Lifestyle

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กิจการของวิสาหกิจชุมขนชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบการผลิต ส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกัน

          ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองเชียงรายมากกว่า 100 กิโลเมตร ลึกเข้าไปในหุบเขาอุทยานแห่งชาติขุนแจ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า มีหมู่บ้านเล็กๆ ขนาด 321 ครัวเรือน ชื่อว่า “บ้านขุนลาว” ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดปักหมุดในการลงพื้นที่ของเจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก่อนการเข้าร่วมประชุม ครม. สัญจรครั้งล่าสุด ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

          หนึ่งในเหตุผลที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว. กระทรวงดิจิทัลฯ เลือกหมู่บ้านขุนลาว ไว้ในแผนการเดินทางตรวจราชการครั้งนี้ ก็คือ เป็นพื้นที่ซึ่งมีการติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงดิจิทัลให้กับคนในพื้นที่ห่างไกล ที่สำคัญยังมองถึงโอกาสที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ กับกิจการของวิสาหกิจชุมขนชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบการผลิต ส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

          การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโครงการนี้ สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนของรัฐบาลในการสร้างความตระหนักให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงดิจิทัลฯ คือ การสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยี เพื่อประชาชนทุกกลุ่มจะสามารถได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกร ผู้ที่อยู่ในชุมชนห่างไกล ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ โดยเพิ่มความเข้าใจและมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

          "อภิรุณ คำปิ่นคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักของนักเดินทางที่ตามรอยกาแฟออร์แกนิก ซึ่งได้รับรางวัลการันตีว่าเป็นกาแฟ อินทรีย์ชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี 2556/2557 เข้าไปถึงร้านกาแฟ Mivana Organic Forest Coffee กลางหุบเขา ว่าเป็นบาริสต้า อันดับ 1 ของชมรมกาแฟบ้านขุนลาว บอกว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า มีพื้นที่ปลูกกาแฟอินทรีย์ทั้งหมด 9,141 ไร่ มีสมาชิกในส่วนของหมู่ที่ 7 เข้าร่วมแล้ว 43 ครัวเรือน จาก 176 ครัวเรือน ที่ผ่านมามีผลผลิตกาแฟรวมกันสูงถึง 40 ตันกะลา และร่วมกันดูแลผืนป่าในสวนกาแฟราว 1,200 ไร่ ซึ่งถือเป็นป่าต้นแม่น้ำ 3 สาย

 

+++เติมเทคโนโลยีใส่แก้วกาแฟ(ป่า)

          วิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ได้รับความสนับสนุนแอพพลิเคชั่นการตรวจรับรองมาตรฐานภายใน Internal Control System (ICS) บนแพลตฟอร์มคลาวด์ “ไมโครซอฟท์ อาซัวร์” จากบริษัทไมโครซอฟท์ และบีทามส์ โซลูชั่น ช่วยพนักงานประหยัดระยะเวลา และขั้นตอนในการตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ของกระบวนการและผลผลิตกาแฟลงอย่างมาก เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบการตรวจสอบ

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

          โอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงการเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าของบ้านขุนลาวว่า เมื่อปลายปี 2559-2560 ไมโครซอฟท์มีไอเดียโครงการ “คลาวด์สาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Cloud for Public Good)” จึงคุยกับบริษัท บีทามส์ โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการทำงานซีเอสอาร์อยู่แล้ว และทราบว่าได้คุยกับมูลนิธิสายใยแผ่นดินเรื่องออร์แกนิกอยู่ เพราะจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้น 15% เมื่อเทียบกับราคารับซื้อกาแฟทั่วไป

          อีกทั้งโครงการนี้ยังมีการผันเงินบางส่วน ให้กับกลุ่มสมาชิกเพื่อพัฒนาชุมชน และสร้างประโยชน์อื่นๆ ตามมา ได้แก่ ด้านสุขภาพ ป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศน์ เห็นได้ชัดที่บ้านขุนลาว ก็คือ ปลาบู่ทราย ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นและหายากกลับคืนมา หลังชาวบ้านที่นี่ร่วมกันปลูกกาแฟวิถีธรรมชาติ

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

          โดยไมโครซอฟท์ เข้ามาสนับสนุนระบบคลาวด์ อาซัวร์ และแท็บเล็ต Surface Pro สำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของแปลงกาแฟสมาชิกวิสาหกิจ ให้ได้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนดในการรับซื้อกาแฟออร์แกนิก กระบวนการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดทำเป็นแอพพลิเคชั่น ข้อมูลทั้งหมดวิ่งขึ้นไปบนคลาวด์

          “แอพฯ ใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เน็ตประชารัฐเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ เพราะถ้ามีอินเทอร์เน็ตทั่วถึง ก็จะทำให้ที่ทำงานแบบออฟไลน์ สามารถส่งต่อไปที่ระบบส่วนกลางได้รวดเร็วขึ้น ผู้บริหารองค์กรมี dashboard ดูข้อมูลอายุและจำนวนต้นกาแฟในแต่ละแปลงของสมาชิก ก็จะสามารถประเมินผลผลิตได้

          นายสุชาติ อิ่มบัญชร ซีอีโอ บริษัท บีทามส์ โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำซีเอสอาร์ของบริษัทตามแนวคิดที่ต้องการ “สร้างโอกาสให้กับคนชายขอบ” โดยเข้ามาสนับสนุนการพัฒนา ออกแบบ และติดตั้งแอพพลิเคชั่น Internal Control System (CIS) หรือการตรวจรับรองมาตรฐานภายในแบบครบวงจร รวมถึงการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบ

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

          แอพพลิเคชั่น ICS ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ทั้งแบบออฟไลน์ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในมือถือสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และเมื่อออนไลน์ข้อมูลจะถูกส่งไปเก็บบนคลาวด์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในครั้งนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดการใช้กระดาษ ในกระบวนการผลิตกาแฟตามมาตรฐาน IFOAM ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements - IFOAM) ซึ่งจะทำการตรวจสอบย้อนกลับครอบคลุมตั้งแต่แปลงกาแฟอินทรีย์ จนไปสิ้นสุดที่กระบวนการบรรจุภัณฑ์ จากความสำเร็จลดจำนวนเอกสารจาก 43 เอกสารเหลือ 22 เอกสาร และลดเวลาจาก 5 วันเหลือ 74 นาที

          “โครงการนี้คือหนี่งในไฮไลท์ของการตอกย้ำบทบาทสำคัญของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่สามารถสัมผัสได้จริงในพื้นที่ด้วยคนในพื้นที่จริงๆ และเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างประชาชนกับดิจิทัล ในวิถีไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งอัตลักษณ์ และการเกษตร”

 

+++กาแฟเปลี่ยนโลก (ให้ดีกว่าเดิม)

          เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านขุนลาว มีอาชีพหลักคือทำเกษตรไร่ชาอัสสัม สำหรับทำเมี่ยงอาหารกินเล่น พื้นถิ่นของภาคเหนือ แต่หลังจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพกาแฟออร์แกนิก ซึ่งเป็นผลผลิตการเกษตรที่มีส่วนสำคัญในการร่วมรักษาพื้นที่ป่า อีกทั้งมีราคาสูง และการปลูกไม่ยุ่งยาก ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาปลูกกาแฟเป็นหลัก

ไร่กาแฟออร์แกนิกส์+ไอที@บ้านขุนลาว

          เพราะหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของกาแฟออร์แกนิก นอกเหนือจากการปลอดสารเคมีในทุกระบวนการแล้ว ก็คือ ต้องเป็นกาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้ และเสริมความหลากหลายด้วยการปลูกพืชชนิดอื่นๆ แซมไว้ในไร่กาแฟ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกวิสาหกิจชุมขนชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาว ต้องปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ 50 ต้น / พื้นที่ปลูกกาแฟ 1 ไร่ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย

          โครงการนี้ ได้ดำเนินการผลิตกาแฟอาราบิก้าด้วยระบบวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาผืนป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนของชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และในภาพรวมทั้งโครงการครอบคลุมทุกหมู่บ้านมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วใม่น้อยกว่า 350 ครอบครัว ใน 9 หมู่บ้าน ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากว่า 8,000 ไร่ ใน 3 ป่าต้นน้ำของอุทยานขุนแจและลำน้ำกก โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ให้ได้ 20,000 ไร่ ภายในปี 2568

**********//**********

จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อก หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับ 10-11 พ.ย.61

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ