Lifestyle

'บล็อกเชน' ไม่ใช่แค่เรื่องเหรียญดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คมลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย "บัซซี่บล็อก" หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ 18-19 พ.ค. 2562

 

********************

 

          หลายปีที่ผ่านมา แม้คนไทยจะคุ้นหูกับคำว่า “บล็อกเชน (Blockchain)” ขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องยอมรับว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ที่การผูกติดอยู่กับในเรื่องของสกุลเงินดิจิทัล ที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดคงต้องยกให้ บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่เคยถึงจุดสูงสุดมาแล้ว ด้วยการสร้างมูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนสูงเป็นร้อยเท่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่มีการใช้จริงในโลกกายภาพ

          อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย และความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้จากนี้ไป บล็อกเชน จะขยับขึ้นมามีบทบาทในการทำกิจกรรมในหลากหลายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญคือ ใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ ยิ่งขึ้น

 

'บล็อกเชน' ไม่ใช่แค่เรื่องเหรียญดิจิทัล

 

          “แมททิว ควน” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและโซลูชั่นความปลอดภัย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ฟอร์ติเน็ต บอกว่า “บล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่ในปัจจุบัน มิได้เป็นเพียงแค่สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) อีกต่อไป บล็อกเชนได้รับการยอมรับสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทและภาคเศรษฐกิจมากมาย”

          รายงานของไอดีซีล่าสุดได้คาดการณ์ถึงการใช้โซลูชั่นบล็อกเชนระหว่างปี 2560-2565 ว่าจะมีอัตราการเติบโตทั่วโลกต่อปี (CAGR) สูงถึง 73.2% หมายถึงยอดการลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็น 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) บล็อกเชนจะมีอัตราการเติบโต CAGR ใกล้เคียงกับส่วนอื่นๆ ของโลกที่ 72.6% อย่างไรก็ตาม คาดว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมากที่สุดในโลก โดยคาดการณ์การเติบโต CAGR อยู่ที่ 108.7%

 

เทคโนโลยีที่ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำธุรกิจ

          “วิไลพร ทวีลาภพันทอง” หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย บอกว่า บล็อกเชนได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่า เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำธุรกิจ เพราะเป็นระบบที่แยกเก็บบัญชีธุรกรรมไว้ในที่ต่างๆ โดยกระจายฐานข้อมูลแยกศูนย์แต่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ (peer to peer) หรือระบบที่ทุกคนแชร์ข้อมูลกันไปมาโดยไม่มีศูนย์กลางได้ ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีความเที่ยงตรงสูง จึงสร้างความโปร่งใส และความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจมากขึ้น

          ผลสำรวจ Global Blockchain Survey 2018 ที่จัดทำโดย PwC ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารจำนวน 600 คนจาก 15 ประเทศ เกี่ยวกับการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ พบว่า 84% ของผู้บริหารทั่วโลกได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกอย่าง การ์ทเนอร์ (Gartner) ก็คาดการณ์ว่า บล็อกเชนจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เป็นผู้นำตลาดในการใช้บล็อกเชน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

 

'บล็อกเชน' ไม่ใช่แค่เรื่องเหรียญดิจิทัล

 

บล็อกเชนอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น

         ทั้งนี้ PwC ระบุอีกว่า ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นกำลังขยับเข้ามาสู่โลกของบล็อกเชนเช่นกัน ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการจัดการระบบซัพพลายเชน ธุรกิจสื่อและบันเทิง อย่างวงการเพลง ที่นำบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาการดาวน์โหลดเพลง การคัดลอกเพลง รวมทั้งผู้บริโภคยังสามารถเลือกฟังเพลงที่ต้องการ และจ่ายเงินให้แก่ศิลปินโดยตรงผ่านระบบบล็อกเชนในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มตัวกลางหรือค่ายเพลงได้อีกด้วย

          สำหรับประเทศไทย ภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับต่างตื่นตัวในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบบล็อกเชนมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา ธนาคาร 14 แห่ง จับมือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรขนาดใหญ่ 7 แห่ง จัดตั้งชุมชน Thailand Blockchain Community Initiative เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน อีกทั้งได้ริเริ่มโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นโครงการแรก ควบคู่กับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ริเริ่มสร้างสกุลเงินดิจิทัลสัญชาติไทย “อินทนนท์” ขึ้นมาเป็นโครงการนำร่อง

 

บล็อกเชน ต่อยอดสู่โซลูชั่นด้านการแพทย์

          ขณะที่ มีบทความน่าสนใจในเว็บไซต์ของดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) ได้เอ่ยถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน ในบทบาทของโซลูชั่นใหม่สำหรับวงการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจนเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Smart Contract ด้วยคุณสมบัติของบล็อกเชนในเรื่องของการแชร์ข้อมูลที่โปร่งใสและปลอดภัย

 

'บล็อกเชน' ไม่ใช่แค่เรื่องเหรียญดิจิทัล

 

          “เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบต่างๆ สำหรับวงการแพทย์หรือการบริการด้านสุขภาพนั้น มักมีขั้นตอนที่ค่อนข้างเยอะ และมีการทำงานที่ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะการจัดการกับระบบข้อมูลของผู้ป่วยที่มักมีข้อจำกัดเรื่องการแลกเปลี่ยนและส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล ที่ต้องได้รับการยืนยันจากตัวบุคคลนั้นก่อน จึงจะสามารถเปิดเผยได้ ซึ่งขั้นตอนในการยืนยันตัวตนเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้า ซึ่งในบางครั้งก็เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ป่วยบางราย”

          บทความชิ้นนี้ ยังได้ยกตัวอย่างความสามารถในการช่วยให้การจัดการและการส่งต่อข้อมูลในวงการแพทย์เป็นไปไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย เช่น กรณีการย้ายโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะไม่จำเป็นต้องยืนรอต่อคิวเพื่อกรอกประวัติใหม่ รวมไปถึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากมีการส่งต่อข้อมูลจากโรงพยาบาลเก่า เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยครั้งใหม่ได้ นอกจากนี้ บล็อกเชน ยังสามารถช่วยผู้ป่วยตรวจสอบราคาที่เป็นธรรมได้อีกด้วย เช่น หากแพทย์มีการสั่งใบจ่ายยา ผู้ป่วยก็จะสามารถเช็กได้ว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้นเหมาะสมกับราคาที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหรือไม่

 

ปกป้องอนาคตของบล็อกเชนในเอเชียแปซิฟิก

          จากบทความเผยแพร่ของ ฟอร์ติเน็ต ได้ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กลายเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นสำหรับบล็อกเชน มีโครงการนำร่องที่ใช้บล็อกเชนหรือกำลังดำเนินการอยู่ในทั้งภาครัฐ ธุรกิจสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจรักษาความปลอดภัย รวมถึงกรณีการใช้งานเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย อีกทั้งเห็นแนวโน้มว่าการใช้บล็อกเชนในภูมิภาคนี้จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

'บล็อกเชน' ไม่ใช่แค่เรื่องเหรียญดิจิทัล

 

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมในเอเชียแปซิฟิกและในญี่ปุ่นมีการใช้บล็อกเชนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการด้านความปลอดภัยเข้ามาป้องกันโครงการบล็อกเชนใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะยิ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้บล็อกเชนกลายเป็นเป้าหมายในการถูกแทรกแซงทางไซเบอร์มากขึ้น

          ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและโซลูชั่นความปลอดภัย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง ฟอร์ติเน็ต ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นว่า องค์กรต้องระมัดระวังช่องโหว่บล็อกเชน และเทคโนโลยีการกระจายข้อมูลบัญชี (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่ใช้อยู่เป็นจำนวนมากในด้านต่างๆ ได้แก่ การเข้ายึดครองความเป็นเอกฉันท์ (Consensus Hijack) เนื่องจากในเครือข่ายที่เป็นแบบกระจาย ไม่มีตัวกลาง และไม่มีระบบการอนุญาตการเข้าถึงที่แข็งแกร่งในเครือข่ายนี้ ผู้ไม่หวังดีอาจแทรกแซงสามารถแก้ไขขั้นตอนการตรวจสอบได้

          สมาร์ทคอนแทร็ค (Smart Contract) โดยอาจเกิดปัญหาที่โปรแกรมการทำธุรกรรมแบบอัตโนมัติที่ทำงานบนบัญชีแบบกระจายตามประเภทธุรกิจได้ เช่น การออกนโยบายด้านประกันได้ด้วยตนเอง รวมถึงสัญญาซื้อขายทางการเงินล่วงหน้า สิ่งนี้อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการเขียนโค้ดซึ่งมักเกี่ยวข้องกับภาษาการเขียนโปรแกรมพิเศษที่ใช้ในการกำหนด Smart Contract ต่างๆ ที่ผ่านมาพบกรณีลักษณะนี้มาบ้างแล้ว

 

'บล็อกเชน' ไม่ใช่แค่เรื่องเหรียญดิจิทัล

 

          ช่องโหว่ในบล็อกเชนส่วนตัว (Private Blockchain Vulnerabilities) องค์กรบางแห่งได้ติดตั้งระบบบล็อกเชนส่วนตัวที่สร้างเอาไว้ใช้เองแบบปิด โดยใช้โครงสร้างเครือข่ายที่มีอยู่บนบริการคลาวด์ที่ใช้อยู่ และวิธีกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงของผู้ใช้ที่มีอยู่ แต่ผู้ไม่ประสงค์ดีกลับรู้สึกอยากคุกคามเข้ามามากขึ้น และเมื่อเข้ามาได้แล้ว เขาจะมองหาสิ่งที่มีค่า ดังนั้น องค์กรจึงควรพิจารณาสร้างเกราะความปลอดภัยเพื่อปกป้องสิ่งที่มีค่าต่างๆ

 

โครงการเด่นบล็อกเชนในเอเชีย

          ฟอร์ติเน็ต ได้เผยตัวอย่างโครงการบล็อกเชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำคัญ 6 โครงการ ได้แก่ 1.Energy-Blockchain Labs มีการใช้บล็อกเชนในการติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการชดเชยการปล่อยก๊าซและตลาดซื้อขายคาร์บอนในประเทศจีน 2.Blockchain Food Safety Alliance ในประเทศจีน เป็นความร่วมมือระหว่าง IBM และ Wal-Mart เพื่อติดตามการกระจายและซัพพลายเชนของสินค้าบริโภค

          3.เมือง Freemantle ประเทศออสเตรเลีย นำบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และน้ำร้อนแบบอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองความต้องการและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 4.กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังปรับใช้บล็อกเชนเพื่อสนับสนุน “โครงการไม่ทำลายป่า ไม่ใช้ถ่านหินพีท ไม่มีเอาเปรียบคนและสิ่งแวดล้อม” (NDPE) และรองรับห่วงโซ่อุปทานสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชที่สำคัญนี้

          5.เมืองไทเป ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน รวมกับ IoT เพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในหลายรูปแบบ รวมถึงการทำบัตรประจำตัวประชาชนอัจฉริยะ และการ์ดแสดงผลมลพิษ/แสดงสภาพอากาศในรูปแบบบัตรขนาดเล็ก และ 6.กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น กำลังนำระบบบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการจัดซื้อของรัฐบาลและธุรกรรมอื่นๆ ให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ

          “แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีประโยชน์มากมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็จะพบกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ควรรวมกระบวนการความปลอดภัยตั้งแต่ในขั้นตอนการวางแผนและออกแบบบล็อกเชน ซึ่งฟอร์ติเน็ต ได้เข้ามามีบทบาทสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ในกระบวนการปฏิรูปดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งบล็อกเชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ