Lifestyle

ปวดหัว ปวดบ่า ปวดคอ คอเสื่อมปวดร้าวขึ้นศีรษะเหมือนเป็นไมเกรน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  เสียงเตือนจากร่างกาย 

 

 

 

          สำหรับฉบับนี้เสียงเตือนจากร่างกายอาจจะเป็นปัญหาที่อาจตรงกับท่านผู้อ่านมากไม่น้อยเลยค่ะ เพราะจากสถิติของลูกค้าที่เดินมาหาที่คลินิกมากกว่าครึ่งมาด้วยอาการปวดหัว ปวดคอ ปวดร้าวขึ้นศีรษะเหมือนเป็นไมเกรน อยากทราบไหมคะว่าท่านที่มานั้นมาด้วยอาการอย่างไรบ้าง แล้วท่านผู้อ่านเองเคยมีอาการเช่นนี้หรือไม่

 

 

          ปวดคอ หนักๆ บนบ่าตลอดเวลา บ้างก็บ่นว่าเหมือนมีอะไรนั่งบนบ่า บ้างก็เหมือนมีอะไรขี่คออยู่


          นี่เป็นคำบ่นจากเคสที่มีอาการปวดบ่า ปวดคอนะคะ จริงๆ แล้วอาการที่รู้สึกเช่นนี้มาจากกล้ามเนื้อบ่าซึ่งมีจุดเกาะที่กระดูกคอโยงลงมาที่บ่านั้น เกร็งตัวค้างอยู่ตลอดเวลา (muscle holding เป็นอาการที่เกร็งค้างไม่มีการคลายตัวออก เคสนี้จึงรู้สึกหนักตลอดเวลา)


          ปวดก้านคอร้าวไปที่กระบอกตาเหมือนตาจะปิดตลอดเวลา บางครั้งตาพล่ามัว มองไม่ชัด ลืมตาไม่ขึ้น และบางครั้งก็มีหูอื้อด้วย


          อาการปวดร้าวเข้ากระบอกตานี้พบบ่อยมากค่ะ ปวดก้านคอพร้อมปวดกระบอกตา เนื่องจากเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงในกระบอกตาผ่านเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ซึ่งเชื่อมกับกล้ามเนื้อบริเวณก้านคอ และที่สำคัญอาการนี้เป็นอาการปวดร้าวจากความตึงหรือเกร็งตัวมากกว่าปกติของกล้ามเนื้อใต้ฐานกระโหลก (refer pain of suboccipital muscle) กล้ามเนื้อมัดนี้จะเกร็งตัวตลอดเวลาที่เรานั่งทำงานก็ว่าได้ค่ะ เพราะเวลาเรานั่งจ้องจอคอมพ์ หรือเพ่งกับงานอะไรบางอย่างบนโต๊ะ คอจะก้มไปด้านหน้า คางจะยื่น นี่เป็นท่าที่กล้ามเนื้อมัดนี้เกร็งค้างอยู่ตลอดเวลาเลยค่ะ

 

 

ปวดหัว ปวดบ่า ปวดคอ คอเสื่อมปวดร้าวขึ้นศีรษะเหมือนเป็นไมเกรน

 

 


          ปวดก้านคอร้าวขึ้นขมับ ขึ้นกะโหลกศีรษะ หนักหัว ตึงไปทั้งหัวเหมือนเป็นไมเกรน


          อาการนี้เป็นปัญหากับหลายๆ เคสค่ะ บางเคสเข้าใจว่าตัวเองเป็นไมเกรนมากว่า 3-4 ปี แต่ก็เพิ่งมาพบสาเหตุที่ชัดเจนกับอาการของตัวเองที่เป็นค่ะ อาการปวดร้าวขึ้นขมับหรือปวดร้าวขึ้นศีรษะนี้ เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อของคอ แล้วไปกดหรือบีบรัดการไหลเวียนของเส้นประสาท (Greater occipital nerve) จึงรู้สึกร้าวขึ้นที่ศีรษะ บางเคสปวดขมับเหมือนเป็นไมเกรน

 



          การแยกอาการนี้ออกจากไมเกรนไม่ยากเลยค่ะ สาเหตุของไมเกรนนั้นเกิดจากเส้นประสาทที่อยู่ในผนังหลอดเลือดไวต่อการรับรู้ จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงมาก อาจมีร่วมกับอาเจียน ฯลฯ และอาจถูกกระตุ้นด้วยสี แสง หรือความร้อน เป็นต้น แต่การปวดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อนั้นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อไมเกรน แต่ผลโดยอ้อมแล้วหากยิ่งมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อก้านคอหรือฐานกะโหลก ก็อาจส่งผลให้อาการของไมเกรนถูกกระตุ้นได้ง่าย อาการปวดจากกล้ามเนื้อหรือข้อต่อกระดูกคอมีปัญหานั้นมักชัดเจนเมื่อเครียด เมื่อทำงานต่อเนื่องนาน เช่น เช้าๆ ไม่มีอาการ แต่พอบ่าย/เย็นมักปวดขึ้นมา ทั้งนี้ก็เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวจากการทำงานตลอดทั้งวัน หากร่วมกับท่าทางที่ไม่ถูกต้องด้วยแล้วก็มักกระตุ้นให้มีอาการปวดมากกว่าปกติ แต่บางเคสที่ข้อต่อคอยึดติดนานๆ การนอนในท่าที่ไม่ถูกต้อง ที่นอนไม่เหมาะสม ก็มักจะมีอาการตอนเช้าๆ หลังจากตื่นนอนได้เช่นกัน


          ตื่นมาเหมือนคนคอตกหมอนบ่อยๆ รู้สึกขัดที่ก้านคอ พานให้ปวดหัวตอนเช้าๆ หันคอ เอี้ยวคอไม่สุด ปวดเมื่อเคลื่อนไหว แต่พอสายๆ หรือทำโน่นทำนี่อาการขัดๆ ก็บรรเทาลง


          เคสที่มีอาการเหมือนข้อนี้ มักเสียเงินไปกับการเปลี่ยนที่นอนหรือเปลี่ยนหมอนบ่อยมากค่ะ บางเคสบอกผู้เขียนว่าเขามีหมอนเป็นสิบใบสลับกันนอนอยู่ ฟังแล้วก็สงสารค่ะ ท่านใดที่ไม่ปวดจะไม่ทราบเลยว่าความทรมานของร่างกายนั้นทำให้ต้องดิ้นรนทุกทาง หากมีทางไหนที่พอจะบรรเทาได้ก็จะหาหนทาง แต่การแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนหมอนนั้นอาจไม่ใช่การแก้ที่ตรงจุดซะทีเดียวค่ะ ลักษณะของอาการปวดในข้อนี้เกิดจากการยึดติดของข้อต่อกระดูกคอ (Hypomobility of Cervical facet joint) เริ่มต้นก็มาจากกล้ามเนื้อที่เกร็งค้าง การไม่สมดุลของการทำงานของกล้ามเนื้อด้านหลัง/กล้ามเนื้อหน้าอก (Muscle imbalance) จึงทำให้ข้อต่อคอ แบกรับน้ำหนักมากกว่าปกติ และก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา


          ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำบอกเล่าจากร่างกายหลายๆ เคสที่มาพบผู้เขียนเองค่ะ ท่านเชื่อไหมว่าหลายเคสมีอาการทั้งหมดที่ได้กล่าวมา และต้องทรมานมากกับอาการที่เป็นอยู่ บางเคสกินยาต่อเนื่องมาเป็น 3-4 ปี แทนที่จะดีขึ้น อาการกลับรุนแรงมากขึ้น และทุกครั้งที่กินยาแก้ปวดก็ต้องกินยาเคลือบกระเพาะก่อน เพราะยาที่กินอาจมีผลข้างเคียงไปกัดกระเพาะอาหาร ฟังแล้วเหนื่อยแทนเลยค่ะ แต่ก็ยังดีใจและปลื้มใจที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ ทำให้อาการที่สร้างความทรมานกับเขาหายไปได้ อาการปวดต่างๆ ที่กล่าวมานั้นอาจมีอาการที่แสดงออกคล้ายๆ กัน แต่สาเหตุแท้จริงที่ทำให้กล้ามเนื้อคอ บ่า มีปัญหานั้นกลับแตกต่างกันออกไป จึงทำให้การวางแผนการรักษาแตกต่างกันออกไปด้วย บางเคสมาจากการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าไม่สมดุล ทำให้เกิดการบิดหมุนที่ขา สะโพก กระดูกสันหลัง มีผลให้กระดูกคอบิด และส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณก้านคอเกร็งตัวตลอดเวลา บางเคสเกิดจากกระดูกสันหลังคด แต่เคสไม่ทราบว่าตัวเองหลังคด บางเคสก็มาจากกล้ามเนื้อที่เป็นฐานให้กระดูกคอ คือช่วงสะบัก (Middle trapezius / Rhomboid muscle) อ่อนแรงจึงทำให้ไหล่งุ้มเกิดแรงกดอัดที่กระดูกต้นคอมากกว่าปกติ ฯลฯ


          แม้อาการปวดที่ดูจะเหมือนกันแต่มีต้นตอของสาเหตุที่ต่างกันนี่ล่ะค่ะ จึงทำให้แผนการรักษาต้องแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญที่สุดเคสเองต้องรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองมีปัญหานั้นมาจากส่วนไหนเป็นเหตุ และการแก้ไข ดูแล รักษา ไม่เพียงทำให้อาการที่เป็นดีขึ้นแต่ต้องทำให้ต้นตอของอาการที่เป็นหายขาดด้วยการทำโครงสร้างร่างกายให้สมดุล อันเป็นสิ่งสำคัญที่เราตระหนักมากค่ะ ไว้ฉบับหน้ามาดูกันนะคะว่าเสียงเตือนจากร่างกายจะบอกอะไรเราบ้าง


          ** ขอเชิญร่วม Workshop “Ariya of Life สุขภาพดีวิถีอริยะ” เรียนรู้การสร้างสรรค์เมนูอาหารอร่อยเป็นได้ทั้งยารักษาโรคและบำรุงสุขภาพ กับเชฟหมอนัท จาก Ariya Organic Café เรียนรู้การสร้างสมดุลโครงสร้างร่างกายด้วย Deep Muscle Exercise กับ Ariya Wellness Center ในวันที่ 29 กันยายน 2562 เวลา 10.00-13.00 น. @AriyaOrganic Café ชั้น 1 Life Center (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ถ.สาทร สำรองที่นั่ง 09-2326-9636 ฟรี....15 ท่านเท่านั้น**


          ***ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 09-2326-9636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ