปนเปื้อน ส่งผลให้เสี่ยงต่อมะเร็ง พบในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง รมควัน อาหารที่มีสารโพลาร์ (Polar Compounds) จากการใช้น้ำมันทอดซ้ำมากกว่า 1 ครั้งอาหารที่มีสาร Acrylamide มักพบในอาหารอบกรอบ ทอด ปิ้ง คั่วอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) พบในของหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารปิ้งย่าง อาหารเค็มจัด อาหารที่มีสาร Heterocyclic Animes (HCAs) จากเนื้อสัตว์ที่ประกอบอาหารด้วยการผ่านความร้อน เช่น อบ ย่าง ต้ม หรือทอด เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารมากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะของการให้ความร้อน


          3.อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
          4.เพศ ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
          5.การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารให้สูงขึ้น
          6.เชื้อชาติ ชาวเอเชียพบมากกว่าชาวตะวันตกโดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน เกาหลี
          7.มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือมะเร็ง GIST จากความผิดปกติของเซลล์ในกระเพาะอาหารโดยไม่มีสาเหตุ
          8.พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ทำให้มีความเสี่ยงสูงถึง 70%
          9.ผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป A มีความเสี่ยงมากกว่ากรุ๊ปอื่น 20%
          10.ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร


          ๐ อาการมะเร็งกระเพาะอาหาร
          ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่มักพบว่าป่วยในระยะลุกลาม เนื่องจากในระยะเริ่มต้นของโรคมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้น


          อาการในระยะยังไม่ลุกลาม ได้แก่ อาหารไม่ย่อย ไม่สบายช่องท้อง ท้องอืด จุก แน่นท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจปวดแสบปวดร้อนที่หน้าอก อาการในระยะลุกลาม ได้แก่ อุจจาระสีดำ เลือดปนในอุจจาระ ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ตัวเหลือง ตาเหลือง คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย ท้องบวมจากน้ำในช่องท้อง


          ๐ การตรวจวินิจฉัย
          วิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถทำได้โดยซักประวัติและอาการต่างๆ ตรวจร่างกาย ตรวจดูลักษณะก้อนและสิ่งผิดปกติในช่องท้อง ตรวจหาต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต เป็นต้น เอกซเรย์กลืนแป้ง (double - contrast barium swallow) ตรวจความผิดปกติของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (esophago - gastro - duodenoscope, EGD) เป็นวิธีที่แนะนำ เพราะทำให้เห็นภายในกระเพาะอาหารทั้งหมด ทำให้เห็นบริเวณที่ผิดปกติและตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อได้ สามารถใช้ในการวินิจฉัยได้มากกว่า 95%


          ส่องกล้องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (endoscopic ultrasonography, EUS) ช่วยให้เห็นชั้นต่างๆ ของกระเพาะอาหารและความลึกของโรคมะเร็งที่ลุกลาม ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (computed tomography,CT) ช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของกระเพาะอาหาร ตรวจดูการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง ตรวจหาการแพร่กระจาย โดยเอกซเรย์ปอด สแกนกระดูก ตรวจด้วย PET/CT Scan ตรวจหาเชื้อ H.pylori โดยการส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อ ตรวจสอบจากลมหายใจ ตรวจเลือด ตรวจหาภูมิคุ้มกัน


          ๐ รักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
          การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารทำได้โดยผ่าตัด ให้เคมีบำบัด และฉายรังสีรักษาขึ้นอยู่กับระยะ อาการ และความรุนแรงของผู้ป่วยในช่วงแรกที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ หรืออาการกำเริบเมื่อครบ 6-8 สัปดาห์ของการรักษาจำเป็นจะต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารเพื่อการรักษาในขั้นต่อไป


          มะเร็งระยะเริ่มแรกที่ยังอยู่ที่ผิวเยื่อบุส่วนมากตัดออกโดยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ระยะเริ่มต้นของมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์อาจทำการผ่าตัดส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป โดยเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารและการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่มีการกระจายของโรคมะเร็ง จากนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่หรือหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย


          ระยะลุกลามของมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ร่วมกับการฉายรังสีรักษาในบางครั้ง หากเกิดภาวะแทรกซ้อนจะใช้การผ่าตัดรักษา เช่น ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินน้ำดี เป็นต้น เพราะในระยะนี้หากแพทย์ใช้การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว มะเร็งมีโอกาสกลับมาอีกมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ พร้อมกับการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง บางคนมะเร็งกลับเป็นซ้ำและลุกลามไปอวัยวะอื่น


          การตรวจติดตามผู้ป่วยหลังทำการรักษามีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดการเป็นซ้ำของโรคแพทย์จะสามารถตรวจพบและรักษาได้อย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจึงควรมาตรวจตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ


          ๐ ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร
          กินร้อนช้อนกลางทุกมื้อ กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ เลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง หมัก ดอง เค็ม มัน ออกกำลังกายเป็นประจำ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้องเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องและตรวจหาเชื้อ Helicobacter Pylori เพื่อรักษา


          อย่างไรก็ตามการตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายได้ แต่คนส่วนใหญ่มักพบในระยะลุกลาม ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง คือหนทางการดูแลป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะยาว


ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ 
ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวัฒโนสถ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ