Lifestyle

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมแชร์ข่าวปลอมถึง 11% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 18-29 ปีที่มีสัดส่วนเพียง 3% 

          “ข่าวปลอม" หรือ เฟคนิวส์ (Fake News) ขึ้นแท่นเป็นประเด็นเขย่าสังคมคนคอข่าวในบ้านเรากันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงใกล้เลือกตั้ง และยังชิงพื้นที่สื่อได้เป็นระยะๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นช่วงเวลาใกล้สุกงอมของการประชัน “พลังดูด” รวมจำนวนหัว ส.ส. เพื่อฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลชุดที่มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

          ต้องยอมรับว่าในยุคที่ข่าวสารแต่ละเรื่อง สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ภายในเสี้ยววินาทีที่ปลายนิ้วของเราแค่สัมผัสเบาๆ ที่ปุ่ม share (ส่งต่อ) หรือ comment (แสดงความคิดเห็น) ทำให้ยุคนี้ข่าวปลอม กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบได้ทั้งในระดับบุคคล ไปจนถึงระดับรัฐบาลในประเทศต่างๆ ต้องทุ่มเทพลังกายและพลังสมอง เพื่อหาทางยับยั้งแก้ไขความเสียหายให้ได้ทันการณ์ที่สุด ก่อนการแพร่กระจายในวงกว้างจนสร้างความเสียหายในภาพใหญ่

 

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

          ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศชัดเจนว่าเตรียมออกกฎหมายสำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของข่าวปลอม โดยเน้นไปที่เว็บไซต์สื่อออนไลน์ต่างๆ โดยมาตรการลงดาบขั้นสูงสุดคือ ข้อกฎหมายนี้สามารถสั่งให้เว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลต่างๆ ลบบทความนั้นๆ ออกได้หากเป็นกรณีร้ายแรง

 

ปี 61 ข่าวปลอมถูกแชร์กว่า 22 ล้านครั้ง

          ปัจจุบันมีประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน เข้าถึงบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างน้อย 1 เครือข่าย อีกทั้งมีข้อมูลเชิงสถิติระหว่างปี 2557-2561 พบการใช้เวลากับสื่อโซเชียลของสาวกสังคมออนไลน์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จาก 30 นาทีต่อวัน เป็น 47 นาทีต่อวัน

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ BuzzFeed News ซึ่งรวบรวมข่าวปลอมชิ้นสำคัญๆ 50 เรื่องซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา ระบุไว้ในรายงานที่ชวนให้ตกใจเมื่อปลายปีว่า ข่าวเหล่านี้มีคนหลงเชื่อ จนมียอดแชร์ ยอดไลค์ หรือแสดงความคิดเห็นรวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 22 ล้านครั้ง และแม้ยอดการเข้าไปมีส่วนร่วม (Engagement) กับข่าวปลอมจะมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนๆ เล็กน้อย ทั้งจากความพยายามของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลรายใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก ที่จัดตั้งส่วนงานขึ้นมาเฝ้าระวังสอดส่องโดยเฉพาะ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักปั้นข่าวปลอมทั้งหลาย ก็มีกลยุทธ์หลบเลี่ยง ด้วยการปล่อยข่าวปลอม ไปตามเว็บไซต์มากกว่า 1 แหล่ง และมีการเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์เพื่อ “ลวง” ระบบเฝ้าระวังของผู้ให้บริการ เมื่อถูกจับได้และถูกขึ้นบัญชีดำ

 

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

 

          ปัจจุบันทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล (ซึ่งเป็นเจ้าของยูทูบและทวิตเตอร์ ต่างให้ความสำคัญอย่างมากกับการมีมาตรการสกัดข่าวปลอม เพราะตระหนักถึงความ “ใหญ่” ของแพลตฟอร์มตัวเองที่มีสมาชิกทั่วโลกใช้งานอยู่เป็นหลักร้อยหลักพันล้านคน จนกลายเป็น “ช่องทาง” กระจายข่าวปลอมที่ทั่วถึงและทรงพลังที่สุด บางข่าวสร้างความเสียหายอย่างไม่คาดคิดทั้งในเชิงการเมือง และสังคมระดับประเทศ

          อย่างไรก็ตาม กูรูในวงการสื่อก็ให้ความคิดเห็นอย่างเป็นกลางว่า “เราทุกคน” ที่เป็นผู้ใช้สื่อโซเชียล ก็ต้องทำงานในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการเรียนรู้ที่จะแยกแยะข่าวปลอมออกจากข่าวจริง มีความรับผิดชอบต่อตัวเองด้วยการตระหนักอยู่เสมอถึงวลีที่ว่า “ชัวร์ก่อนแชร์”

 

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

 

 

AI บก.ข่าวยุคโซเชียลครองโลก

          พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ “สื่อดั้งเดิม” อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ว่า มีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อ่านบนพื้นฐานของ “ชื่อเสียง” ที่สั่งสมจากการทำงานอย่างรอบคอบในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทุกชิ้นก่อนตีพิมพ์ ดังนั้น สื่อโซเชียล อาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอ เข้ามาช่วยอ่านทบทวนความเที่ยงตรงของเนื้อหาก่อนนำโพสต์ขึ้นโซเชียล

          ผลสำรวจของ ConsumerLab report ระบุว่า เสียงของผู้บริโภคทุก 2 ใน 3 ราย เห็นพ้องผู้ให้บริการโซเขียลมีเดีย ควรว่าจ้างพนักงานคอยตรวจสอบคอนเทนท์แบบแมนน่วล (ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโปรแกรมซอฟต์แวร์ขณะที่ราว 40% คาดหวังว่าจะมีบรรณาธิการที่เป็น AI เข้ามาทำหน้าที่นี้ในอนาคต รายงานบับนี้ยังพบว่า มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของผู้อ่านข่าวบนสื่อโซเชียลที่เชื่อถือข่าวที่ตัวเองอ่าน

 

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

 

          ขณะที่ เมื่อกลางปี 2561 ก็มีรายงานของ Ericsson Mobility Report ระบุว่า การใช้สื่อโซเชียล สร้างปริมาณทราฟฟิกข้อมูลจากมือถือ คิดเป็นสัดส่วนมากกกว่า 10% และคาดว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึง 31% ในอีก 6 ปีข้างหน้า

          จากจุดประสงค์ของการจัดทำรายงานฉบับนี้ ที่มุ่งสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคต่อสื่อโซเชียล และการใช้งานสื่อโซเชียล ทำให้พบข้อมูลน่าสนใจว่า ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มวิตกถึงประเด็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือบนโซเชียลมีเดีย ผลลัพธ์นี้เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เสพข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหลัก ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา กลุ่มตัวอย่าง 67% บอกว่ารับข่าวผ่านโซเชียล และ 45% บอกว่ารับข่าวผ่านเฟซบุ๊กเท่านั้น

          ส่วนในสหภาพยุโรป ผู้บริโภค 13% เกาะติดข่าวการเมืองในภูมิภาคยุโรปผ่านโซเชียลมีเดีย และตัวเลขเพิ่มเป็น 16% สำหรับการติดตามข่าวในประเทศ ขณะที่ ผู้บริโภคสื่อในสวีเดน และเดนมาร์กถึง 30% ยอมรับว่า โซเชียลมีเดีย คือช่องทางหลักในการรับข้อมูลข่าวสาร

          ทั้งนี้ กว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐ และอังกฤษ ให้ข้อมูลว่า เคยอ่านข่าวบนโซเชียล และจากนั้นจึงทราบว่าเป็นข่าวปลอม ขณะที่เกือบ 1 ใน 4 ยอมรับว่าเคยแชร์บทความข่าวที่ต่อมาทราบว่าเป็นข่าวปลอม

          แนวโน้มเหล่านี้ ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคในหลายประเทศว่า บริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ควรรับผิดชอบเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีข่าวปลอมแสดงบนแพลตฟอร์มของแต่ละราย อีกทั้งบางส่วนถึงขั้นแสดงความคิดเห็นว่า ผู้ให้บริการควรต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายสำหรับข่าวปลอมอีกด้วย

 

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

 

สถานการณ์ข่าว(ปลอม)ในเอเชีย

          คำนิยามจาก PolitiFact ระบุไว้ว่า “ข่าวปลอม (fake news) คือ ข่าวที่สร้างขึ้นมาเพื่อชี้นำหรือครอบงำโดยทำให้ดูเหมือนเป็นข่าวจากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถแพร่กระจายผ่านออนไลน์เข้าถึงกลุ่มผู้เสพข่าวในวงกว้างได้อย่างง่ายดาย จากนิยามนี้ สะท้อนชัดเจนว่า โซเชียลมีเดีย และแอพสนทนาต่างๆ กลายเป็น “เครื่องมือ” ชิ้นใหม่ที่เอื้อต่อการแพร่กระจายข่าวปลอมให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม

          ภูมิภาคอาเซียน กำลังถูกจับตามองว่าเป็นพื้นที่แห่งความเสี่ยงต่อการเผชิญข่าวปลอม เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้นิยมเสพข่าวผ่านสื่อโซเชียลในสัดส่วนที่สูงมาก จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ที่จะต้องเร่งมาตรการรับมือความเสี่ยงของปัญหานี้ ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

          เมื่อเร็วๆ นี้ได้อ่านบทความน่าสนใจของเว็บไซต์ www.brandinside.asia เกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งระบุถึงถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เกี่ยวกับความจำเป็นในการออกกฎหมายสำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของข่าวปลอม โดยเน้นไปที่เว็บไซต์สื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ปัจจุบันชาวสิงคโปร์มีโอกาสที่จะได้รับข่าวปลอมเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากสังคมของสิงคโปร์มีหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา การที่มีข่าวปลอมอาจทำให้สังคมของสิงคโปร์เกิดปัญหาขึ้นมาได้ รวมทั้ง อ้างอิงจากผลสำรวจในประเทศสิงคโปร์ว่าประชาชน 8 ใน 10 คน ต่างมั่นใจว่าตัวเองสามารถที่จะทราบได้ว่าข่าวนี้จริงหรือเท็จ แต่เมื่อทำแบบทดสอบเรื่องข่าวปลอม พบว่า 9 ใน 10 คน ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข่าวไหนคือข่าวปลอม

 

นักวิจัยพบ “สูงวัย” มือแชร์ข่าวปลอม

          นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย NYU and Princeton เคยเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านวารสารScience Advances ระบุว่า จากการทำงานกับกลุ่มตัวอย่าง 3,500 คน ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มดังกล่าว อนุญาตให้ผู้วิจัยเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น และเห็นข้อมูลสาธารณะและโพสต์ต่างๆ บนโซเชียลได้ พบว่ามีอยู่ราว 8.5% ที่มีการแชร์ข่าวปลอม แต่เมื่อประเมินจากตัวชี้วัดของอายุพบว่า ยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัย จะยิ่งมีการแชร์ข่าวปลอมมากกว่า

 

ข่าวปลอม สื่อโซเชียล มือดี คือ 'วัยหงอก'?

 

          โดยกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมแชร์ข่าวปลอมถึง 11% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 18-29 ปีที่มีสัดส่วนเพียง 3% ที่มีพฤติกรรมแขร์ข่าวปลอม และเมื่อเจาะลึกกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊ก พบว่ากลุ่มวัย 65 ปี จะมีความถี่ในการแชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มอายุ 45-65 ปีถึง 2 เท่าตัว และมากกว่ากลุ่มคนในวัย 18-29 ปีถึงเกือบ 7 เท่าตัว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ