Lifestyle

จับกระแสไอทีแดนมังกรปักหมุดลงทุนไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับกระแสไอทีแดนมังกรปักหมุดลงทุนไทย คอลัมน์...  อินโนสเปซ โดย...  บัซซี่บล็อก


 


          ข่าวการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ข้ามประเทศระหว่างหน่วยงานรัฐบาลไทยและหัวเว่ย ผู้นำด้านเทคโนโลยีลำดับต้นๆ ของจีน ณ เมืองเสิ่นเจิ้น ฐานที่มั่นและบ้านเกิดของหัวเว่ย ในการจัดตั้ง “หัวเว่ย อคาเดมี” ในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และบริษัทหัวเว่ย เพื่อเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัล และไอซีที สำหรับภูมิภาคอาเซียน กำหนดเปิดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงความสำคัญของประเทศไทยในการเป็นหมุดหมายสำคัญด้านการลงทุนจากยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมด้านนี้จากแดนมังกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เป็นแนวโน้มเทคโนโลยีมาแรง ได้แก่ ด้านบิ๊กดาต้า, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ไอโอที (IoT), 5G และระบบคลาวด์

 

 

 

จับกระแสไอทีแดนมังกรปักหมุดลงทุนไทย

 

 

          ก่อนหน้านี้เคยมีบทความในเว็บไซต์ Techsauce วิเคราะห์คลื่นการลงทุนจากยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนไว้ว่า เริ่มเทน้ำหนักมาที่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาที่กำลังเฟื่องฟูอย่างอีคอมเมิร์ซ ฟินเทค โลจิสติกส์ คอนเทนท์ การขนส่งและธุรกิจค้าปลีก ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก็ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นแหล่งลงทุนอันดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้ของธุรกิจจากแดนมังกร


          ในการวิเคราะห์ของ Techsauuce โฟกัสเป็นพิเศษที่การลงทุนด้านดิจิทัลและออนไลน์ ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มการลงทุนจากจีนแล้วจะเห็นภาพชัดเจนว่าในบางอุตสาหกรรมที่เป็น “ดาวรุ่ง” ทุนใหญ่ของจีนก็ไม่แคร์ที่จะอัดฉีดเงินให้ผู้ร่วมทุนในไทยที่เป็น “คู่แข่ง” กันเอง

 

 

 

จับกระแสไอทีแดนมังกรปักหมุดลงทุนไทย

 


          อีคอมเมิร์ซ 3 รายใหญ่ล้วนมีทุนจีนหนุน
          ตัวอย่างธุรกิจที่โดดเด่นสุดซึ่งเรียกเงินจากกระเป๋านักลงทุนยักษ์ใหญ่แดนมังกรเข้ามาได้ ก็คือ อีคอมเมิร์ซ ซึ่ง 3 ผู้เล่นหลักในตลาดทั้ง ลาซาด้า (Lazada), ช้อปปี้ (Shopee) และเจดี เซ็นทรัล (JD Central) ซึ่งกลุ่มทุนจีนที่ถือหุ้นจำนวนมากอยู่ ได้แก่ อาลีบาบา, เทนเซ็นต์ และเจดี ตามลำดับ เหตุที่ตลาดการลงทุนนี้เนื้อหอมก็เนื่องมาจากตัวเลขการเติบโตแซงหน้าตลาดเดียวกันในกลุ่มอาเซียนนั่นเอง

 

 


          จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า เปิดเผยว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยว่าเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 8-10% ต่อปี ตัวเลขล่าสุดจากผลสำรวจปี 2561 พุ่งสูง 3.2 ล้านล้านบาท อีกทั้งประเทศไทยมีอัตราการเติบโตมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ที่เกิดจากธุรกรรมของผู้บริโภค หรือบีทูซี (B2C : Business to Consumer) สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่ามีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท

 

 

 

จับกระแสไอทีแดนมังกรปักหมุดลงทุนไทย



          เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาทาง ASEAN UP ก็เคยให้มุมมองไว้ว่า ประเทศไทยเป็นตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้วยจำนวนผู้ใช้ออนไลน์ และการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้านการแข่งขันก็คึกคักทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมที่ขยายจากหน้าร้านกายภาพมาอยู่บนออนไลน์ด้วย โดยอีคอมเมิร์ซในไทยก็คือลาซาด้า แต่ละเดือนมียอดส่องจากนักช้อป 44.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรไทย ส่วนเบอร์ 2 คือ ช้อปปี้ มีนักช้อปออนไลน์เข้ามาแวะชมสินค้ากว่า 30 ล้านคนต่อเดือน


          พอร์ตการลงทุนในไทย “อาลีบาบา-เทนเซ็นต์”
          อีกข้อที่น่าจับตามองก็คือบทบาทของอาลีบาบา ยักษ์อีคอมเมิร์ซของแดนมังกร ที่แผ่ขยายธุรกิจครอบคลุมแทบทุกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในสาขานี้ด้วย ปีที่แล้วสร้างดีลที่สนั่นอาเซียน ด้วยการลงนามเอ็มโอยูร่วมกับรัฐบาลไทยลงทุนโครงการ Smart Digital Hub มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ในพื้นที่อีอีซี และยังตามมาด้วยเอ็มโอยูฉบับอื่นๆ ในด้านอีคอมเมิร์ซ และการท่องเที่ยวอีกด้วย


          ขณะที่ในธุรกิจฟินเทคได้สนับสนุนเงินลงทุนผ่านบริษัทในเครือ คือ Ant Financial เข้าลงทุนในบริษัท Ascend Money ของกลุ่มทรู คอร์ป ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในชื่อทรูมันนี่ (TrueMoney) ถือเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดในการรุกคืบเข้ามาตลาดค้าปลีกในไทยผ่านสารพัดกิจการค้าปลีกในเครือซีพี บริษัทแม่ของกลุ่มทรู นอกจากนี้ยังลงอัดฉีดเงินลงทุนให้กับ CompareAsiaGroup บริษัทแม่ของ MoneyGuru.co.th ที่ให้บริการเว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

 

 

จับกระแสไอทีแดนมังกรปักหมุดลงทุนไทย

 


          อีกกลุ่มทุนใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลของจีนอีกรายที่รุกเข้ามาปักหมุดอย่างจริงจังในประเทศไทยแล้วก็คือบริษัท เทนเซ็นต์  (Tencent) มีผู้ก่อตั้งชื่อว่านาย Pony Ma ที่แม้จะไม่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างแจ็ค หม่า ของอาลีบาบา แต่ในแง่ธุรกิจแล้วมีหลายบริการที่ประชากรชาวออนไลน์ของไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์สนุกดอทคอม, แพลตฟอร์มความบันเทิงและมัลติมีเดีย ทั้งแอพฟังเพลงออนไลน์/สตรีมมิ่ง “JOOX” แอพความบันเทิงผ่านวิดีโอสตรีมมิ่ง “WeTV” และเกมออนไลน์ยอดนิยม “PUBG” รวมทั้งแอพสนทนา “WeChat” ที่แม้ในไทยจะยังตามหลังไลน์ (Line) แต่ในจีนรั้งอันดับเบอร์ 1


          นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ได้แก่ แอพอีบุ๊กสัญชาติไทย Ookbee, Gojek ของอินโดนีเซีย เจ้าของแอพ Get คู่แข่งของ Grab (ซึ่งมีกลุ่มเจดี ของจีน และเซ็นทรัลของไทยถือหุ้นอยู่) และลงทุนใน SEA group ของสิงคโปร์ เจ้าของค่ายเกมดัง ROV และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Shopee.com


          ล่าสุดผู้บริหารของ Tencent ประเทศไทย ประกาศชัดเจนว่า บริษัทแม่ที่จีนได้วางยุทธศาสตร์ให้ Tencent ประเทศไทยเป็น “Hub of ASEAN” ในการรุกสร้างฐานธุรกิจแพลตฟอร์มความบันเทิง (Entertainment Platform) ในภูมิภาคนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ