Lifestyle

5G เปิดยุคใหม่การแพทย์  สมาร์ท เฮลธ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  อินโนสเปซ  โดย...   บัซซี่บล็อก

 

 

 

          แม้ล่าสุดเริ่มมีการส่งสัญญาณจากทั้งฟากผู้กำหนดและกำกับนโยบาย รวมถึงเอกชนผู้ลงทุนรายใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคมในไทยออกมาแล้วว่า ประเทศเราอาจไม่จำเป็นต้องรีบเร่งคลอดบริการ 5G ภายในปีหน้า (ท่ามกลางความไม่พร้อมของหลายๆ องค์ประกอบ) โดยอาจขยับเลื่อนออกไปอีก 1 ปี หรือในปี 2564

 

 

          แต่ในฝั่งของภาคส่วนหลักๆ ที่เห็นชัดเจนแล้วว่า จะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้มาเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน ตลอดจนให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่างกำลังทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้เข้าถึง “การใช้ประโยชน์สูงสุด” จาก 5G

 

 

5G เปิดยุคใหม่การแพทย์  สมาร์ท เฮลธ์

 


          โดยหนึ่งในกลุ่มที่มาแรงก็คือ ด้านการแพทย์/สาธารณสุข เพราะ 5G นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม เพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิต หนุนเสริมให้ระบบการรักษาพยาบาลขยับไปสู่ระดับที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น (Smart Helath) อีกทั้งหนุนเสริมเป้าหมายด้านการแพทย์เชิงป้องกัน (Preventive Medicine)


          ล่าสุด นิตยสารเอสเอ็ม (SM Magazine) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโทรคมนาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้ด้อยโอกาส และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานสัมมนา “Telemedicine & Smart Health 2019”


++

 

 

          คนแก่/ป่วยแยะขึ้น VS แพทย์ขาดแคลน
          พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และอดีตรองประธาน กสทช. พูดถึงมุมมองเกี่ยวกับบทบาท 5G ในการพลิกโฉมการให้บริการด้านสาธารณสุขว่า ศักยภาพของ 5G จะช่วยให้การรับส่งข้อมูล/การสื่อสารผ่านระบบแพทย์ทางไกลความเร็วสูง เพิ่มความรวดเร็วขึ้นถึง 10 เท่า และอีก 5 ปีจะขยับเป็น 100 เท่า


          อนาคต โทรศัพท์มือถือจะสามารถวัดความดัน การเต้นของหัวใจ ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น แล้วนำข้อมูลไปเก็บไว้บนคลาวด์ อีกทั้งมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (IoT) เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเก็บข้อมูลสุขภาพเป็นแบบเรียลไทม์ และการวินิจฉัยทำได้รวดเร็วขึ้น

 

 

5G เปิดยุคใหม่การแพทย์  สมาร์ท เฮลธ์



          แนวโน้มที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย จำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นๆ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัดหรือขาดแคลนในหลายพื้นที่ ทำให้แนวคิดของระบบการแพทย์ทางไกล จะกลายเป็นคำตอบให้กับโจทย์ปัญหาข้อนี้ และนับเป็นโชคดีที่เทคโนโลยีมีแนวโน้มก้าวหน้ายิ่งขึ้น มีอุปกรณ์ใหม่ๆ ออกมารองรับการวินิจฉัยทางไกลด้วยราคาถูก ยิ่งมีการใช้แพร่หลายขึ้น ราคาอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ อีกด้วย


          ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เมื่อปี 2561 ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีตัวเลขจำนวนแพทย์โดยเฉลี่ย 13.9 คน ต่อประชากร 10,000 คน


          อย่างไรก็ตาม หลายประเทศมีตัวเลขเฉลี่ยต่ำกว่านั้น หรืออยู่ในระดับขาดแคลน อย่างเช่น ประเทศไทย มีจำนวนแพทย์เฉลี่ย 3.9 คนต่อประชากร 10,000 คน หรืออินโดนีเซีย มีแพทย์ 3 คนต่อประชากร 10,000 คน


          อีกทั้งแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในจาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวง และเมืองที่มีเศรษฐกิจดีอย่าง บาหลี เป็นต้น


++

 

 

 

5G เปิดยุคใหม่การแพทย์  สมาร์ท เฮลธ์

 


          คำจำกัดความ “เทเลเมดิซีน”
          ในงานนี้ยังได้เปิดเวทีเสวนา “Telemedicine จุดเปลี่ยนสาธารณสุขไทย” ซึ่งผู้ร่วมเสวนา ได้ให้คำจำกัดความของ เทเลเมดิซีน ในมุมมองส่วนตัว ซึ่งคีย์เวิร์ดหลักๆ จะครอบคลุมถึง การให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบเครือข่ายความเร็วสูง ยังต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานทางการแพทย์ ตลอดจนมาตรฐานของระบบและอุปกรณ์ไอทีที่นำมาใช้ในระบบการแพทย์ทางไกลต้องเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล การเชื่อมต่อให้ผู้ป่วย/คนไข้ และแพทย์สื่อสารกันได้โดยตรงครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาล


          ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวด้วยว่า เทเลเมดิซีน เป็นเรื่องของการแพทย์ ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี เป็นการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ใน virtual world ที่ไม่จำกัดด้วยเวลาและสถานที่


          ดังนั้น เทเลเมดิซีน ก็คือบริการทางการแพทย์นั่นเอง และที่ผ่านมาก็มีการระบุไว้ใน พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน มีมาตรฐานทางการแพทย์กำกับอยู่ มีการบันทึกข้อมูลทั้งหมดที่แพทย์รักษาผู้ป่วยไว้ในเวชระเบียน (Medical Record) เหมือนการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป


          อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของศิริราชในการทำโครงการนำร่องด้านเทเลเมดิซีนมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ของภาคสาธารณสุขไทย ยังมีอุปสรรคด้านการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มกลาง ซึ่งต้องใช้งบประมาณการลงทุนจำนวนมาก เพื่อให้เกิดมาตรฐานกลางในการสื่อสาร เพื่อให้ตรวจสอบยืนยันได้ว่า นื่คือแพทย์/คนไข้ตัวจริง และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง (Connectivity)


          และอีกข้อที่สำคัญคือ กฎหมาย เพื่อรับรองเรื่องความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของบริการทางการแพทย์ผ่านระบบทางไกล โดยทั้ง 2 ข้อนนี้ จำเป็นที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างให้เกิดขึ้น


          ขณะที่ ทันตแพทย์หญิง กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Ooca ซึ่งเป็นแอพฯ ด้านจิตแพทย์ออนไลน์ กล่าวว่า การให้บริการทางการแพทย์นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล แต่ขอบเขตยังกว้างไปครอบคลุมถึงขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหวางคนไข้กับบุคลากรทางการแพทย์ ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน หรือการสื่อสารตลอดอีโคซิสเต็มที่อยู่โดยรอบกระบวนการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตเริ่มพร้อม และคนมีความเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น


++

 

 

5G เปิดยุคใหม่การแพทย์  สมาร์ท เฮลธ์

 


          สมาร์ท เฮลธ์ เพื่อความทั่วถึงที่แท้จริง
          อาจารย์สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับ “Smart Health for Smart Life” ว่า แนวคิดเรื่องระบบการแพทย์ทางไกล และการแพทย์อัจฉริยะ (Smart Health) มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเช้าถึงบริการทางสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการ ซึ่งมักมีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพหากไม่ได้ดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง


          “สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น Smart Health ซึ่งช่วยให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน จะเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มนี้ ที่ผ่านมามีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนพิการ ร้อยละ 97 ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักจากรัฐ แต่กลับมีคนพิการสิทธิบัตรทองเพียง 1 ใน 3 ที่ไปใช้บริการตามสิทธิ เนื่องจากอุปสรรคหลักๆ ได้แก่ ไม่มีผู้พาไป เดินทางไม่สะดวก คิวยาวหรือต้องรอนาน ซึ่งเป็นความยากลำบากของผู้พิการ เป็นต้น จึงทำให้เสียโอกาสทั้งเรื่องใช้สิทธิรักษาพยาบาล และการตรวจสุขภาพ (เพื่อป้องกันโรค)”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ