Lifestyle

อ้วน...

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก  [email protected]​ 

 

             สวัสดีครับ อ้วน...ใครได้ยินคงปวดใจ แต่ถ้าหลายคนมาบอกว่าสัตว์เลี้ยงแสนรักอ้วนน่ารักจัง ท่านอาจภูมิใจ แต่เป็นผลดีของสัตว์ไหมเป็นอีกเรื่องนะครับ ขนาดไหนถึงเรียกอ้วน ขนาดไหนเรียกผอม หมอขอให้เจ้าของสังเกตโดยการมองดูและการจับร่วมกัน 

 

           มอง คือ การมองด้วยสายตาในหลายมุมว่าสัตว์เลี้ยงมีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยมองทั้งจากมุมด้านบน ด้านข้าง ด้านหน้าตัวสัตว์ ด้านหลังตัวสัตว์ เช่น มุมมองจากด้านบนไม่เห็นว่าสัตว์มีส่วนเกินบริเวณช่องท้องด้านซ้าย ขวา มีความเท่ากัน บริเวณหลังไม่มีการสะสมไขมันมากเกินไป ด้านข้างเห็นกระดูกซี่โครงบ้าง ไม่เห็นส่วนย้อยบริเวณพุง เป็นต้น 

             หากสัตว์เลี้ยงของท่านมีขนมาก ขนฟู การมองดูอาจไม่เพียงพอต้องใช้การจับคลำร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นท่านอาจเข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีรูปร่างปกติ แต่แท้จริงแล้วอาจผอม หรืออ้วนเกินไปก็ได้ โดยเริ่มจากการคลำตั้งแต่หัวจรดหาง โดยหมอจะให้เกณฑ์ปกติไว้ดังนี้ บริเวณกระดูกซี่โครงมีชั้นไขมันปกคลุม บริเวณโคนหางมองไม่เห็นปุ่มกระดูกแต่พอคลำจะสัมผัสกระดูกได้ผ่านผิวหนังและไขมันบางๆ ไขมันใต้ท้องไม่หย่อนคล้อย หรือไม่มีการลงพุงนั่นเอง 

              มองจากด้านบนสัตว์ควรมีลักษณะเอวคอดเล็กน้อยและมองจากด้านข้างพบรอยคอดเล็กน้อย ที่กล่าวมาเป็นการประเมินที่เรียกว่า Body condition score (BCS) แบบทั่วไป ทั้งนี้ต้องดูลักษณะสายพันธุ์สัตว์ด้วยเช่น รูปร่างของสุนัขพันธุ์บูลด๊อก จะให้เหมือนสุนัขพันธุ์เกรย์ฮาวด์ก็คงไม่เหมาะนะครับ 

             คราวนี้มาดูว่าสัตว์ที่อ้วนมักมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่สองประเด็น คือ จากตัวสัตว์เองในเรื่องของพฤติกรรมการกินอาหาร (ซึ่งได้อาหารจากเจ้าของนั่นแหละครับ รวมถึงขนมต่างๆ) พฤติกรรมการออกกำลังกาย โรค หรือภาวะต่างๆ เช่น การทำหมัน โรคฮอร์โมนบางชนิด เพศ พันธุ์ เป็นต้น ในส่วนของผู้เลี้ยง ก็มีส่วนทำให้สัตว์เลี้ยงอ้วนได้จากการให้อาหารที่โภชนาการไม่เหมาะสมกับรูปแบบกิจวัตรของสัตว์ การให้พื้นที่ หรือเวลาสำหรับการออกกำลังกายไม่เพียงพอ เป็นต้น

              คราวนี้มาดูว่าภาวะอ้วน มีผลกระทบอะไรกันบ้าง ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาเรื่องโครงสร้าง เช่น กระดูก และข้อเสื่อม ปัญหาเรื่องหัวใจ และหลอดเลือด ความสมบูรณ์พันธุ์ โรคกลุ่มเนื้องอก โรคเบาหวาน และอื่นๆ เป็นต้น หากสัตว์เลี้ยงเราอ้วนแล้ว แนวทางการแก้ไขแบ่งออกเป็น 4 แนวทางร่วมด้วยช่วยกัน คือ 

       

 

       1.การจัดการด้านโภชนาการให้เหมาะสมกับตัวสัตว์ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์ควบคุมน้ำหนักสำหรับสัตว์ที่ผ่านการทำหมัน เป็นต้น 2.การออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าหักโหมในช่วงเริ่มต้น ตรงนี้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการออกกำลังกาย 3.การตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของภาวะอ้วนเพื่อหาแนวทางรักษาหรือพยากรณ์โรคต่อไป 

               และ 4.เจ้าของอาจต้องปรับพฤติกรรมการให้อาหาร(ตรงนี้ต้องใจแข็งนะครับ) หรือการพาออกกำลังกายซึ่งจะได้มาทั้งความสัมพันธ์ของเจ้าของ และสัตว์เลี้ยงจากการใช้เวลาร่วมกันอีกด้วย 

                 ถึงตรงนี้หมอคาดว่าทั้งคนและสัตว์จะสุขภาพดีไปด้วยกันครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ