Lifestyle

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า "งาน 5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน" เป็นความมุ่งมั่นตอกย้ำพลังความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ เอกชนทั้งไทยและเทศ

         ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา วงการโทรคมนาคมของไทยคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง (แม้จะยังไม่มีโครงการใหม่ๆ มาเปิดให้ชิงดำกัน) โดยมีเทคโนโลยี 5G เป็นจุดศูนย์กลางของการสร้างสีสันครั้งนี้ ประเดิมด้วยการเปิดบ้านดีแทค แถลงการผนึกกำลังอย่างใกล้ชิดร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ในการเดินหน้าทดสอบการใช้งาน 5G ภายใต้แนวคิดใหม่ที่เปิดกว้างสำหรับการแบ่งปันและใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) จนมาถึงการเปิดเวทีโชว์ความร่วมมือในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการจัดงาน 5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และมติชน กรุ๊ป

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

 

         คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า “งาน 5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” เป็นความมุ่งมั่นตอกย้ำพลังความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ เอกชนทั้งไทยและเทศ และสถาบันการศึกษา ที่คาดหวังเต็มเปี่ยมถึงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสถานะด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย ให้ไต่ขึ้นสู่อันดับ 1 ของอาเซียน

 

5G กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

         รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุถึงบทบาท 5G กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไว้ว่า จะสร้างผลกระทบชัดเจนใน 4 ภาคธุรกิจ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์ ภาคการผลิต และภาคสาธารณสุข พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า การลงทุนใน 5G จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศไทย 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2578

         ทั้งนี้ มีข้อมูลตัวเลขจากสำนักงาน กสทชที่ย้ำชัดถึงบทบาท 5G ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยว่า การลงทุนใน 5G จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศไทย 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2578 โดยมีรายละเอียดเจาะลึกเชิงตัวเลข ดังนี้ ภาคเกษตรกรรม 96,000 ล้านบาท จากอานิสงส์ของการผลักดันเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) นำความสามารถของ 5G ไปใช้ในการวิเคราะห์ดิน น้ำ และทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการจัดการลผลิตและการขายภาคขนส่ง (Smart Logistic) 124,000 ล้านบาท เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง และเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะ และระบบควบคุมการจราจร

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

 

          ภาคการผลิต (Smart Manufacturing) 634,000 ล้านบาท โดย 5G จะเข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต ในการนำเครื่องจักรและเซ็นเซอร์ มาใช้แทนแรงงาน และภาคสาธารณสุข (Smart Hospital) ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้จะมีบทบาทเชิงบวกอย่างมากกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ของประเทศไทย การเดินทางมาพบแพทย์จะลดลง 13 ล้านครั้งต่อปี จากความสามารถของการรักษาทางไกลที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยศักยภาพด้านความเร็วและปริมาณมหาศาลในการสื่อสารข้อมูลของ 5G อีกทั้งมีประมาณการว่าจะช่วยยลดค่าใช้จ่ายของรัฐในเรื่องค่ารักษาพยาบาลลงไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาทต่อปี

 

ดีอี ประกาศความพร้อมไทยใช้งาน 5G

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.ด้านดิจิทัล และ พ.ร.บ.ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปข้างหน้า และมุ่งสู่การเป็นผู้นำของอาเซียน โดย 5G คือเป้าหมายหลัก เป็นเรื่องสำคัญของไทยต้องผลักดันให้เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่า 5G จะเป็นอาวุธช่วยประเทศเล็กๆ ล้าหลังให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

          ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ 5G แล้ว ซึ่งมีความท้าทายเพราะเป็นการก้าวกระโดดจาก 3G และ 4G สำหรับ 5G มีคุณสมบัติสำคัญคือ 1.ความหน่วงต่ำที่ลดลง 2.การเคลื่อนย้ายข้อมูลของ 5G จะสูงกว่า 4G ถึง 100 เท่า 3.การเชื่อมต่อของ 5G จะสูงกว่า 4G ถึง 100 เท่า และ 4.โมบิลิตี้ หรือการสัญจรของ 5G ที่มีประสิทธิภาพ อย่างกรณีรถพยาบาลจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.5 เท่า ไม่สะดุดในช่วง 500 กิโลเมตรแรก ระบบนี้จะรองรับทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะในอนาคต

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

 

          ขณะที่ ล่าสุดสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียูได้ประกาศผ่านเว็บไซต์แล้ว ว่าจะพยายามนำผู้เชี่ยวชาญของทั้งโลกมาร่วมหารือกันวางมาตรฐานคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G โดยกำหนดเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ดังนั้นทั้งโลกจะสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

          อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศเริ่มนำร่องบริการไปบ้างแล้ว เพราะอยากเป็นประเทศแรกๆ แม้ว่ามาตรฐานระดับโลกยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนประเทศไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อม และการทดสอบการใช้งานอย่างเข้มข้น ทั้งในศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยทั้งสองแห่งได้รับตอบรับจากผู้ทดสอบในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาธารณสุข และโรงงานอุตสาหกรรม

          ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังวางแผนรับการเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ปีหน้า โดยสำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการประมูลคลื่น 5G ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่ผ่านมา เพราะมองเห็นชัดเจนว่า การใช้ 5G จะเปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลให้มากขึ้น ด้วยความหน่วงต่ำระดับเสี้ยววินาที ความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้น 10-100 เท่าจาก 4G มีอัตราการส่งข้อมูลได้มหาศาล ดังนั้นจะก่อให้เกิดธุรกิจมหาศาล

          “ดังนั้นในเรื่องการจัดระเบียบการใช้ข้อมูล เนื่องจาก 5G จะมีการใช้ข้อมูลมหาศาล ซึ่งทั่วโลกก็มีประเด็นเดียวกันว่าจะจัดระเบียบเรื่องนี้อย่างไร เพราะส่วนหนึ่งเนื่องจากประชากรเริ่มที่จะใช้ออนไลน์มากขึ้น ในประเทศไทยเองก็มีบัญชีออนไลน์ของเจ้าใหญ่ๆ หลายสิบล้านบัญชี ดังนั้นเรื่องของการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบางประการสำหรับผู้ที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน 5G นี่คือเรื่องของความเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการด้วยกันเอง และในส่วนของผู้บริโภค โดยแนวคิดคือ จัดเก็บจากผู้ประกอบการที่เกิดธุรกรรมในประเทศไทย ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค” ดร.พิเชฐกล่าว

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

 

          ขณะที่มีข้อมูลจากสำนักงาน กสทชระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้บริการผ่านออนไลน์ (OTT) จากแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ OTT (Over-the-top) ต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ โดยจากสถิติปี 2561 มีจำนวนผู้ใช้งาน 61 ล้านบัญชี มียอดใช้ 655 ล้านครั้งต่อเดือน, 60 ล้านบัญชี ยอดใช้ 409 ล้านครั้งต่อเดือน และ 55 ล้านบัญชี ยอดใช้ 126 ล้านครั้งต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทย ต้องขยายโครงข่ายเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในยุค 5G มีการคาดการณ์ว่าปริมาณใช้งานข้อมูลจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40 เท่า ซึ่งเป็นความท้าทายของ กสทช. โดยคลื่นความถี่ที่ กสทช. มีแผนจะจัดสรร ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์

          พร้อมกันนี้ เตรียมแนวทางการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยจะให้มีการประมูล 3 แบบ คือ ใบอนุญาตเฉพาะพื้นที่ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม หรือท่าเรือ, ใบอนุญาตสำหรับพื้นที่โทรคมนาคม ซึ่งจะครอบคลุมทั่วประเทศ และใบอนุญาตแบบการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) เช่น ประมูลคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ คู่กับ 2600 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่น 28 กิกะเฮิรตซ์ คู่กับ 2800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์แบนด์วิธได้สูงสุด

 

เอกชนพาเหรดโชว์ยูสเคส 5G

          ในงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายระดมเทคโนโลยีการใช้งาน 5G เด่นๆ มาโชว์ ไม่ว่าจะเป็น ดีแทค เอไอเอส ทรู ทีโอที กสท โทรคมนาคม 3BB รวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีอย่างหัวเว่ย อีกทั้งมีการเปิดเวทีโชว์วิสัยทัศน์จากผู้บริหารระดับสูงของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) และเปิดวงเสวนาของผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคเกษตรอัจฉริยะ ภาคพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มการจัดการส่งสินค้าและข้อมูล ตลอดจนด้านการแพทย์

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

          ตัวอย่างของโชว์เคสเด่นๆ ที่มาอวดสายตาผู้สนใจเข้าชมงานนี้ ได้แก่ เครือข่ายตรวจวัดสภาพหมอก/ฝุ่นควัน เครื่องมือวัดสภาพอุตุนิยมวิทยาและระดับน้ำเพื่อการบริหารจัดการ ระบบควบคุมการบริหารจัดการแปลงเกษตรอัตโนมัติ รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ช่วยประเมิน ดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหุ่นยนต์ Smart ECG อุปกรณ์วัดและวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจสำหรับใช้ที่บ้าน หุ่นยนต์เจาะกระดูกควบคุมจากระยะไกล

          “หยาง เชาปิน” ประธานบริหาร ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครือข่าย 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัดระบุว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้เข้ามาเริ่มให้การสนับสนุนการทดสอบ 5G ของประเทศไทย และยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนนโยบาย 5G ของไทย รวมถึงช่วยบ่มเพาะสร้างคนด้านไอซีทีด้วย และเพื่อเป็นการวางรากฐานระบบนิเวศของ 5G ให้แข็งแกร่ง หัวเว่ยจะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการออกแบบ พัฒนาและเกิดการทดสอบ การทดลอง และตรวจสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5G เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่การเป็น "ดิจิทัล ไทยแลนด์”

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

 

          “ในช่วง 10 ปีผ่านมา เทคโนโลยี 4G ได้เปลี่ยนชีวิตของคนเรา ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากธุรกิจที่มีอยู่และสร้างธุรกิจใหม่ๆ แต่ตอนนี้ เราเห็นว่า 5G ไปได้ไกลกว่า เร็วกว่า และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับทุกคน ทุกบ้าน ทุกกลุ่มธุรกิจและองค์กร”

          โดยในส่วนของบุคคลทั่วไป คาดการณ์ว่าร้อยละ 90 ของผู้ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะจะใช้ผู้ช่วยอัจฉริยะส่วนตัวในบ้าน มีประมาณการณ์ว่าร้อยละ 12 ของครัวเรือนจะมีหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะประจำบ้าน และสำหรับธุรกิจและองค์กร ซึ่ง 5G จะเปิดโอกาสทางธุรกิจมากมาย คาดการณ์ว่าองค์กรร้อยละ 86 จะมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

          ขณะที่ อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า 5G จะเกิดขึ้นในไทยได้ต้องมีกฎการกำกับดูแลที่เอื้อให้เกิดได้อย่างรวดเร็ว มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาวอย่างชัดเจน ว่าแต่ละย่านคลื่นจะเกิดขึ้นเมื่อใด มีการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยแนวทางหนึ่งก์คือ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน การร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและบุคลากร ปัจจุบันดีแทค ได้ทดสอบการใช้งาน 5G โดยนำไปใช้กับเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)

 

ไทยเร่งจุดพลุ 5G สู่เส้นชัยที่ 1 อาเซียน

 

          ทางฟากเอไอเอส ใช้งานนี้เป็นเวทีโชว์ไฮไลท์เด่น คือ การเปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับคันแรกของไทยที่เชื่อมต่อบนเครือข่าย Live Network 5G (1st 5G Connected Car) ที่เกิดจากการศึกษาและทดลองอย่างจริงจังร่วมกันกับ SMART MOBILITY RESEARCH CENTER จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถยนต์สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้คนขับ ผ่านการใช้งานเครือข่าย 5G ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ทำให้ระบบมีความเสถียรมาก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ