10 แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมของคนไทย
เชื่อหรือไม่ว่า คนไทยช้อปปิงออนไลน์เยอะมาก จนถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตลำดับที่ 5 ที่ทำมากที่สุดบนโลกออนไลน์!!
หลายปีต่อเนื่องที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA มีการจัดทำผลสำรวจมูลค่าอี-คอมเมิร์ซประจำปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์อย่างเป็นทางการสำหรับอุตสาหกรรมการซื้อขายผ่านออนไลน์ของประเทศไทย โดยล่าสุดได้เปิดเผยมูลค่าตลาดของรอบปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบ B2B, B2C และ B2G รวมกันแล้วแตะหลัก 2.8 พันล้านบาท และที่ใกล้ตัวเราทุกคนก็คือการซื้อขายออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วไป ที่ครองสัดส่วนถึงกว่า 28% หรือกว่า 8 แสนล้านบาท เติบโตสูงสุดแซงหน้าอี-คอมเมิร์ซอีกสองรูปแบบด้วยอัตรา 15.54% จากปีก่อนหน้า
เว็บไซต์ https://aseanup.com ได้ให้เหตุผลของความเฟื่องฟูของตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน ว่ามีปัจจัยหนุนจากจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีการเชื่อมต่อผ่านออนไลน์ ทำให้ทั้งผู้เล่นที่เป็นผู้ค้าออนไลน์เต็มตัว ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านหรือสาขาอยู่แล้ว รวมทั้งคู่แข่งจากต่างประเทศ เข้ามาโหมลงทุนเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดในกลุ่ม “ดิจิทัล คอนซูเมอร์” ยิ่งแข่งดุ โปรแรง ก็ยิ่งกระตุ้นยอดขายออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลที่เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ ระบุตัวเลข ณ เดือนมกราคม 2561 ว่า ประชากรไทยกว่า 69 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน ใช้โซเชียลมีเดีย 51 ล้านคน เชื่อมต่อโซเชียลผ่านมือถือ 46 ล้านคน
+++10 เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซครองตลาดออนไลน์ไทย
เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์ https://aseanup.com ได้ทำการจัดอันดับเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ 10 อันดับแรกในแต่ละประเทศของภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย โดยอ้างอิงจากตัวเลขที่มีการเข้ามาใช้งานในแต่ละเดือน (Monthly Traffic Estimate) ที่มีการเข้าใช้งาน ในส่วนของประเทศไทยอี-เมิร์ซ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
1. ลาซาด้า (Lazada Thailand) ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าของคือ อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซระดับโลกของประเทศจีน มีการเข้ามาใช้งานกว่า 63 ล้านครั้ง 2. ช้อปปี้ (Shopee Thailand) ซึ่งผนึกเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นกับค่ายทรู เป็นเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซที่ให้นิยามตัวเองว่าเป็น “ตลาดออนไลน์บนมือถือ” มีการเข้ามาใช้งาน 17 ล้านครั้ง 3. 11street Thailand เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลี เป็นบริษัทลูกของกลุ่มเอสเค เทเลคอม เข้ามาเปิดตลาดไทยได้ปีกว่าๆ และล่าสุดออกมายอมรับว่า คงต้องรีบหาพันธมิตรมาต่อยอดการลงทุน มีการเข้ามาใช้งาน 5.5 ล้านครั้ง
4. JIB เว็บไซต์สินค้าและอุปกรณ์ไอทีออนไลน์สัญชาติไทย เกิดจากการต่อยอดธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ มาสู่การขายผ่านเว็บไซต์ ประสบความสำเร็จกลายเป็นร้านค้าออนไลน์สินค้าเฉพาะกลุ่มสำหรับคอไอทีและพวกชื่นชอบแก็ดเจ็ทใหม่ๆ อินเทรนด์ทั้งหลาย มีการเข้ามาใช้งาน 3.15 ล้านครั้ง 5.ตลาดดอทคอม (Tarad) เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซของไทยรายแรก ก่อตั้งในยุคเฟื่องฟูของตลาดดอทคอมเมี่อปี 2542 และสามารถฝ่าวิกฤติฟองสบู่ดอทคอมแตก เปลี่ยนมือมาหลายครั้งแต่ยังสามารถครองอันดับต้นๆ ของการเป็นอี-มาร์เก็ตเพลสในตลาดออนไลน์ไทยได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันตั้งเป้าเป็น ““one-stop service solution” สำหรับเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีการเข้ามาใช้งาน 2.9 ล้านครั้ง
6. โฮมโปร (HomePro) เป็นเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซสัญชาติไทย ที่ต่อยอดจากฐานธุรกิจเครือข่ายห้างจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน มีการเข้ามาใช้งาน 2.85 ล้านครั้ง 7. ซีเอ็ด (Se-ed) เว็บไซต์สินค้าในกลุ่มหนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียน และอื่นๆ แตกธุรกิจมาจากเครือข่ายร้านหนังสือเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย มีการเข้ามาใช้งาน 2.5 ล้านครั้ง
8. แอดไวซ์ (Advice) แม้จะมีสาขาร้านจำหน่ายสมาร์ทโฟนและสินค้าไอที ครอบคลุมราว 350 ร้านทั้งในประเทศไทยและลาว แต่ก็จริงจังกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มีการเข้ามาใช้งาน 2.27 ล้านครั้ง
9. เซ็นทรัล (Central) เครือข่ายห้างสรรพสินค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่แตกยอดสู่เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซมาเสริมทัพค้าปลีกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เสมือนจำลองห้างเซ็นทรัลมาไว้บนหน้าจอ มีการเข้ามาใช้งาน2 ล้านครั้ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เจดี เซ็นทรัล (Jd.co.th) อันเป็นผลจากความร่วมเป็นพันธมิตรกับเจดีดอทคอม ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์จากจีน และเป็นคู่แข่งรายสำคัญของอาลีบาบา ผนึกกำลังอัดฉีดเงินลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท เพื่อชิงความเป็นเจ้าตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย
และ 10. มั่นคงแก็ดเจ็ท (Munkong Gadget) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแก็ดเจ็ทต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์หูฟัง ลำโพงพกพา เครื่องเล่นพกพา ไปจนถึงสินค้าระดับ Audiophile ให้กับนักฟังเพลงหลากหลายระดับ เติบโตจากร้านค้าเล็กๆ ในปี 2549 จนปัจจุบันมี 7 สาขาทั่วกรุงเทพ และตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดค้าปลีกสินค้ากลุ่มนี้ด้วยการมีเว็บไซต์ขายออนไลน์ มีการเข้ามาใช้งาน 1.5 ล้านครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในรายชื่อแหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ยอดฮิต 3 อันดับแรก สำหรับนักชอปปิ้งในบ้านเรา เมื่อเจาะลึกถึงเจ้าของทุนแล้ว ล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนออนไลน์จากต่างประเทศ ไล่กันมากตั้งแต่กลุ่มทุนจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่ายอดเข้าไปใช้งานสามารถสะท้อนยอดขายที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ www.thumbsup.in.th ระบุว่า เดือนกรกฏาคม 2018 พบว่า LAZADA มียอดขายอยู่ที่ 33.34 ล้านบาท ตามมาด้วย Shopee อยู่ที่ 19.03 ล้านบาท และ JD.co.th อยู่ที่ 1.01 ล้านบาท
+++นายกสมาคม Thai e-Commerce คาดโตได้ถึง 32%
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) ให้ภาพแนวโน้มการเติบโตและเทรนด์อี-คอมเมิร์ซ ระหว่างนำเสนอบนเวที “FUTURE ECONOMY & INTERNET GOVERNANCE: BIG CHANGE TO BIG CHANCE” ซึ่งจัดโดย ETDA ไว้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและโอกาสต่อวงการอี-คอมเมิร์ซเป็นอย่างมากก็คือ การพัฒนาของ ‘สมาร์ทโฟน’ เพราะเเมื่อคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น โอกาสทางการค้าบนออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบัน ประชากรกว่า 50% ของโลก หรือกว่า 3,600 คน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือ ‘สมาร์ทโฟน’ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่พกพาสะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูก จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการในการขายสินค้าบนโลกออนไลน์ เพราะสมาร์ทโฟนช่วยทั้งเรื่องการค้นหาข้อมูลสินค้า อีกทั้งยังช่วยให้การติดต่อซื้อขายสินค้าง่ายดายยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศจีน เป็นเจ้าตลาดอี-คอมเมิร์ซ มีส่วนแบ่งการตลาดโลกในส่วนของมูลค่าค้าปลีกถึง 20% และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีส่วนแบ่งต่อมูลค่าค้าปลีกเพียง 1–2% จึงน่าจะยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เช่นเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานใช้อินเทอร์เน็ตที่สำรวจโดย ETDA พบว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากถึง 10.5 ชั่วโมงต่อวัน และมีตัวเลขคาดการณ์ว่าอีก 2 ปีข้างหน้า คนไทยจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นเป็น 84% ของประชากรทั้งหมด หรือกว่า 59 ล้านคน
“คนไทยช้อปปิงออนไลน์เยอะมาก จนถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตลำดับที่ 5 ที่ทำมากที่สุดบนโลกออนไลน์ โดยช่องทางที่คนไทยนิยมซื้อขายสินค้ามากที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม เป็นต้น ซึ่งกินส่วนแบ่งถึง 40% ของช่องทางขายของออนไลน์ทั้งหมด”
////////
จากคอลัมน์ "บัซซี่บล็อก" หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 8 ก.ย.2561