Lifestyle

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่อง : ภาพ โดย ประเสริฐ เทพศรี

          ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์และการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาซึ่งเข้ามาในภายหลัง มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับตามความเชื่อว่าในช่วงเวลาระหว่างวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 เดือน 10 ของทุกปี จะได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

ชาวบ้านมาร่วมทำบุญกันเต็มศาลาวัด

          ดังนั้นช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้นิยมทำบุญกันมากที่สุดคือวันแรม 13-15 ค่ำ เดือน 10  ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักตรงกับช่วงเดือนกันยายน

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

ตั้งเปรต 1-2 ชาวบ้านำสำรับมาจัดวางไว้รอบวัด

          ความเป็นมาของงานเทศกาลเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช “งานเทศกาลเดือนสิบ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2466 ที่สนามหน้าเมือง นครศรีธรรมราช เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยในช่วงนั้นพระภัทรนาวิก จำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้นพร้อมทั้งมีการออกร้านและมหรสพต่างๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน 3 วัน 3 คืน จนกระทั่งถึงปี 2535 จังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงานจากสนามหน้าเมืิองไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้าง และมีการจัดตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

ขบวนหมรับ

          ชาวนครฯ จะเริ่มงานวันแรกในวันแรม 13 ค่ำ เรียกว่า “วันแห่เปรต” โดยขบวนแห่เปรตต่างๆ เริ่มตั้งขบวนหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในขบวนก็จะมีหุ่นเปรตจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมขบวนโดยเดินไปสิ้นสุดที่สนามหน้าเมือง สำหรับการแห่ขบวนเปรตนี้จัดขึ้นเพื่อเตือนใจให้คนได้ทำความดีตายไปจะได้ไม่เป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม มือใหญ่เท่าใบตาล นอกจากนี้ในวันแรม 13 ยังถือเป็น “วันจ่าย” ชาวบ้านจะซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมไว้สำหรับใส่ “หมรับ”

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

ชาวบ้านยกหมฺรับมาเป็นเข่งๆ

          สำหรับการจัด “หมรับ” มักจะจัดเฉพาะครอบครัว หรือจัดรวมกันในหมู่ญาติและจัดเป็นกลุ่ม โดยภาชนะที่ใช้จัดหมฺรับนั้นมักใช้กระบุง หรือ เข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับเจ้าของหมฺรับ ปัจจุบันใช้ภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ การจัดหมฺรับคือการบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบ ฯลฯ ลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

หมฺรับที่ชาวบ้านนำมาวัดเพื่อทำบุญส่งตายาย

          ลักษณะของการจัด ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้ง ลงไว้ที่ก้นภาชนะ ได้แก่ ข้าวสาร พริก เกลือ หอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา น้ำตาล มะขามเปียก รวมทั้งบรรดาปลาเค็ม เนื้อเค็ม หมูเค็ม กุ้งแห้ง เครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น ชั้นที่สอง จัดบรรจุอาหารประเภทพืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นแรก ได้แก่ มะพร้าว ขี้พร้า หัวมันทุกชนิด กล้วยแก่ ข้าวโพด อ้อย ตะไคร้ ลูกเนียง สะตอ รวมทั้งพืชผักอื่นที่มีในเวลานั้น ชั้นที่่สาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วย ชาม เข็ม ด้าย หมากพลู กานพลู การบูร พิมเสน สีเสียด ปูน ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน ชั้นบนสุด ใช้บรรจุและประดับประดาด้วยขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ เป็นสิ่งสำคัญของหมฺรับ ได้แก่ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม ขนมบ้า มีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้าเป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะ คล้ายกำไล แหวน ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย....ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมไปทำบุญในวันแรม 15 ค่ำ

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

บวนแห่หมฺรับของหน่วยงานราชการ

          ต่อมาในเช้าวันแรม 14 ค่ำ ถือเป็นวัน “แห่หมรับ” จะมีหน่วยงานราชการในอำเภอต่างๆ ตกแต่งขบวนรถสวยงามมีการฟ้อนรำนำหน้าขบวนหมฺรับ ซึ่งเต็มไปด้วยความสวยงาม นำมาประกวดกันโดยขบวนจะเริ่มจากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุวรวิหารขบวนยาวเป็นกิโลเมตร

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

ขบวนแห่เปรตเพื่อให้เกิดความกลัวจะได้ทำความดี

          มาถึงวันสำคัญวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวพื้นเมืองเรียก “วันฉลองหมรับ” หรือเป็น "วันสารท” เป็นวันสุดท้ายของการทำบุญครบสมบูรณ์ตามประเพณี วันนี้จึงมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระและทำพิธีบังสุกุลกระดูกเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไป ซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่ได้กระทำพิธีกรรมในวันนี้บรรพบุรุษพี่น้องที่ล่วงลับไปจะไม่ได้รับส่วนกุศล ทำให้เกิดทุกขเวทนาด้วยความอดอยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญู

"สารทเดือนสิบ"งานบุญใหญ่เมืองคอน

การแห่หมฺรับแบบชาวบ้าน

          สำหรับการตั้งเปรตและการชิงเปรตเสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ลูกหลานจะนำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆ ของวัด ตั้งที่ศาลาสำหรับเปรตทั่วไปและริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติหรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้รวมถึงเปรตที่ยังมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศลและกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จแล้วลูกหลานจะแย่งชิงขนมและอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต” ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนม เชื่อกันว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษถ้าใครที่ได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ